แผ่นดินไหวเขย่าใจ

หากไม่เขียนเรื่องแผ่นดินไหวก็ดูจะไม่ทันสมัยและไม่ทันเหตุการณ์แต่ถ้าเขียนประเด็นซ้ำๆ กับที่คนอื่นเขียนหรือพูดถึงแล้วก็น่าเบื่อมาก
ดังนั้น ผมจะพยายามเขียนถึงสิ่งที่ไม่ซ้ำซากซึ่งเป็นสไตล์ของคอลัมน์นี้อยู่เเล้วครับ
ประการแรก แผ่นดินไหวเกิดจากผิวแผ่นดินของโลกที่ลอยตัวอยู่บนกึ่งของเหลวลึกใต้ผิวโลก
โดยเเผ่นเหล่านี้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาดังที่เรียกว่า Tectonic Plates (มีอยู่ 7 แผ่นใหญ่ และแผ่นเล็กอีกจำนวนมาก) เสียดสีกันหรือเบียดกันหรือดันกัน จนเกิดความเครียดและสะสมจนถึงระดับหนึ่งก็ปล่อยพลังงานออกมาแผ่เป็นคลื่นกระจายออกไปใต้ผืนดิน
สั่นสะเทือนไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีการปล่อยพลังงานออกมามากเพียงใด ได้เสียดสีกันแบบใด หินดินทรายที่คลื่นผ่านไปแต่ละบริเวณนั้นเป็นอย่างไร
จุดเกิดเหตุมักอยู่ในบริเวณรอยร้าวหรือรอยเเตกของผิวโลกที่อยู่ระหว่างแผ่น Tectonic ที่อยู่ติดกัน
ใครที่เคยดูคลิปเรือสำราญลำใหญ่เบียดกับท่าเรือหรือกับเรือใหญ่ด้วยกัน จะเห็นแรงมหาศาลหลังจากมันกระทบกันแล้วคลื่นเเตกกระจาย
สิ่งก่อสร้างพังพินาศ ลองคิดดูว่า Tectonic Plates นั้นใหญ่ขนาดทวีปอินเดีย หรือมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อมันเสียดสีกันจนเกิดความเครียดและปล่อยเป็นพลังงานออกมานั้นจะรุนแรงแค่ไหน
แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดเกิดเหตุอยู่ที่เมืองสะกาย (Sagaing) ใกล้เมือง Mandalay ของเมียนมา ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณรอยร้าวที่เรียกว่า Sagaing Fault ซึ่งอยู่ระหว่าง Tectonic สองแผ่นที่อยู่ติดกันคือ Indian Tectonic Plate กับ Sunda Plate
บริเวณนี้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บ่อยโดยในระหว่างปี 2473-2499 เกิดถึง 6 ครั้ง มีขนาดริกเกอร์สเกล 7 ในปี 2455 ขนาด 7.9 ในปี 2533 ขนาด 7.0 และครั้งนี้ขนาด 7.7
ประการที่สอง ขนาดของพลังงานที่ปลดปล่อยออกมานั้นเรียกหน่วยว่า ริกเกอร์สเกล ถ้าสเกลเพิ่มจาก 5 เป็น 6 ก็หมายถึงปล่อยพลังงานออกมาเป็น 32 เท่า และจาก 6 เป็น 7 ก็ปล่อยเพิ่มอีก 32 เท่า
ดังนั้น จาก 5 ถึง 7 จึงปล่อยเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1,000 เท่า สเกล 7 ปล่อยพลังงานออกมาใกล้เคียงกับระเบิดปรมาณูลูกที่ลงฮิโรชิมาซึ่งเท่ากับระเบิด TNT 32,000 ตัน
สเกลยิ่งสูงยิ่งเขย่าผิวโลกนานขึ้น รุนแรงขึ้นโดยจุดเกิดเหตุอยู่ที่ความตื้นไม่มากนักจากผิวโลก เช่น 10 กิโลเมตรในครั้งนี้ (เคยเกิดขึ้นที่ความลึกสุดถึง 751 กิโลเมตร หากลึกน้อยกว่า 70 กิโลเมตรถือว่าตื้น)
อย่างไรก็ดีขนาดใหญ่เช่น 7 ก็มิได้หมายความว่าจะมีผลในการทำลายล้างมากกว่า 5 เสมอไป มันขึ้นกับว่าจุดเกิดเหตุอยู่ใกล้บ้านเรือน ตึกสูง สิ่งก่อสร้าง และมีผู้คนหนาแน่นเพียงใด
ถ้าสเกลใหญ่แต่เกิดกลางป่าห่างไกลจากผู้คนอาจทำลายล้างไม่ได้มาก คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่ายิ่งสเกลใหญ่ยิ่งรุนแรงซึ่งก็ถูกต้อง แต่การทำลายล้างที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกันออกไปโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมากมายตามสเกลของมัน
