'บิ๊กป้อม' สานฝันนั่งนายกฯ 'ฟอกตัว' อิงกระแส ปชต.

'บิ๊กป้อม' สานฝันนั่งนายกฯ 'ฟอกตัว' อิงกระแส ปชต.

ใครที่เคยคิดว่า “บิ๊กป้อม” หรือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น “นายกรัฐมนตรี” ไกลเกินฝัน อาจต้องหันมาทบทวนความคิดกันแล้ว

เพราะนานวัน ใกล้เลือกตั้งเข้ามา เกมการเมือง “บิ๊กป้อม” ยิ่งดูแยบยล เป็นทางเลือก “ฝ่าวิกฤติ” การเมืองให้เห็นชัดขึ้น

โดยเฉพาะที่ชู สโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” พร้อมจับขั้วการเมืองกับทุกฝ่าย ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการของคนไทยส่วนใหญ่ที่เบื่อหน่ายความขัดแย้ง พอๆกับต้องการเปลี่ยนแปลง “รัฐบาล” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตรเป็นรองนายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะ จดหมายเปิดผนึกของ “บิ๊กป้อม” เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา วิเคราะห์และสังเคราะห์ “ความขัดแย้ง” ที่จำเป็นต้อง “ก้าวข้าม” ออกมาอย่างน่าสนใจ

โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม ซึ่งอาจมีจุดหมายปลายทางที่เหมือนกันคือ อยากเห็นความเจริญของชาติบ้านเมืองในที่สุด

แต่เส้นทางไปสู่ความเจริญของประเทศชาติ ไม่ตรงกัน และกลายเป็นความขัดแย้งที่บานปลายขึ้นทุกขณะในขณะนี้

เหตุเพราะกลุ่มแรก ที่เรียกว่า “กลุ่มอีลิต” หรือ กลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศชาติ ล้วนมองไปที่ “ความเป็นมา” และพฤติกรรม “ของนักการเมือง” ด้วยความไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่น

ความไม่เชื่อถือที่ว่านี้ นำไปสู่ความข้องใจใน “ประชาธิปไตย” และความรู้ความสามารถของ “ประชาชน” ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ

ขณะเดียวกัน ความไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่นดังกล่าว ก็ทำให้กลุ่ม “อีลิต” หรือผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศ เห็นดีเห็นงามกับการ “หยุดประชาธิปไตย” เพื่อ“ปฏิรูป” หรือ “ปฏิวัติ” กันใหม่ เพื่อหวังแก้ไขให้ดีขึ้น

“บิ๊กป้อม” ยอมรับในจดหมายเปิดผนึกว่า ในฐานะที่ตนรับราชการทหารและเติบโตในแวดวงทหาร แรกๆก็มีความคิดในลักษณะเดียวกับกลุ่ม “อีลิต” เหล่านี้

จนกระทั่งได้มาร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้รับรู้และสัมผัสกับประสบการณ์อีกด้านหนึ่ง ทำให้เข้าใจความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไทยไปด้วย“ระบอบประชาธิปไตย”

ทั้งยังชี้ให้เห็น จุดอ่อนกลุ่มอีลิต (ฝ่ายอำนาจนิยม)ว่า เป็นต้นตอความแตกแยกและขัดแย้ง กับ “ฝ่ายประชาธิปไตย” หรือ “เสรีนิยม”

 

โดยยอมรับว่า ความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายรุนแรงมาก เพราะแต่ละฝ่ายต้องการชัยชนะที่เด็ดขาด และ “ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ

ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอตัวเข้ามาแก้ความขัดแย้ง เพราะเข้าใจนักวิชาการอนุรักษนิยม และเข้าใจนัก “ประชาธิปไตยเสรีนิยม”

พร้อมทิ้งท้าย “ผมเชื่อมั่นว่าผมทำได้ หากประชาชนให้โอกาสผม”

ความจริง ถ้าใครติดตามอย่างใกล้ชิด ก็จะรู้ว่า จดหมายเปิดผนึก เปิดใจ “บิ๊กป้อม” ผ่านเพจเฟซบุ๊ก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)นั้น ไล่เรียงการ “ฟอกขาว” ตัวเองมาเป็นลำดับ เพื่อที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ว่า ไม่ใช่พวกเดียวกับ “คสช.” และไม่ได้มีรากเหง้า “รัฐประหาร” และไม่ได้เห็นด้วยทุกเรื่อง ส่วนกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังเป็นพี่น้องกันตลอดไป ยังเป็น “3ป. Forever”

 

เริ่มจาก ฉบับแรก เมื่อวันที่ 12 มกราคม 66 เนื้อหาหลัก พูดถึงที่มาของการสนับสนุน “น้องตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นมาเป็นฐานการเมือง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า ตัวเองมาจาก ผบ.ทบ.ที่เกษียณนานแล้ว และประสงค์ดีต่อบ้านเมืองเป็นหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับ คณะรัฐประหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์

