ดิจิทัล Wallet จะนำภัยสู่วัยรุ่น

สงกรานต์ใกล้เข้ามาแล้ว นอกจากจะเป็นเทศกาลแห่งความชุ่มฉ่ำและเทศกาลของครอบครัวแล้ว ยังเป็นเทศกาลของอุบัติเหตุอีกด้วย
ขอให้ทุกท่านที่กลับไปเยี่ยมบ้านโปรดใช้ความระมัดระวังในการเดินทางนะคะ และขอให้มีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน บทความนี้ขออุทิศให้แก่ผู้ประสบอันตรายจากการใช้รถใช้ถนนทุกท่าน
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บภาวะพิการ ประจำองค์การอนามัยโลก (WHO) ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้คนไทย 1 คน ตายด้วยอุบัติเหตุทุกๆ 36 นาที พิการกว่า 1 คนทุกๆ ชั่วโมง
ทุกวันนี้ รัฐบาลห่วงแต่ว่าจะทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัว (จีดีพี) เพิ่มขึ้นอย่างไร โดยลดแหลกแจกแถมสารพัด แต่กลับปล่อยให้คนไทยตายด้วยอุบัติเหตุซึ่งคิดแล้วต้นทุนมหาศาล ไม่ใช่แค่ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ต้องคิดถึงรายได้ในอนาคตที่สูญเสียไป
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยบอกว่า วิธีการเพิ่มจีดีพีที่เร็วที่สุดก็คือการลดอุบัติเหตุ ธนาคารโลกเคยประเมินไว้ว่าจีดีพีของไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 22 หากเราสามารถลดการตายและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน
ในปี 2560 การสูญเสียรายได้จากการตายและการบาดเจ็บรวมกันมีมูลค่าสูงกว่า 120,000 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยอื่น ๆ ที่หลีกเลี่ยงได้ยากกว่า เช่น มะเร็ง และโรคอื่น ๆ ที่ต้องรับบริการ ER OR ICU และเตียงผู้ป่วยในกรณีอื่น ๆ อีกด้วย
สำหรับเยาวชนไทย เรามีปัญหาว่าเด็กเกิดน้อยเกินไป แต่เรากลับปล่อยให้เยาวชนตายอย่างง่ายๆ
การปล่อยให้เยาวชนที่เติบโตมาแล้วมีต้นทุนในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนซึ่งไม่ใช่แค่ต้นทุนของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นต้นทุนสาธารณะจากการให้การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งล้วนแต่มาจากภาษีประชาชน
หรือจะพูดให้เจ็บช้ำน้ำใจได้ว่า ปล่อยให้ตายแบบโง่ๆ คือปล่อยให้ตายเพราะไม่รู้ถึงอันตรายใกล้ตัว ไม่รู้ถึงวิธีสร้างพฤติกรรมที่ถูกต้อง
พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าของขวัญเช่นจักรยานยนต์ที่มอบให้ลูกอาจนำอันตรายมาให้กับลูก รวมทั้งไม่รู้ว่ากฎหมายของเรานั้นอาจสร้างมหันตภัยให้กับประชาชน
นโยบายรักษาความปลอดภัยของการใช้รถใช้ถนนของไทยในปัจจุบัน เน้นใช้กับบุคคลผู้ใช้รถใช้ถนน เช่น เมาสุราห้ามขับรถ บังคับให้คาดเข็มขัดนิรภัย จำกัดความเร็วและการบังคับสวมหมวกนิรภัยสำหรับจักรยานยนต์ เป็นต้น
ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ยังหย่อนยานและมีจุดอ่อนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านมาตรฐานความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์ของจักรยานยนต์
นอกจากนั้นยังมีกฎหมายในระดับรองคือกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านรัฐสภา มีข้อบังคับที่ทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนได้
แพทย์หญิงชไมพันธุ์ได้ยกตัวอย่างนโยบายดังต่อไปนี้
1.นโยบายที่เน้นความลื่นไหล (mobility) ที่ให้ความสำคัญกับความเร็วของยานยนต์มากกว่าความปลอดภัย
