เปลี่ยนช้างกลางศึก! ‘อิชิอิ’ ไพ่ใบสุดท้ายของทีมชาติไทยยุค ‘มาดามแป้ง’?
เปิดมุมมอง.. เปลี่ยนช้างกลางศึก! ‘อิชิอิ’ ไพ่ใบสุดท้ายของทีมชาติไทยยุค ‘มาดามแป้ง’?
Key Points :
- การแต่งตั้งมาซาทาดะ อิชิอิ เป็นสิ่งที่มีการคาดกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดขึ้น เพราะเดิมมีกระแสข่าวว่าเขาถูกวางตัวเอาไว้ให้เป็นโค้ชทีมชาติไทยคนใหม่ในช่วงคิงส์คัพ แต่จะต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมโดยจะให้นั่งแท่นตำแหน่งประธานฝ่ายเทคนิคของสมาคมฟุตบอลไปก่อน
- ว่ากันว่าในการตกลงรับงานครั้งนี้อิชิอิมีการวางเงื่อนไขเอาไว้ 3 ประการด้วยกัน 1. เรื่องค่าตอบแทนในการทำงาน 2. โอกาสในการสร้างทีมระยะยาว 3. ขอให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไว้ใจในความสามารถ และ “อย่าแทรกแซงการทำงาน”
- ความเป็นจริงของทีมชาติไทยและวงการฟุตบอลไทยคือเรายังอยู่ใน “เขาวงกต” ที่มองไม่เห็นทางออก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรากลับมองไปที่ “ผลลัพธ์” ที่ปลายทางอย่างการไป “ฟุตบอลโลก” และพยายามที่จะไปให้ถึงจุดนั้น แต่กลับไม่ได้คิดถึงเรื่องของ “วิธีการ” ที่ถูกต้องและควรทำ
จะบอกว่าผิดไปจากความคาดหมายก็ไม่ใช่นัก แต่ข่าวการประกาศแยกทางกับอเล็กซานเดอร์ มาโน โพลกิง ซึ่งเหมือนจะรู้ชะตาตัวเองมาล่วงหน้าแต่ไม่สามารถพูดอะไรได้ ก่อนที่จะมีข่าวการประกาศแต่งตั้งมาซาทาดะ อิชิอิ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยคนใหม่ในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่ถึงชั่วโมง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกและคำถามขึ้นมากมายในหมู่แฟนฟุตบอลทีมชาติไทย บ้างดีใจที่ได้คนมีฝีมือชาวญี่ปุ่นเข้ามาคุมทัพ บ้างเสียดายโค้ชคนเก่าอย่างมาโนที่เพิ่งจะพาทีมกลับมาเก็บชัยชนะเหนือสิงคโปร์ และมีไม่น้อยที่ตั้งคำถามกับท่าทีของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยเฉพาะผู้จัดการทีมที่เป็นผู้ตัดสินใจเองอย่างนวลพรรณ ล่ำซำ การเปลี่ยนช้างกลางศึกครั้งนี้คือไพ่ใบสุดท้ายของ “มาดามแป้ง” ที่จะกอบกู้ศรัทธาฟุตบอลไทย หรือเป็นเพียงแค่เรื่อง Crisis management ให้กับตัวของผู้จัดการทีมชาติไทยที่เผชิญเสียงวิจารณ์อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น
นิทานเปลี่ยนช้างกลางศึก
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปในช่วงบ่ายของวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในระหว่างที่ทัพนักเตะทีมชาติไทยเพิ่งเดินทางจากสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์กลับมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ได้มีกระแสข่าวสะพัดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนหรือโค้ชทีมชาติไทยคนใหม่ โดยย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นได้มีรายงานข่าวในประเทศญี่ปุ่นที่อ้างว่า มาซาทาดะ อิชิอิ อดีตโค้ชทีมคาชิมา แอนท์เลอร์สที่ประสบความสำเร็จกับสมุทรปราการ ซิตี้ และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดในประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงในการรับงานคุมทีม “ช้างศึก” แทนที่ของมาโน โพลกิง ที่ผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจในช่วงที่ผ่านมา
