“การปรับปรุงหลักเกณฑ์ margin loan”

“การปรับปรุงหลักเกณฑ์ margin loan”

การที่ บล. อาจปล่อยกู้ margin loan มากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อฐานะของ บล. และความเสี่ยงต่อระบบโดยรวม ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

สวัสดีปีใหม่ 2568 ทุกท่านครับ ผมขอเป็นตัวแทนผู้บริหารและพนักงาน ก.ล.ต. ส่งความปรารถนาดีมาถึงทุกท่าน ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดี มีสุขภาพแข็งแรงกันนะครับ และในปีนี้ขอเริ่มด้วยการเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้บริการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (margin loan) ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งหลายท่านน่าจะได้เห็นข่าวบ้างแล้ว นะครับ แต่เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น ผมขอนำมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้อีกครั้งครับ

อย่างที่ทราบกันนะครับว่า ก.ล.ต. มีการทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในด้านต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ และหากพบว่า มีหลักเกณฑ์ใดที่ควรปรับปรุงก็จะมีกระบวนการปรับปรุงหลักเกณฑ์เหล่านั้น เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปได้ดีขึ้นครับ เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ margin loan ที่ ก.ล.ต. มีการติดตามและศึกษาข้อมูลพบว่า มีบางเรื่องที่ควรปรับปรุง เช่น

การกำหนดอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้น (Initial Margin : IM) ในการปล่อยกู้ margin loan ให้แก่หุ้น IPO ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หุ้น IPO ที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 1-14 วันแรก จะมีสภาพคล่องสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดและจะลดลงหลังจากนั้น แสดงให้เห็นว่าในช่วงแรก บล. อาจยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการประเมินความผันผวน สภาพคล่องและความเสี่ยงของหุ้นนั้นเพื่อกำหนด IM ได้อย่างเหมาะสม ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุง IM ของหุ้น IPO เพื่อลดความเสี่ยงของ บล. ในการปล่อยกู้หุ้นดังกล่าว

การที่ บล. อาจปล่อยกู้ margin loan มากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อฐานะของ บล. และความเสี่ยงต่อระบบโดยรวม ซึ่งจากข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง (ปี 2562 – สิงหาคม 2567) พบว่า บล. ส่วนใหญ่ที่ให้บริการ margin loan มียอด margin loan คงค้างไม่เกิน 2.88 เท่าของเงินกองทุน ยกเว้นเพียง บล. 2 รายที่มียอดหนี้คงค้างเกิน 3 เท่า ซึ่ง 1 แห่ง มียอด margin loan เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4 เท่าของ equity ในปี 2566 และส่งผลกระทบต่อฐานะของ บล. ในปีถัดมา ก.ล.ต. จึงเห็นควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ในเรื่องยอดหนี้คงค้างจากการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ให้รัดกุมยิ่งขึ้น

การกระจุกตัวของลูกค้า margin loan การปล่อยกู้ margin loan ให้ลูกค้ารายใดรายหนึ่งในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับฐานะของ บล. โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่นำหุ้นตนเองมาวางเป็นหลักประกัน margin loan เพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นของตนเองเพิ่มเติม อาจเป็นช่องทางให้มีพฤติกรรมสร้างราคาหุ้นตนเอง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความเสี่ยงที่ลูกค้าไม่สามารถเพิ่มหลักประกันหรือชำระหนี้ได้ในกรณีที่ราคาหุ้นที่เป็นหลักประกันลดลงรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อฐานะของ บล. ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มี บล. ให้กู้ margin loan กระจุกตัวในลูกค้าบางราย โดยกลุ่มลูกค้าที่มียอด margin loan กระจุกตัวมากกว่า 15% ของเงินกองทุน มีจำนวนสูงถึง 95 ราย โดย 69 รายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของหุ้นนั้น ๆ ก.ล.ต. จึงจะปรับปรุงหลักเกณฑ์กำหนดยอดหนี้คงค้างของลูกค้ารายใดรายหนึ่งให้สอดคล้องกับฐานะของ บล. ยิ่งขึ้น

การกระจุกตัวของหลักประกัน margin loan ในบัญชีลูกค้าแต่ละรายของแต่ละ บล. เนื่องจากกรณีลูกค้า นำหลักประกันจำนวนมากมาวางไว้ในบัญชี margin loan หากเกิดกรณีที่ต้องบังคับชำระหนี้ (force sell) หุ้นจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นดังกล่าวที่ลดลงจนทำให้ บล. ได้รับเงินจากการ force sell ไม่เพียงพอชำระหนี้ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อ บล. ก.ล.ต. จึงจะกำหนดสัดส่วนการกระจุกตัวในหลักทรัพย์ ที่เป็นหลักประกันของลูกค้าแต่ละรายของแต่ละ บล. พร้อมทั้งให้ บล. ติดตามพฤติกรรมการซื้อขายของลูกค้า เพื่อป้องกันการซื้อขายไม่เหมาะสม

การใช้ธุรกรรม margin loan เป็นเครื่องมือในการหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ ที่ผ่านมาพบว่า บล. บางแห่งมีการให้บริการ margin loan กับผู้ลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และผู้ลงทุนนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมไปซื้อหลักทรัพย์ในลักษณะ big lot กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่า บล. ปล่อยกู้เป็นการทั่วไปให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ margin loan ในการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ และอาจเข้าข่ายเป็นการทำธุรกรรมการให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันที่ไม่จำกัดวัตถุประสงค์การใช้เงิน ซึ่งเป็นธุรกรรมที่ บล. ไม่สามารถให้บริการได้ ก.ล.ต. จึงเสนอให้มีการกำหนดให้ บล. มีมาตรการดูแลเพื่อให้การกู้ยืมเงินผ่านบัญชีมาร์จิ้นเป็นไปเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงหรือสาระที่แท้จริง (substance) ของธุรกรรมดังกล่าว ไม่ว่าการกู้ยืมเงินนั้นจะมีลักษณะหรือรูปแบบที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่

การเสนอให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ margin loan ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้ครับ

(1) เพื่อให้ บล. คำนึงถึงความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลูกค้านำมาวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นและมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์/หนี้เสีย และลดผลกระทบต่อเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนโดยรวม 

(2) เพื่อกำกับดูแลความเสี่ยงที่สำคัญให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

(3) เพื่อให้ บล. มีเงินกองทุนเพียงพอรองรับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจ โดยที่หลักเกณฑ์จะต้องไม่สร้างภาระเกินจำเป็นให้กับ บล. ด้วย 

(4) เพื่อจำกัดความเสี่ยงจากหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นหลักประกันและหลักทรัพย์ที่จะอนุญาตให้ลูกค้าซื้อจากบัญชีมาร์จิ้น (marginable securities) และ 

(5) เพื่อป้องปรามการให้บริการการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อาจเป็นการหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์ margin loan 

แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่า ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครับ หากท่านมีความเห็นอย่างไร มีคำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถให้ความเห็นได้ที่หน้าเว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th/hearing ได้ถึงวันที่ 4 ก.พ. นี้ครับ ก.ล.ต. พร้อมรับฟังความเห็นและนำไปปรับปรุง เพื่อร่วมกันพัฒนาตลาดทุนไทยให้เข้มแข็งต่อไปครับ

ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