ประการที่สาม 90% ของจำนวนแผ่นดินไหว (81% ของจำนวนแผ่นดินไหวเหล่านี้มักมีสเกลใหญ่) เกิดขึ้นในบริเวณที่เรียกว่า Ring of Fires คือ รอบมหาสมุทรแปซิฟิก
เช่น ในประเทศอเมริกาเหนือ เม็กซิโก คอสตาริกา ฯลฯ อเมริกาใต้ เช่น เปรู ชิลี อาเยนตินา ฯลฯ เอเชียตะวันออก เช่น รัสเซีย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร ฯลฯ ทะเลใต้ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ ฯลฯ
ประการที่สี่ ไทยโชคดีที่ไม่อยู่ตรงรอยแตก faults ที่ใกล้ที่สุดเราคือที่อยู่ทางตอนเหนือ เช่น เมียนมา อินเดียใต้ และเมื่อเกิดก็มีผลกระทบถึงเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา ฯลฯ เเละภาคอื่นๆ ที่อยู่ใกล้รอยแตก
ไทยมักไม่เป็นจุดเกิดเหตุและไม่ถูกกระทบมาก ยกเว้นกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่บนดินอ่อน เคยเป็นทะเลมาก่อน ดังนั้น คลื่นที่ส่งออกมาจากจุดเกิดเหตุจึงเขย่าพื้นดินได้รุนเเรง และเมื่อมีตึกสูงอยู่มากจึงรู้สึกถึงแรงเขย่าจากใต้ดินได้ชัดกว่าบริเวณอื่น
แผ่นดินไหวครั้งนี้ Mandalay เป็นจุดเกิดเหตุโดยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 1,200 กิโลเมตร และเชียงใหม่ 500 กิโลเมตร ดังนั้น โดยแท้จริงแล้วเชียงใหม่ได้รับความรุนแรงจากพลังงานที่ปล่อยออกมามากกว่า
ประการที่ห้า คนไทยรู้สึกหวาดหวั่นจากแผ่นดินไหวครั้งนี้มากกว่าทุกครั้ง เพราะเห็นตึกถล่มแบบสมบูรณ์แบบจนฝังใจ แถมบริการรถใต้ดินและบนดินหยุดจนกลับบ้านได้ลำบาก ถูก “โขก” หาประโยชน์จากวินมอเตอร์ไซค์และแท็กซี่อย่างเจ็บเเสบ
นอกจากนี้บางคนยังไม่สามารถกลับไปอยู่คอนโดได้ เพราะคอยการตรวจสอบ ฯลฯ หลายอย่างมันเขย่าใจจนเกิดความไม่เชื่อถือ หวาดระแวงการใช้อาคารไปหมด
ที่จริงคนไทยประสบแผ่นดินไหวร้ายแรงเมื่อ 11 ปีก่อนในปี 2557 ที่มีขนาด 6.0 ลึก 9 กิโลเมตร โดยจุดเกิดเหตุอยู่ในป่าของอำเภอแม่ลาว เชียงราย แต่ไม่มีผลกระทบมาก
อย่างไรก็ดี หลายจังหวัดภาคเหนือและกรุงเทพฯ รู้สึกถึงเเรงสะเทือนแต่ไม่มีตึกถล่ม และไม่กระทบระบบขนส่งสาธารณะ ผู้คนจึงลืมแผ่นดินไหวรุนแรงสุดที่มีการบันทึกที่เกิดบนแผ่นดินไทยเสียสิ้น
ก่อนหน้านั้นในปี 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ที่เชียงตุงซึ่งไกลจากเชียงราย 60 กิโลเมตร มีผลกระทบถึงเชียงรายและภาคเหนือหลายจังหวัด และกรุงเทพฯ ก็ถูกเขย่าเช่นเดียวกัน
ประการที่หก ใครที่อยู่คอนโดใหม่สร้างหลัง 2540 โดยเฉพาะหลัง 2550 และ 2557 อาจสบายใจขึ้นหากจะบอกว่า มีการออกกฎหมายบังคับให้การก่อสร้างอาคารต้องคำนึงถึงความแข็งแกร่งในการสู้กับแผ่นดินไหว ครั้งสุดท้ายในปี 2557 มีกฎออกมาเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานของความแข็งแรงของอาคารยิ่งขึ้น
เชื่อว่าภายในเวลาอันไม่นาน ความหวาดหวั่นอาคารสูงและอาคารอยู่อาศัยเเบบคอนโดจะค่อยลดลงไป แต่กว่าจะลดลงไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คอนโดจะตายกันไปอีกหลายราย
เช่นเดียวกับบริษัทก่อสร้าง ภาครัฐต้องรับผิดชอบให้ความเป็นปกติในใจเกิดขึ้นอย่างเร็ว เพราะมันมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในเรื่องความมั่นใจในความปลอดภัยเเละเมื่อคำนึงเรื่องลบอื่น ๆ
เช่น ฝุ่น PM2.5 ที่จะอาละวาดในช่วงฤดูร้อนนี้ ควบคู่ไปกับความหวาดกลัวในเรื่องการก่อการร้ายแล้ว ภาคการท่องเที่ยวของเราในสงกรานต์ ปีนี้ดูน่าหวาดหวั่นไม่น้อย.