รวมทั้งพูดถึง การแยกทางกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติว่า ยังคงความเป็นพี่น้อง 3ป. เหมือนเดิม ยังเป็น “3ป. Forever”

ฉบับที่สอง เผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 66 ประกาศ “ชูธง” ลดความขัดแย้ง พร้อมกับย้ำว่า เป็นนักการเมืองต้องรู้จักประนีประนอม พร้อมทั้งชู บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท ซึ่งเป็นที่มาของนโยบาย “ป้อม 700”

ฉบับที่ 3 เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 66  ให้เหตุผลว่า ทำไมต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง และพร้อมประสานทั้ง ฝ่าย อำนาจนิยม กับ ฝ่ายเสรีนิยม เพื่อหาจุดลงตัว ไม่ให้ความขัดแย้งเป็นอุปสรรคต่อบ้านเมือง โดยเสนอตัวเป็นผู้นำพาก้าวข้าม ถ้าประชาชนให้โอกาส

ฉบับที่ 4 เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 66 เป็นการตอกย้ำภารกิจ และจุดยืนทำหน้าที่ประสานฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย

ฉบับที่ 5 ชูก้าวสู่ “วิถีประชาธิปไตย” ถือว่า ฉบับนี้ตอกย้ำให้เห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนสองกลุ่ม ที่กล่าวมาแล้ว ก่อนจะสนับสนุน “เสรีประชาธิปไตย” อย่างสุดลิ่ม

“...ผมเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ ว่าการตัดสินว่า “ประชาชนไม่มีความสามารถในการเลือกคนดี มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้แทน” นั้น เป็น “ความคิดที่ไม่ถูก” เพราะมอง“การตัดสินใจเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบในโครงสร้างอำนาจแบบนี้ เพียงมุมเดียว” และเป็น “มุมมองที่ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกนึกคิดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ”

เมื่อชีวิตนักการเมืองของผมได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่สัมผัสการทำงานของนักการเมืองพื้นที่ต่างๆ ทั้งด้วยภารกิจราชการ เช่น การลงไปแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ และลงไปร่วมหาเสียง สร้างความนิยมให้สมาชิกพรรคในจังหวัดต่างๆ

ผมได้รับรู้ว่า การปลูกฝังสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนนั้นไปไกลแล้ว ทั้งที่ผ่านบทบาทของนักการเมืองส่วนกลาง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งกันทุกระดับทำให้กลับมาย้อนมองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ทำไม“พรรคที่สนับสนุนอำนาจนิยม” จึงพ่ายแพ้ต่อ “พรรคที่เดินในแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม” ทุกครั้ง

เหมือนไม่มีหนทางในชัยชนะอยู่เลย แม้ว่า “ฝ่ายอำนาจนิยม” จะสร้างกติกา และแต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาควบคุมกลไก เพื่อให้เอื้อต่อชัยชนะของฝ่ายตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตายแค่ไหนก็ตาม เพราะความพ่ายแพ้นั้นเกิดจาก “อำนาจนิยม”

แม้จะครองใจคนบางกลุ่มได้ แต่ห่างไกลอย่างยิ่งต่อความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นในชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ และด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความเป็นจริงในชีวิตคนส่วนใหญ่ ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองของตนอย่างที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดความเชื่ออย่างหนักแน่นในใจว่า

“ในเส้นทางการบริหารจัดการประเทศ ไม่มีหนทางอื่นนอกจากมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในระบอบประชาธิปไตย เคารพการตัดสินของประชาชนส่วนใหญ่” เท่านั้น...”

นอกจากนี้ “บิ๊กป้อม” ยังไม่ลืมที่จะเสนอตัวเป็น “โซ่ข้อกลาง”

“...ด้วยประสบการณ์ที่เรียนรู้ และรับทราบถึงเจตนาดีต่อประเทศของคนกลุ่มที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า “มีความรู้ความสามารถ” และยังคง “มีอิทธิพลกำหนดความเป็นไปของประเทศ” ทำให้ผมเกิดความเสียดาย และคิดว่า การหาทางประสานให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาประเทศ ย่อมเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง และความคิดนี้เอง เป็นที่มาของความมุ่งมั่น “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ของตน...”

ฉบับนี้เอง เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร เลือกที่จะเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” และนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง อันตรงข้ามกับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ อย่างสิ้นเชิง

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ บันไดแต่ละขั้นในการก้าวสานฝันไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่สักแต่ว่า อาศัย “ต้นทุน” ส.ว. 250 เสียง ซึ่งยังมีสิทธิ์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ภายในเวลา 5 ปีถ้ามองในมุมเดิมที่เชื่อว่า ส.ว.คือ คนของ “3 ป.” เป็นส่วนใหญ่

นั่นหมายความว่า ถ้า ป.หนึ่ง ป.ใด ได้รับการเสนอชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี” ส.ว.ส่วนใหญ่ ก็อาจเทเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกฯ เว้นเสียแต่ คนใน “3 ป.” แข่งกันเอง กรณี“บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม”