กระแสข่าวดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนขึ้นเล็กน้อย แต่มาโนเองเมื่อถูกถามจากสื่อมวลชนก็ตอบเป็นนัยว่า “ก็ยังคงเป็นโค้ชต่ออีกสักชั่วโมง”
คำพูดดังกล่าวของโค้ชผู้พาทีมชาติไทยคว้าแชมป์อาเซียน 2 สมัยติดต่อกันกลายเป็นความจริง เมื่อมีการออกแถลงการณ์แยกทางกันระหว่างสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯกับมาโน ก่อนที่ไม่กี่นาทีให้หลังจะมีการแถลงแต่งตั้งโค้ชคนใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายคืออิชิอิ ที่จะเป็นหัวหน้าโค้ชคนใหม่แทนโดยให้มีผลทันที
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีการคาดกันเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดขึ้น เพราะเดิมมีกระแสข่าวว่าอิชิอิถูกวางตัวเอาไว้ให้เป็นโค้ชทีมชาติไทยคนใหม่ในช่วงคิงส์คัพ แต่จะต้องรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมโดยจะให้นั่งแท่นตำแหน่งประธานฝ่ายเทคนิคของสมาคมฟุตบอลไปก่อน
แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นว่าอิชิอิไม่ได้รับตำแหน่งโค้ชในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากมาโนยังได้ทำงานต่อ เมื่อหลังจบรายการคิงส์คัพเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทำให้สุดท้ายตัดสินใจที่จะเดินทางกลับบ้านที่ประเทศญี่ปุ่น
กระนั้นอดีตนายใหญ่บุรีรัมย์ยังเปิดช่องเอาไว้ว่าหากต้องการให้กลับมาคุมทีมชาติไทยก็ลองพูดคุยกันใหม่ เพราะยังมีความต้องการที่จะรับงานนี้อยู่ ก่อนที่สุดท้ายเขาจะได้รับข้อเสนอในการคุมทีมชาติไทยจริง ในวงเล็บว่าอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องการ
บนเงื่อนไขและความตั้งใจของอิชิอิ
สำหรับคนในวงการฟุตบอลไทยแล้ว มาซาทาดะ อิชิอิ ถือเป็น “ของจริง” ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องฝีไม้ลายมือการยอมรับนั้นเกิดจากผลงานที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่การตกลงที่จะรับงานคุมทีมเล็กๆอย่างสมุทรปราการ ซิตี้เมื่อปี 2019 และสามารถพาทีมจบฤดูกาลด้วยการเป็นอันดับที่ 6 ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ก่อนจะได้โอกาสในการคุมทีมใหญ่อย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พาทีมสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการกวาด “ทริปเปิลแชมป์” หรือการคว้า 3 แชมป์ในฤดูกาลเดียวได้อย่างยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ดีการคุมทีมชาติไทยนั้นเป็นคนละเรื่องกับการทำงานในระดับสโมสร ความหินของการคุมทีม “ช้างศึก” นั้นทำให้ยอดโค้ชที่มีประสบการณ์มากมายหลายคนถึงกับไปไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็น วิลฟรีด เชเฟอร์, มิโลวาน ราเยวัช รวมถึงอากิระ นิชิโนะ กุนซือเพื่อนร่วมชาติของอิชิอิที่สุดท้ายไปไม่รอดแม้แต่คนเดียว ที่ว่ายากนั้นไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องของการทำงานในสนามเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการทำงานนอกสนามที่มีอุปสรรคไม่น้อย
