พลิกจุดอ่อนคน Gen Z ให้เป็นจุดแข็งที่ใครก็ไม่มี

พลิกจุดอ่อนคน Gen Z ให้เป็นจุดแข็งที่ใครก็ไม่มี

คน Gen Z ถูกมองจากคนเจนเก่าว่าเป็น “Snowflake Generation” หรือมีความอ่อนไหว รับมือกับความท้าทายในชีวิตได้ยาก ขาดความมุ่งมั่นในการทำงานและความรับผิดชอบ

“พวกคนรุ่นใหม่บริษัทเรา ทำไมไม่มีความอดทน ไม่เป็นมืออาชีพเอาซะเลย” นี่คือเสียงสะท้อนจากคนรุ่นเก่า (กว่า) พูดถึงคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่น Gen Z ที่ผมได้ยินในหลายวงการ

Gen Z รุ่นแรกวันนี้อายุประมาณ 27 ปี ถ้าจบปริญญาตรี โดยเฉลี่ยก็เริ่มทำงานมาได้ 3-4 ปี แล้ว กำลังจะกลายเป็นกำลังสำคัญและผู้บริโภคหลักขององค์กรส่วนใหญ่ คนเจนนี้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกอย่างสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย แอปที่ช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั่วโลกอย่างไม่มีขีดจำกัดตั้งแต่วัย 10 กว่าขวบ ซึ่งทำให้มีมุมมองและผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเจนก่อนหน้าอย่างมาก

ข้อเสียของ Gen Z ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาในการทำงาน

คน Gen Z ถูกมองจากคนเจนเก่าว่าเป็น “Snowflake Generation” หรือมีความอ่อนไหว รับมือกับความท้าทายในชีวิตได้ยาก ขาดความมุ่งมั่นในการทำงานและความรับผิดชอบ ผลสำรวจจาก Intelligent.com เดือนสิงหาคม 2024 พบว่า 75% ของบริษัทในสหรัฐอเมริกา ไม่พอใจกับบัณฑิตจบใหม่ที่เป็นกลุ่มคน Gen Z และ 6 ใน 10 บริษัทต้องเลิกจ้างพนักงานกลุ่มนี้ภายใน 1 ปี โดยระบุว่าขาดความพร้อมและความเป็นมืออาชีพ รวมถึงทัศนคติที่ขาดความอดทนและไม่สามารถรับคำติชมหรือคำวิจารณ์ได้อย่างเหมาะสม

“การอดทนรอคอย” เป็นเรื่องเสียเวลาสำหรับ Gen Z เพราะเทคโนโลยีทำให้เข้าถึงเกือบทุกอย่างในชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว ทั้งการ Chat Search Shopping การใช้ e-service ต่างๆ การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สร้างความคุ้นชินและความคาดหวังว่าทุกอย่างควรเกิดขึ้นหรือตอบสนองทันที

โซเชียลมีเดียอย่าง Instagram, X, และ TikTok ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลทั้งความบันเทิงและความรู้จำนวนมากในเวลาอันสั้น ซึ่งแตกต่างจากสภาพแวดล้อมในการทำงานในองค์กรที่มีกระบวนการเกี่ยวข้องกับหลายคนหลายแผนก ที่อาจซับซ้อน การรอคอยมักทำให้คน Gen Z หงุดหงิดและเบื่อหน่ายเร็วกว่าคนเจนเก่า ซึ่งการใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียเป็นส่วนใหญ่ ยังทำให้เกิด “Echo Chamber” หรือได้รับ ข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องหรืออยู่ในกรอบที่เราสนใจ ส่งผลให้บางคน (ซึ่งจะเป็นเจนไหนก็แล้วแต่) เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าคนส่วนใหญ่คิดแบบเดียวกับเรา ทำให้ไม่เคยชินเมื่อต้องมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและรับมือกับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนที่หลากหลายในการทำงาน

พลิกจุดอ่อนเป็นจุดแข็ง

ผมลองให้โจทย์การแก้ปัญหาหนึ่งโดยการใช้ AI-ChatGPT กับนักศึกษาแต่ละคลาส ทั้งคลาสที่เป็นผู้บริหาร ปริญญาโท-เอก และปริญญาตรีปี 1 ซึ่งผมให้โจทย์เดียวกันและลองจับเวลาดูว่าคลาสไหนจะมีคนที่แก้ปัญหานี้ได้เร็วที่สุด

ผลคือคลาสปริญญาตรีปี 1 แก้ปัญหาได้เร็วที่สุดภายในเวลา 3-4 นาที และคลาสผู้บริหารใช้เวลานานที่สุดโดยใช้เวลากว่า 15 นาที!

