กรุงเทพมหานคร กับแผ่นดินไหว: บทเรียนรับมือจากโตเกียว

กรุงเทพมหานคร กับแผ่นดินไหว: บทเรียนรับมือจากโตเกียว

เมื่อเสียงสั่นไหวจากใต้พิภพที่เมียนมา เดินทางข้ามพรมแดนมาถึงประเทศไทย หลายคนในกรุงเทพมหานคร (รวมถึงหลายจังหวัด) ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน แผ่นดินไหว

แรงสั่นสะเทือนที่สัมผัสได้จริงในตึกสูง บางแห่งถึงขั้นมีความเสียหาย เช่น การถล่มของอาคารที่กำลังก่อสร้างสูง 30 ชั้น และภาพประชาชนที่วิ่งหนีออกจากตึกด้วยความตื่นตระหนก

นำไปสู่คำถามสำคัญที่เราทุกคนควรใคร่ครวญอย่างจริงจังว่า กรุงเทพฯ พร้อมแค่ไหนหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จริงๆ?

แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนหลักของโลก แต่เหตุการณ์ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ไม่มีที่ใด “ปลอดภัยแน่นอน” จากภัยธรรมชาติ

การเตรียมตัวคือหัวใจหลักของการรับมือกับภัยพิบัติ และในจังหวะนี้ โตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่นที่เผชิญกับความเสี่ยงแผ่นดินไหวตลอดเวลา อาจเป็นครูที่ดีที่สุดให้กับเรา

ผมเคยเรียนที่ญี่ปุ่น ซึ่งรู้สึกประทับใจมาตลอดกับการให้ความรู้เกี่ยวกับการเผชิญภัยพิบัติในทุกรูปแบบที่ดีมาก

มีระบบเตือนภัยเมื่อมีเหตุอย่างฉับพลัน ส่ง SMS ข้อมูลเหตุการณ์อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มีรายการโทรทัศน์ให้ความรู้และมีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอ 

ไม่นานมานี้ ผมได้ดูคลิปวิดีโอยูทูปเล่าเรื่องราวของการใช้ชีวิตของชายคนหนึ่งในโตเกียว บังเอิญสายตาเหลือบไปเห็นว่าชายคนนั้นเก็บ “หนังสือ” เพียงเล่มเดียวที่อยู่ใต้เตียง

เมื่อผมหยุดวิดีโอและซูมเข้าไปใกล้ ก็เห็นชัดเจนว่าเป็นคู่มือปกสีเหลืองชื่อว่า “Disaster Preparedness Tokyo” เมื่อลองค้นหาและดาวน์โหลดมาอ่านดูก็พบว่าเป็นคู่มือที่ให้ข้อมูลอย่างละเอียด

ครอบคลุม ทั้งในแง่ของการเตรียมตัวล่วงหน้า การรับมือในสถานการณ์จริง และการฟื้นฟูชีวิตหลังภัยพิบัติ ซึ่งช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมได้อย่างมากจนอยากให้กรุงเทพมีแบบนี้บ้าง

โตเกียวมีความเป็นเมืองคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ ในแง่ของความหนาแน่นของประชากร การมีตึกสูงจำนวนมาก การมีระบบขนส่งมวลชนแบบรวมศูนย์ และวิถีชีวิตที่เร่งรีบ แต่โตเกียวต่างออกไปตรงที่เมืองนี้มีวัฒนธรรมการ “เตรียมพร้อม” ฝังอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างลึกซึ้ง

หนึ่งในบทเรียนสำคัญจากโตเกียวคือ การฝึกจินตนาการสถานการณ์ภัยพิบัติให้เหมือนมันจะเกิดขึ้น “ตอนนี้” ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ทฤษฎี

แต่คือการฝึกว่า “ถ้าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในตอนที่คุณอยู่ในรถไฟ ใต้ดิน บนตึกสูง หรือห้องน้ำ คุณจะทำอย่างไร” ในคู่มือเตรียมรับภัยพิบัติเขียนขึ้นอย่างละเอียด โดยจำลองสถานการณ์มากมายที่อาจเกิดขึ้น และเสนอวิธีรับมือที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ

