“เมื่อเสียงข้างมาก กลายเป็นเสียงข้างน้อย”

“เมื่อเสียงข้างมาก กลายเป็นเสียงข้างน้อย”

ประชาชนจำนวนไม่น้อย กำลังต่อต้านเรื่องคาสิโน บางส่วนลงถนน บางส่วนล่ารายชื่อ บางส่วนเรียกร้องให้ส.ส. ฝ่ายค้าน ต่อสู้ให้เต็มที่

แต่เมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมากอย่างชัดเจน ฝ่ายค้านจะไปทำอะไรได้ ถึงเวลารัฐบาลก็ชนะโหวตแน่นอน แต่จะชนะใจประชาชนด้วยหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

วันนี้ผมมีเรื่องเล่า ที่ไม่เกี่ยวกับคาสิโนเลยสักนิดครับ

เมื่อปี 2017 ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีครั้งแรก พรรครีพับลิกันของเขามีเสียงข้างมากอยู่ในมือ คุมได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งแปลว่าจะโหวตอะไรก็ผ่านสบายๆอยู่แล้ว

เรื่องที่พรรครีพับลิกันหงุดหงิดมานาน ตั้งแต่สมัยที่เป็นฝ่ายค้านก็คือ “พระราชบัญญัติประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “Obamacare” ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2012 สมัยที่โอบาม่าเป็นประธานาธิบดี

ทรัมป์และพรรครีพับลิกัน ต้องการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ พวกเขามองว่ากฎหมายนี้เป็นภาระหนักของรัฐบาลกลาง และเป็นการบังคับให้คนอเมริกันต้องซื้อประกันสุขภาพ โดยไม่จำเป็น

ตอนที่เป็นฝ่ายค้าน เวลาโหวตทีไรก็แพ้ทุกที แต่พอปี 2017 เมื่อได้เป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก คุมทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา มันจะไปยากอะไรที่จะโหวตยกเลิกกฎหมาย Obamacare!

แถมยังเป็นการทำตามสัญญา “Repeal and Replace” ที่ทรัมป์เคยหาเสียงกับผู้สนับสนุนอีกด้วย คือพรรคจะ “ล้มล้าง” (Repeal) กฎหมายฉบับนี้ และออกกฎหมายใหม่มา“แทนที่” (Replace)

พรรครีพับลิกัน จึงได้นำเสนอร่างกฎหมายใหม่ชื่อว่า “American Health Care Act” (AHCA)เข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำมาใช้แทน Obamacare และเมื่อพรรครัฐบาลมีเสียงข้างมาก ก็ผ่านโหวตสภาผู้แทนราษฎรไปได้อย่างสบายๆ ในเดือนพฤษภาคม 2017

ผ่านสภาผู้แทนฯก็จริง แต่ไม่ผ่านหัวใจคนครับ เพราะประชาชนต่อต้านอย่างหนัก พอถึงขั้นต้องนำร่างฯกฎหมายเข้าสู่วุฒิสภา พรรครีพับลิกันจึงต้องขัดสีฉวีวรรณร่างกฎหมายนี้เสียใหม่ เพื่อให้ถูกใจประชาชนมากขึ้น

ด้วยการแปลงร่างกฎหมายของตนเองจาก AHCA เป็น “Better Care Reconciliation Act 2017” (BCRA) โดยพยายามรักษาบางส่วนของ Obamacare ไว้บ้าง เพื่อลดความรุนแรงในการต่อต้าน

ก็ไม่จบอยู่ดี เพราะประชาชนไม่ยอมรับ BCRA ครับ พวกเขารู้สึกว่ายอมไม่ได้จริงๆจึงใช้หลายวิธีในการกดดันสมาชิกวุฒิสภาเช่นประชาชนนับหมื่นๆรายโทรศัพท์เข้าไปที่ออฟฟิศของวุฒิสมาชิกและส่งจดหมายและอีเมลไปยังนักการเมืองพรรครัฐบาล ที่ยังลังเลว่าจะโหวตอย่างไร

นอกจากนั้น ยังจัดการชุมนุมตามสำนักงานของสมาชิกสภาคองเกรส และเข้าร่วมประชุมในทาวน์ฮอลล์ เพื่อตั้งคำถามกดดันนักการเมืองตรงๆ