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องของความเข้มแข็งของสมาคมฟุตบอลไทยฯในยุคนี้ภายใต้การนำของพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วงนั้นตกต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้การบริหารงานล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงเป็นที่ประจักษ์แจ้ง
เรื่องนี้ยังส่งผลต่อบรรยากาศวงการฟุตบอลไทยดูจะขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันซึ่งเห็นได้ชัดเจนในกรณีการเรียกตัวนักฟุตบอลมาติดทีมชาติที่มีปัญหาขัดแย้งกับสโมสรโดยตลอด เป็นการเมืองในสนามฟุตบอลที่สร้างความเบื่อหน่ายให้แก่แฟนๆที่เสียความรู้สึกไปจนถึงการเสื่อมศรัทธา
แต่สำหรับอิชิอิ จากประสบการณ์ในการทำงานที่รู้จักและคุ้นเคยกับวงการฟุตบอลไทยเป็นอย่างดี จาก “แบ็คอัพ” ที่แข็งแกร่ง และจากบุคลิกนิสัยความตรงไปตรงมาและความมุ่งมั่น ทำให้หลายคนเชื่อว่าน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับตำแหน่งโค้ชทีมชาติไทย
ว่ากันว่าในการตกลงรับงานครั้งนี้อิชิอิมีการวางเงื่อนไขเอาไว้ 3 ประการด้วยกัน
1. เรื่องค่าตอบแทนในการทำงาน
2. โอกาสในการสร้างทีมระยะยาว
3. ขอให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไว้ใจในความสามารถ และขีดเส้นใต้เอาไว้ตรงคำว่า “อย่าแทรกแซงการทำงาน”
บทบาทของมาดามแป้ง
การแทรกแซงการทำงานของโค้ชทีมชาติไทย - หรือแม้แต่โค้ชในวงการฟุตบอลไทยทุกระดับ - นั้นเป็นประเด็นที่มีการพูดมาทุกยุคทุกสมัย แต่มันกลายเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับทีมชาติไทยในยุคปัจจุบัน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนวลพรรณ ล่ำซำ ที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ถึงขั้นที่ต้องพยายามชี้แจงในแถลงการณ์แต่งตั้งโค้ชทีมชาติไทยคนใหม่
ในถ้อยแถลงของมาดามแป้งบอกเอาไว้ดังนี้
“นอกจากนี้ แป้งยังขอเปิดใจในหน้าที่ผู้จัดการทีม แป้งรับหน้าที่นี้มาตั้งแต่ปี 2021 มีหน้าที่บริหารจัดการ อำนวยความสะดวกเรื่องอาหารการกิน ที่พัก การเดินทาง อุปกรณ์ต่างๆ ความเป็นอยู่ ทุกข์สุขของทุกคนในทีม ทั้งในและนอกสนาม ขวัญและกำลังใจของนักกีฬา รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษหรือเงินอัดฉีด ซึ่งเป็นเงินส่วนตัวและเพื่อนฝูงที่มีใจรักฟุตบอล แป้งคิดว่าตนเองได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 16 ปี ตั้งแต่เป็นผู้จัดการฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย จนมาถึงปัจจุบันกับทีมฟุตบอลชาย
“แป้งมีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของผู้จัดการทีมดี ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำหน้าที่ของหัวหน้าผู้ฝึกสอนในด้านเทคนิคฟุตบอล ทั้งในการเลือกผู้เล่น แผนการเล่น การจัดตัวหรือการเปลี่ยนตัวระหว่างการแข่งขัน มีเพียงการยกหูเพื่อขอตัวนักเตะจากประธานสโมสรทุกๆ ทีมทั้งในไทยลีกและต่างประเทศ ตามรายชื่อที่หัวหน้าผู้ฝึกสอนต้องการเท่านั้น เพราะมีความจำเป็นให้ทีมชาติไทยได้นักกีฬาที่ดีที่สุดมา ซึ่งจะได้หรือไม่นั้น ก็ย่อมเป็นดุลพินิจของสโมสรอีกชั้นหนึ่ง