คนโตเกียวรู้ว่า "ในนาทีแรกของภัยพิบัติ คุณอาจไม่มีเวลาคิด แต่ถ้าคุณเคย ‘คิดไว้แล้ว’ ก็จะมีโอกาสรอดมากขึ้น เมื่อภัยมาถึง เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของความโกลาหลและความไม่รู้

คนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรม "ช่วยเหลือกัน" ในยามเกิดภัยพิบัติ ชุมชนในโตเกียวไม่ได้มีแค่แผนหนีไฟของอาคาร แต่มีแผนความร่วมมือระดับชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือคนที่ต้องการความดูแลพิเศษ

สถานที่หลบภัยชั่วคราวถูกเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยมีแผนชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร และจะติดต่อกันอย่างไรในกรณีที่ระบบสื่อสารล่ม

แม้ในประเทศที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างญี่ปุ่น แต่ในยามวิกฤต พวกเขายังพึ่งพาการกระจายข้อมูลด้วยวิธีพื้นฐาน เช่น วิทยุพกพา ป้ายประกาศ และการพูดปากต่อปาก

โตเกียวจึงเน้นย้ำให้ประชาชนเตรียมเครื่องมือสื่อสารที่ใช้ได้แม้ไม่มีไฟฟ้า เช่น วิทยุแบบใช้มือหมุน และการเรียนรู้เส้นทางหนีภัยไว้ล่วงหน้า

ไม่ใช่เฉพาะในบ้าน แต่รวมถึงที่ทำงาน โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือสถานีรถไฟที่คนผ่านเข้าออกนับแสนต่อวัน

บทเรียนอีกข้อที่กรุงเทพฯ ควรนำมาใช้ทันที คือการ "เสริมความแข็งแรงของอาคาร" และการจัดวางสิ่งของภายในบ้านให้ปลอดภัย โตเกียวยังสอนให้รู้ว่า “บ้านที่ไม่พัง คือที่หลบภัยที่ดีที่สุด”

การมีบ้านที่ทนแรงสั่นได้ดี ย่อมดีกว่าการต้องหนีไปที่ศูนย์อพยพ ซึ่งในสถานการณ์จริงอาจไม่สะดวกสบายอย่างที่คิด

การมี “สต็อก” สิ่งของจำเป็น เช่น น้ำ อาหาร ยา และอุปกรณ์ยังชีพเพียงพอสำหรับอยู่ได้ 3–7 วัน จึงเป็นสิ่งที่ครอบครัวในโตเกียวให้ความสำคัญอย่างมาก และควรกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับครอบครัวไทยในกรุงเทพฯ เช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่โตเกียวทำได้ดีอย่างน่าทึ่งคือการทำให้การเตรียมตัวเป็น “วัฒนธรรม” ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของรัฐ แต่คือสิ่งที่ทุกคนต้องทำในชีวิตประจำวัน เด็กนักเรียนฝึกซ้อมการหลบภัย

คนทำงานฝึกการเดินกลับบ้านจากออฟฟิศในกรณีระบบขนส่งล่ม ครอบครัวฝึกแผนฉุกเฉินเมื่อสมาชิกแยกกันอยู่ สื่อสารกันผ่านระบบวิทยุหรือข้อความสั้น เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนรู้ว่า “จะเจอกันที่ไหน” และ “จะทำอะไร” ถ้าเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นมา

เราสามารถเริ่มได้ทันทีจากการตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเองว่า “บ้านของเราปลอดภัยแค่ไหน?” “ถ้าไฟดับ น้ำไม่ไหล โทรศัพท์ใช้ไม่ได้ เราจะทำอย่างไร?” “ถ้าลูกอยู่ที่โรงเรียน เราจะไปรับได้หรือไม่?” และ "เราเคยฝึกซ้อมอะไรร่วมกันบ้างหรือยัง?"

บทเรียนจากโตเกียวคือแนวคิด "ชีวิตต้องการการเตรียมตัวเสมอ" และ “ไม่มีใครปลอดภัยจริง จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” กรุงเทพฯ อาจไม่สามารถหยุดภัยพิบัติได้ สิ่งสำคัญคือเราสามารถลดการสูญเสียได้มหาศาล

หากยอมลงทุนในความรู้ วินัย และความร่วมมือ เพื่อเตรียมรับกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต.

กรุงเทพมหานคร กับแผ่นดินไหว: บทเรียนรับมือจากโตเกียว