ประชาชนบางส่วน พุ่งเป้าไปที่ สว. อาวุโสของพรรครัฐบาล ที่พวกเขาได้ลงคะแนนเสียงให้ในการเลือกตั้ง จนทำให้ สว. เหล่านั้นถูกกดดัน เพราะสังคมจับตาว่าพวกเขาจะโหวตอย่างไร

วุฒิสมาชิกหลายคนเล่าว่า โทรศัพท์ที่ออฟฟิศของพวกเขาดังไม่หยุด และทีมงานต้องทำงานหนัก เพื่อรับมือกับกระแสความไม่พอใจจากประชาชน

เจอเข้าแบบนี้ สว. ฝ่ายรัฐบาลก็สั่นสะเทือนสิครับ เพราะถูกประชาชนไล่บี้กดดันเป็นรายคน ต้องคอยตอบคำถามบ่อยๆว่า คุณคิดอย่างไรและจะโหวตอย่างไร?

วันที่ 28 กรกฎาคม 2017 ถึงเวลาโหวตครั้งสำคัญของวุฒิสภา พรรครัฐบาลต้องการเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านไปได้

แต่ความพลิกผันก็เกิดขึ้น เมื่อวุฒิสมาชิกอาวุโสของพรรคคือ “จอห์น แมคเคน” (John McCain) ซึ่งเคยเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามของพรรครีพับลิกัน กลับทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด

เขาลงคะแนนคัดค้าน พร้อมกับ สว. พรรครีพับลิกันอีกสองคนคือซูซาน คอลลินส์ (Susan Collins) และลิซ่า เมอร์คาวสกี (Lisa Murkowski) จนทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ พ่ายแพ้ไปด้วยคะแนนสูสี 49-51

จากเสียงข้างมาก กลายเป็นเสียงข้างน้อย แบบนี้ ถ้าเป็นบ้านเราคงพาดหัวข่าวว่า “งูเห่า” ขนาดยักษ์ปรากฏตัวในวุฒิสภา แต่ที่อเมริกาเขาไม่มีงูเงี้ยวออกมาเพ่นพ่านบ่อยๆ เหมือนบ้านเราหรอกครับ!

จังหวะที่แมคเคนชูนิ้วโป้งลงเป็นสัญลักษณ์ของการโหวต “No” นั้น เสียงถอนหายใจดังไปทั่ววุฒิสภา มันเป็นการประกาศว่าความพยายามของรีพับลิกันในการยกเลิก Obamacare ได้ล้มเหลวลงแล้ว

ที่ผมเล่ามานี้ แสดงให้เห็นว่าพลังของประชาชนมีความหมายมากกว่าที่ใครคาดคิดถ้าพวกเขาไม่ออกมาแสดงจุดยืน วุฒิสภาฟากรัฐบาลคงจะเดินหน้าผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปได้แล้ว

ถ้าคนไม่โทรศัพท์ หรือไม่ส่งจดหมาย หรือไม่ไปพบเพื่อกดดันสมาชิกวุฒิสภาของพรรครีพับลิกัน เมื่อถึงเวลาโหวต แมคเคนและสมาชิกพรรครีพับลิกันอีก 2 คน อาจจะไม่เปลี่ยนใจในการโหวตเลยก็ได้

แต่เพราะประชาชนลุกขึ้นมาประกาศดังๆว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก Obamacareนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ยังลังเล จึงต้องฟังเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

เรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญของประชาธิปไตย ที่สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมาก แต่สุดท้ายจริงๆถ้าประชาชนรวมตัวกัน ”พุ่งเป้า“ กดดันไปที่ สว. หรือ สส. ฝ่ายรัฐบาล ที่ประชาชนได้เลือกเข้ามา

ประชาชน ก็สามารถเปลี่ยนเกมของรัฐบาลได้ 

เห็นไหมว่าที่ผมเล่ามานี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องคาสิโนเลยสักนิด และก็ไม่ได้บอกให้ใครนำวิธีนี้ไปใช้ด้วยนะ

แต่จะสงวนสิทธิการนำไปใช้ก็ไม่ได้.… เพราะไม่ใช่สิทธิของผมครับ