ที่สำคัญต่อมา “เกม” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ยังสร้าง “จุดขาย” ทางการเมืองเพื่อเป็น “ทางเลือก” บนความ “ขัดแย้งแตกแยก” ด้วย

ยิ่งกว่านั้น ยัง “แยบยล” ในการหาเหตุผลมาอธิบาย การเปลี่ยนขั้ว “จัดตั้งรัฐบาล” ได้ไม่ยาก หากต้องจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับ “ขั้วพรรคฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะกับ “พรรคเพื่อไทย” ที่มีกระแสข่าว “ดีลลับ” หรือ “ดีลพิเศษ” มาก่อน

ต่างกับ“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกประทับตรา “ผู้นำ” ฝ่ายอนุรักษ์ หรือ “อำนาจนิยม” ที่มาจากการ “รัฐประหาร” จนไม่มีทางลบล้างได้ แม้ว่าจะเข้าสู่การเมืองอาชีพแล้วก็ตาม

แม้แต่ “พรรคเพื่อไทย” ที่ “ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์” จี้ ให้ประกาศออกมาอย่างชัดเจน ว่าจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ จนวันนี้ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบาย และมีผลเสียมากว่าผลดี นั่นเอง

เพราะอย่าลืม พรรคเพื่อไทย ประกาศตัวอย่างทะนงตนมาตลอดว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย และจะไม่ร่วมสังฆกรรม หรือ จับมือ “จัดตั้งรัฐบาล” กับพรรคฝ่ายเผด็จการ ซึ่งก็คือ พรรคที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน รวมถึง “พรรคพลังประชารัฐ”

ดังนั้น “พรรคเพื่อไทย” จึงต้องสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยประกาศ “จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว” ปลุกกระแสชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย มากกว่า 251 เสียง โดยไม่ยอมรับคำท้า “จตุพร” ที่ให้ประกาศตัวอย่างชัดเจนไปเลยว่า จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

นอกจากนั้น “เกม” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ยังอ่านขาด “ผลการเลือกตั้ง” ที่จะออกมา ด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเอื้อให้กับตน มีอำนาจต่อรองสูง

ยกเว้นสองกรณี หนึ่ง พรรคเพื่อไทย ชนะ “แลนด์สไลด์” จริงๆ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ซึ่งยากมาก เพราะไม่มีกระแสรองรับขนาดนั้นในเวลานี้

สอง พรรคพลังประชาชารัฐ ได้ที่นั่งส.ส.น้อยกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ และ “ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน” มีที่นั่งส.ส.เข้ามามากกว่าฝ่ายค้าน จนจับมือกันตั้งรัฐบาลได้ โดย “คู่แข่ง” แคนดิเดตนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ซึ่ง“เงื่อนไข” ยังมีอีกว่า ถ้าพรรคภูมิใจ ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 1 ในฝ่ายขั้วอำนาจปัจจุบัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย จะยอมเสียสละให้หรือไม่? ถ้าไม่ยอม ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือ ภูมิใจไทย อาจเปลี่ยนไปจับขั้วรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ถ้าต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้ดีกว่า หรือไม่

และต้องไม่ลืม กระแสข่าวก่อนหน้านี้ ที่ว่า 3 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย” มีโอกาสจับมือจัดตั้งรัฐบาล โดยอาจมีเหตุผล “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” หรือรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติ ก็ว่าไป สิ่งที่จะต่อรอง ก็มีแค่ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เท่านั้น ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า กรณีนี้ “พล.อ.ประวิตร” มีอำนาจต่อรองสูง ตรงที่มี “ส.ว.” อยู่ในมือ

 

หรือหาก “เพื่อไทย” มี “แคนดิเดตนายกฯ” ที่เหมาะสมกว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ก็อาจต่อรองตำแหน่งรองลงมา

ทั้งนี้ ถ้าดูจาก “จดหมายเปิดผนึก” ที่อ้างว่า ยอมรับการตัดสินใจของประชาชน และเชื่อมั่นใน “ประชาธิปไตย” การดื้อดึง ยึดมั่นใน “อำนาจต่อรอง” ก็อาจไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้เพราะถ้าเชื่อมั่นเสียงประชาชน ก็ต้องยอมรับ พรรคที่มีเสียงอันดับหนึ่ง มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล และได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี?

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร “เกม” หลังเลือกตั้งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่เห็นได้ชัดในวันนี้ คือ การฟอกตัวเองของ “บิ๊กป้อม” และพร้อมเป็น “ผู้นำ” ก้าวข้ามความขัดแย้ง เรียบร้อย ส่วนจะสานฝันนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ ฟอกตัวขนาดนี้แล้ว ย่อมตั้งความหวังเอาไว้สูง?

เหนืออื่นใด อย่าลืม พรรคการเมืองส่วนใหญ่ “อยากเป็นรัฐบาล” ไม่ยอม “อดอยากปากแห้ง” ก็อาจยิ่งเข้าทาง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร “นายกฯเหล้าเก่าในขวดใหม่” ก็ไม่แน่เหมือนกัน!?