เรื่องทักษะในการ Apply ใช้เทคโนโลยีก็ส่วนหนึ่ง แต่ Logic ในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและความพยายามในการหาวิธีที่ “กระชับ” และไม่เสียเวลา คือพลังที่น่าสนใจ

อีกเรื่องที่ผมเห็นจากการสังเกตจากนักศึกษาคือความสามารถในการทำหลายสิ่งอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking) จนไปถึงความสามารถในการเรียนรู้ข้ามสาขาวิชา (Multidisciplinary) จะมีสูงกว่าในเจนที่ใหม่กว่า

ผมมองว่าคนแต่ละเจน หากต้องการเพิ่มความโดดเด่นเมื่อเทียบกับเจนตัวเอง นอกจากต้องยึดจุดแข็งของเจนเราให้ได้แล้ว เราอาจลองสำรวจจุดอ่อนประจำเจนของเรา และหาวิธีพัฒนาตัวเองในจุดที่ทำได้ เช่น

1. แก้ปัญหา Echo Chamber : การออกไป Networking กับคนหลากหลายนอกจากทำให้ได้สัมผัสแนวคิดใหม่ๆ แล้ว ประสบการณ์ที่แตกต่างยังทำให้เมื่อผสมกับสิ่งที่เรามีก็อาจเกิดเป็นทักษะใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้ หรือทางออนไลน์อาจลองเปิด Account หลุมเพื่อเรียนรู้เนื้อหาและความเห็นที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เราเคยชิน เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่อาจลองคิดวิธีรับมือเมื่อเจอความคิดแบบนี้ในที่ทำงาน

2. ฝึกความอดทน : เทคนิคของผมในการฝึกความอดทนต่อสิ่งที่ไม่ชอบ แต่รู้ว่าถ้าอดทนได้แล้วจะดีกับตัวเราเองนั้น คือการ Challenge ตัวให้ค่อยๆ อดทนกับสิ่งนี้ในระยะสั้น แต่ทำต่อเนื่องซ้ำๆ จนพอรวมกันแล้วกลายเป็นยาวตามเป้าที่ต้องการ ซึ่งหลักนี้คล้ายกับการฝึกสติ-สมาธิ ที่คนธรรมดาก็ต้องมีหลุดกันล่ะครับ แต่พอรู้ตัวเมื่อไรก็ดึงตัวเองกลับมาโฟกัสกับปัจจุบันใหม่

3. ศึกษาความแตกต่างระหว่างเจน : Generation Gap เป็นความท้าทายทั้งในแง่การทำงานร่วมกันและการเข้าใจผู้บริโภคสำหรับทุกองค์กรวันนี้ การศึกษาช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและถดถอยของคนเจนก่อนหน้าเรารวมถึงจุดอ่อน-จุดแข็งของเจนนั้น ซึ่งเมื่อมีเจนใหม่เริ่มโตขึ้นมาแทนที่ในองค์กร

หากคนใหม่ไม่รู้ว่าคนเก่าคาดหวังอะไร คนเก่าไม่เปิดใจเรียนรู้และช่วยพัฒนาคนใหม่ องค์กรนั้นก็ไม่สามารถขับเคลื่อนและแข่งขันได้ ซึ่งวัฏจักรนี้เกิดขึ้นกับทุกเจน ผมเองก็เริ่มเห็นคน Gen Z พูดว่าแปลกใจกับคน Gen Alpha กันแล้ว

ถ้าใครเสริมจุดแข็งและไล่ปิดจุดอ่อนของตัวเอง ที่ติดตัวมาจากเจนที่เราอยู่ได้มากเท่าไร คนนั้นมีแนวโน้มจะ Sigma ใช้ชีวิตและทำงานได้อย่าง GOAT กว่าคนอื่นในเจนตัวเอง Frfr ครับ (ใครไม่เข้าใจศัพท์ Gen Alpha ลองให้ AI แปลดูนะครับ HELP)