“แป้งจึงขอความเห็นใจและความเป็นธรรมในการทำหน้าที่ผู้จัดการทีม ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำอย่างเต็มที่มาโดยตลอดภายใต้ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของแป้ง แต่เมื่อใดที่ผลการแข่งขันไม่เป็นดังหวัง แป้งก็เสียใจไม่ต่างจากทุกคน และยินดีน้อมรับคำแนะนำต่างๆ ด้วยเหตุและผล ภายใต้ความหวังดีของทุกคน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทีม เพื่อนำไปพัฒนา ปรับปรุง เพื่อสร้างความสำเร็จให้แก่ทีมชาติไทย แป้งไม่สามารถหักห้ามความคิดใครได้ แต่ก็ยอมรับแบบตรงไปตรงมาว่าในบางคอมเมนต์ย่อมสร้างความเสียใจ บั่นทอนความรู้สึกในการทำงานของทุกคนไปมาก ทั้งที่แป้งเองตั้งใจและทุ่มเทอย่างสุดความสามารถ และรักในการทำหน้าที่นี้อย่างแท้จริง ด้วยความหวังและความฝันที่อยากเห็นฟุตบอลไทยประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับทุกคน”
ในประเด็นนี้หากแยกแยะในเรื่องของการ “ดูแลเอาใจใส่ทีม” แล้วเชื่อว่าแฟนฟุตบอลไทยเองก็รู้ เข้าใจ ขอบคุณ และเห็นใจมาดามแป้งที่ให้การสนับสนุนฟุตบอลไทยมาเป็นเวลากว่า 16 ปี โดยเฉพาะในช่วงที่ดูแลทีมชาติหญิงที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ไปฟุตบอลโลกหญิงได้ถึง 2 สมัย
ส่วนประเด็นเรื่องของการแทรกแซงการทำงานที่มาดามตกเป็นที่ซุบซิบนั้น หากมองในมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องที่อาจต้องทำความเข้าใจว่า “บทบาทหน้าที่” ในฐานะผู้จัดการทีมชาติไทยที่ได้รับมาเมื่อปี 2021 (ควบคู่ไปกับการเป็นเจ้าของสโมสรการท่าเรือ) เป็นงานที่ใหญ่เกินกว่าชื่อตำแหน่ง
เพราะทุกอย่างมันถูกถ่ายโอนอย่างไม่เป็นทางการจาก “บิ๊กอ๊อด” นายกสมาคมฯ ผู้ที่เก็บตัวในเงามืดมาจนคนแทบจะลืมหน้าไปแล้วลงมาอยู่ในมือของมาดามแป้ง (และคณะที่ให้การสนับสนุน)
ลองจินตนาการตามว่าหากเป็นเราเองที่ต้องรับผิดชอบมากมายขนาดนี้ ไหนจะหาเงินสนับสนุน ไหนจะดูแลทุกข์สุข ไหนจะต้องตัดสินใจในเรื่องยากๆ บอกเลยว่าไม่ง่าย มะรุมมะตุ้มไปหมด
ด้วยความเห็นใจและเป็นห่วง บางครั้งก็อยากเห็นมาดามแป้งไม่ต้องวุ่นวายอะไรมากมาย ลองปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกลไกของมัน ประกาศตัวทีมชาติก็ใช้มาตรฐานเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก ผลงานในสนามก็ปล่อยให้เป็นงานของอิชิอิ คอยสนับสนุนในสิ่งที่ได้รับการเรียกร้องจากทีมงานเพียงเท่านั้น
ที่เหลือก็ปล่อยให้ทุกคนตัดสินกันเอาเองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นดีจริงแล้วหรือไม่
อย่างไรก็ดีการออกแถลงการณ์ครั้งนี้ก็ไม่วายถูกนำไปตั้งคำถามอยู่ดีว่าทำไมจึงออกข่าวประชาสัมพันธ์การแต่งตั้งโค้ชใหม่ด้วยตนเองแทนที่จะเป็นในนามสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ
ทางออกฉุกเฉินในเขาวงกต
