หลุมหลบภัย ท่ามกลางแผ่นดินไหวในตลาดหุ้นทั่วโลก

หลุมหลบภัย ท่ามกลางแผ่นดินไหวในตลาดหุ้นทั่วโลก

ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังเผชิญความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มผันผวนตามข่าวรายวัน นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และเน้นกลยุทธ์ “Wait and see”  โดยต้องจับตาหลายปัจจัย ทั้งพัฒนาการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับหลายประเทศที่อาจจะทวีความรุนแรง หรืออาจจะมีการเจรจากันได้

เชื่อว่าชาวไทยที่ยังไม่หายขวัญเสียไปกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม กลับต้องมาเจออีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะเทือนทั้งเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก นั่นก็คือการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คุณโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าขั้นต่ำ 10% สำหรับสินค้าทุกชนิดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศคู่ค้ารวม 60 ประเทศ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน และสิ่งที่ทำให้ตลาดตื่นตระหนกก็คือ การเก็บภาษีแบบ Reciprocal Tariffs ที่ประกาศออกมารุนแรงกว่าคาด โดยสหรัฐฯ พิจารณาจากการขาดดุลทางการค้า ทำให้ประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูงๆ ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จีนจะถูกเก็บภาษีที่ 34% เวียดนาม 46% และไทยบ้านเราเองก็จะถูกเรียกเก็บภาษีที่ 36%

สิ่งที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีกก็คือ การตอบโต้จากประเทศคู่ค้า โดยจีนได้ประกาศขึ้นภาษี 34% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากสหรัฐฯ และยังมีมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายากอีก 7 ชนิด ด้านสหรัฐฯ ก็ตอบโต้กลับโดยการประกาศว่าจะเก็บภาษีกับจีนเพิ่มอีก 50% ส่วนสหภาพยุโรป (EU) เตรียมมาตรการตอบโต้เช่นกัน ด้วยการกำหนดภาษีสินค้านำเข้า 25% จากสหรัฐฯ ในบางกลุ่มสินค้า

แน่นอนว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้จะส่งผลกระทบทางตรงให้การค้าโลกชะลอตัวลง ไม่เพียงแค่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น แต่จะกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน และด้วยต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้า ย่อมส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง โดยล่าสุดเริ่มมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ส่วนประเทศคู่ค้าที่จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงๆ อย่างเวียดนามคาดว่าจะกระทบ GDP ที่ -1.5% ด้านเศรษฐกิจไทยก็คาดว่าจะเติบโตเพียง +1.4% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต +2.4% จากทั้งการส่งออก การลงทุน และการบริโภค (คาดการณ์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ท่ามกลางความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า ทำให้ตลาดหุ้นเผชิญกับแรงขายอย่างหนัก โดยเฉพาะตลาดหุ้นฮ่องกงที่ปรับตัวลงมากกว่า 13% ในหนึ่งวัน ดิ่งแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 สะท้อนภาวะ “Panic selling” คล้ายกับช่วงวิกฤตการเงินในอดีต แต่ทั้งนี้ยังพอมีพัฒนาการเชิงบวกมาบ้าง โดยล่าสุดนายกฯ ญี่ปุ่นได้พูดคุยกับปธน.ทรัมป์ ทางโทรศัพท์ สร้างความหวังว่าจะมีข้อตกลงทางการค้า สะท้อนให้เห็นว่าปธน.ทรัมป์พร้อมใช้วิธีการเจรจาทางการค้ากับประเทศที่แสดงท่าทีประนีประนอม และใช้วีธีการแข็งกร้าวกับประเทศที่พร้อมจะตอบโต้ 

ในระยะสั้นคาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังเผชิญความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มผันผวนตามข่าวรายวัน นักลงทุนจึงควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และเน้นกลยุทธ์ “Wait and see”  โดยต้องจับตาหลายปัจจัย ทั้งพัฒนาการทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับหลายประเทศที่อาจจะทวีความรุนแรง หรืออาจจะมีการเจรจากันได้ รวมถึงความเสี่ยงการเกิดภาวะ Stagflation จากต้นทุนสินค้าที่สูง ขณะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สะท้อนผ่านแรงขายในตลาดทั่วโลก 

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส ท่ามกลางแผ่นดินไหวในตลาดหุ้น ยังมีสินทรัพย์ที่ยังทรงตัวได้ดี นั่นก็คือ “ตราสารหนี้” หนุนจากนักลงทุนลดความเสี่ยงมายังสินทรัพย์ปลอดภัย โดยดัชนีตราสารหนี้โลก (Bloomberg Global Aggregate Index) รวมถึงดัชนีตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA Bond Index) ที่ราคาเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงวันที่ 3-8 เมษายน ที่ผ่านมา หนุนจากความหวังว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะลดดอกเบี้ย นำโดย FED ที่นักลงทุนในตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง และธนาคารกสิกรไทยคาดว่าธปท. จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ

ด้วยค่าเงินบาทที่ค่อนข้างผันผวน และต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน (Hedging cost) ที่อยู่ในระดับสูง การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีภาระต้นทุนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสูงจึงมีความน่าสนใจน้อยกว่าตราสารหนี้ไทย จึงแนะนำลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ไทยที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชนระดับ Investment grade ที่มีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ และมีความผันผวนด้านราคาต่ำ ถือว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดีท่ามกลางแรงกระแทกเช่นนี้