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2536 มีกฎหมายงดจดทะเบียนให้จักรยานยนต์ความเร็วต่ำ ในปี 2564 ก็ออกกฎมาอีกไม่ให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่า 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจดทะเบียน ด้วยเกรงว่าจะเป็นการกีดขวางการจราจร
ทั้งๆ ที่ในประเทศอารยะหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอียูต่างก็ให้มีรถไฟฟ้าความเร็วต่ำเพื่อให้ผู้ที่มีใบขับขี่ครั้งแรกใช้ขับ จนกว่าจะมีอายุที่มีวุฒิภาวะและประสบการณ์ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
2.เยาวชนไทยมีใบขับขี่เหมือนผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 15 ปี องค์การอนามัยโลกได้พยายามเสนอมาตั้งแต่ปี 2547 ให้มีการใช้ใบขับขี่ที่เป็นระดับขั้น (graduated license) สำหรับเยาวชน โดยมีเงื่อนไขต่างๆ ของการให้ใบขับขี่สำหรับเยาวชน
เช่น ห้ามซ้อนท้าย ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับ สามารถขับขี่ได้บนถนนที่กำหนดความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น
การศึกษาพบว่า ข้อกำหนดเหล่านี้สามารถลดอุบัติเหตุของผู้ใช้จักรยานยนต์ในช่วงอายุ 15- 9 ปีได้ถึงร้อยละ 36_40
ข้อเสนอแนะด้านนโยบายซึ่งเป็นผลพวงกับการสื่อสารกับภาคีเครือข่าย ได้แก่
ปลดล็อกรถจักรยานยนต์ 50 ซีซี และให้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความเร็วต่ำสามารถจดทะเบียนใช้ในเขตชุมชนได้ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ที่ปลอดภัยขึ้นสำหรับผู้ขับขี่มือใหม่
เข้มงวดตรวจสอบบังคับใช้กฎหมายให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ควรได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และผู้ที่มีใบขับขี่ที่อายุระหว่าง 15 - 18 ปีต้องมีใบขับขี่ที่มีเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งจำกัดความเร็วและประเภทของรถ
โดยให้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความเร็วต่ำเปิดให้มีพื้นที่ทดลอง (sand box) โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ และที่พร้อมสามารถดูแลเรื่องการใช้รถใช้ถนนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสภาพสังคม
ทั้งหมดนี้มาเกี่ยวข้องกับดิจิทัลวอลเล็ตที่ตรงไหน ก็ตรงที่อาจเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่ยังไม่พร้อมจะขับขี่รถจักรยานยนต์มีเงินไปวางเงินดาวน์เพื่อนำไปแว้นไปซิ่ง
ซึ่งหากผ่อนต่อไม่ได้ก็ปล่อยให้หลุดไป หรือเป็นการบังคับพ่อแม่ทางอ้อมให้ผ่อนต่อให้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นมาแล้วจากกรณีนโยบายรถคันแรก กลายเป็นนโยบายที่นำภัยร้ายมาให้กับเยาวชน
อย่างเช่นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีข่าวว่าแก๊งวัยรุ่นกวนเมือง ซึ่งมีพฤติกรรมรวมกลุ่มกันขี่มอเตอร์ไซค์แล้วรุมทำร้ายวัยรุ่นคู่อริ โดยไล่แทงเด็กวัยรุ่นจนเสียชีวิตที่ตลาดประตูเชียงใหม่ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพ่อค้า แม่ค้า และผู้ที่มาจ่ายตลาด
หากรัฐต้องการให้เด็กมีโอกาสได้รับเงินเหมือนคนอื่นบ้าง ก็ควรจะให้เป็นคูปองที่นำไปซื้อคอร์สการเรียนการสอนต่างๆ โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับทักษะให้เหมาะสมกับโลกยุคใหม่
การให้เงินตกอยู่ในมือเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ อาจจะนำไปดาวน์จักรยานยนต์ ซื้อน้ำกระท่อม ใบกัญชา เล่นการพนันหรือเกมออนไลน์ นอกจากจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว อาจทำให้เยาวชนและประเทศไทยในอนาคตมีแนวโน้มตกต่ำไปกว่าเดิม.