หากเรายึดตามคำว่า “อะไรที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ” การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ชจากมาโนเป็นอิชิอิก็ควรจะเป็นเรื่องที่ดี
มองในมุมที่งดงามอย่างน้อยมาโนก็ได้อำลาทีมด้วยการเก็บชัยชนะเกมสุดท้าย บรรยากาศความตึงเครียดผิดหวังที่รุนแรงคลายตัวลงไปมาก แฟนฟุตบอลไทยและมาโนต่างฝ่ายต่างได้กล่าวคำขอบคุณและอำลากันอย่างที่ควรจะเป็น
สำหรับอิชิอิ ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ที่ดีที่สุดเท่าที่มีในเวลานี้ การเข้ารับตำแหน่งวันนี้ของเขาแม้จะกระชั้นแต่อย่างน้อยก็ดีกว่าไปรับเผือกร้อนหน้างาน
โดยเฉพาะในรายการใหญ่อย่างฟุตบอลเอเชียน คัพ ที่ประเทศกาตาร์ในเดือนมกราคมปีหน้า ต่อด้วยฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 4 นัดที่ยังพอจะพูดได้ว่าความหวังไม่ได้เลือนรางไปเสียทีเดียว แต่กระนั้นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ชนั้นไม่ได้สร้างความมั่นใจว่าวงการฟุตบอลไทยจะกลับมาโชติช่วงชัชวาลย์อีกครั้ง มันเป็นแค่ “ทางออกฉุกเฉิน” เท่านั้น
ความเป็นจริงของทีมชาติไทยและวงการฟุตบอลไทยคือเรายังอยู่ใน “เขาวงกต” ที่มองไม่เห็นทางออก
ปัญหาต่างๆสะสมและหมักหมมหนักขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่วิธีการแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรากลับมองไปที่ “ผลลัพธ์” ที่ปลายทางอย่างการไป “ฟุตบอลโลก” และพยายามที่จะไปให้ถึงจุดนั้น แต่กลับไม่ได้คิดถึงเรื่องของ “วิธีการ” ที่ถูกต้องและควรทำ
ไม่ต่างอะไรจากการสร้างบ้านคน หากฟุตบอลไทยอยากจะมีบ้านที่แข็งแรงทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข มันต้องเริ่มจาก “แปลน” ก่อนว่าเราอยากจะมีบ้านหน้าตาแบบไหน จะเป็นบ้านไม้ บ้านปูน บ้านสไตล์ Cozy
จากนั้นค่อยเลือกคนมาช่วยออกแบบ จ้างวิศวกรมากำกับดูแลการก่อสร้าง หาผู้รับเหมาที่ดี วางระบบทุกอย่างให้ครอบคลุมตั้งแต่ “ฐานราก” ก่อนจะคิดถึงเรื่องของการตกแต่งต่อเติม หาเฟอร์นิเจอร์สวยๆ
ก่อนหน้านี้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ พยายามจะทำเหมือนกันด้วยการจ้างบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาวางรากฐาน มีการเผยแพร่ “พิมพ์เขียว” สำหรับวงการฟุตบอลไทย
ปัญหาคือมันเป็นแค่ภาพลวงตาไม่สามารถใช้การได้จริง และไม่มีใครจดจำหรือคิดถึงสิ่งเหล่านี้อีกแล้ว
ความหวังที่แท้จริงสำหรับทีมชาติไทยและวงการฟุตบอลไทยจึงอาจอยู่ที่การเลือกตั้งตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลสมัยหน้าในเดือนกุมภาพันธ์ ว่าจะทำให้ทุกอย่างกลับมาเข้ารูปเข้ารอยได้อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่
จริงอยู่ที่ ณ เข็มนาฬิกาเดินไปก็มีการ “พูดกัน” พอสมควรเรื่องว่าที่เจ้าของเก้าอี้ตำแหน่งนี้ แต่ยังมีเวลาอีกนิดหน่อยจนกว่าจะถึงวันนั้น และทางออกฉุกเฉินอย่างอิชิอิเองก็อาจมีผลต่อเรื่องการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน ถ้าทุกอย่างออกมาดีก็ดีไป ทุกอย่างจะง่ายขึ้นสำหรับทุกฝ่าย แต่ถ้าไม่อาจจะนั่งเหม่อกันทุกคน