'สามก๊ก' ก้าวไกล วัดใจ 'มวลชน' ฝ่าด่านขวาจัด

'สามก๊ก' ก้าวไกล  วัดใจ 'มวลชน' ฝ่าด่านขวาจัด

สงครามแย่งชิงมวลชน พิธา ฝ่าด่านอนุรักษนิยมไม่ง่าย พรรคอันดับสองเดินเกมลับรอส้มหล่น ก้าวไกลจึงเร่งสร้างเครือข่ายปักธงความคิด พรรคของมวลชน

ส่องทัพก้าวไกล พิธา ตัวชูโรงเลี้ยงกระแส ตรึงมวลชน ธนาธร และผองเพื่อนลุยหลังม่าน ปิยบุตร ถอดบทเรียนพรรคการเมืองใหม่ในยุโรป 

แม้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย จะผูกขาติดกัน เดินหน้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย 8 พรรค หนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระหว่างทางเจอทั้งด่านหุ้นสื่อ และด่าน ส.ว. มีแนวโน้มฝ่าข้ามไปไม่ได้

เหมือนจะอ่านสถานการณ์ทะลุ แกนนำพรรคก้าวไกล จึงให้สำนักงานสาขาพรรคทั่วประเทศ เร่งการประชุมขยายเครือข่าย เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างพรรคของมวลชน

\'สามก๊ก\' ก้าวไกล  วัดใจ \'มวลชน\' ฝ่าด่านขวาจัด

ดังนั้น จังหวะก้าวของพรรคสีส้มในห้วงยามเปลี่ยนผ่านประเทศไทย คงต้องมองไปที่ตัวละครหลัก 3 คนคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล , ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า 

\'สามก๊ก\' ก้าวไกล  วัดใจ \'มวลชน\' ฝ่าด่านขวาจัด

ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 พรรคก้าวไกล มีแต้มเหนือพรรคเพื่อไทย เพียง 10 ที่นั่ง ไม่ใช่หลักประกันแห่งชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพราะคนเพื่อไทย มีอุดมการณ์ทางการเมืองอยู่คนละขั้วกับก้าวไกล

เซเลบแซ่ลิ้ม

ในชั่วโมงนี้ ไม่ว่า พิธา จะย่างก้าวไปทางไหน หยิบจับอะไรเป็นกระแสไปหมด พูดถึงสุราชุมชน เหล้าชาวบ้านก็ขายเกลี้ยง ไปร่วมขบวนพาเหรดบางกอก ไพรด์ 2023 คนมาร่วมเดินนับหมื่น แต่กระนั้น ก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ปลุกกระแสต่อต้าน

อย่างเช่นกรณีพรรคก้าวไกล ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา พิธา ตอบคำถามสื่อในประเด็นนี้แบบง่ายๆว่า “..ลิ้มเจริญรัตน์ ผมก็แซ่ลิ้ม ดังนั้น ต้องดูแลความใกล้ชิดกับจีน และต้องหาสมดุลกับอเมริกาเช่นกัน”

หลายคนอาจลืมไปว่า ทิม พิธา เคยไปเรียนปริญญาโท 2 ใบที่สหรัฐฯ คือ ปริญญาโทด้านการเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และด้านบริหารธุรกิจที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

ระหว่างนั้น ทิม พิธา ได้นำประสบการณ์ช่วงเรียนหนังสือ มาเขียนในคอลัมน์ “จดหมายจากฮาร์วาร์ด” ในนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ตั้งแต่เดือน ม.ค.2553 ถึงเดือน ส.ค.2554 ก่อนที่จะนำข้อเขียนในคอลัมน์ดังกล่าว มารวมเล่มในชื่อ “ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2555

พิธา ได้บอกเล่าเรื่องราวการเรียนที่ฮาร์วาร์ด มีทั้งเรื่องราวที่ได้เจอกับผู้นำทางการเมืองและธุรกิจ อย่างบารัก โอบามา, บิล คลินตัน และแจ็ค เวลช์ 

\'สามก๊ก\' ก้าวไกล  วัดใจ \'มวลชน\' ฝ่าด่านขวาจัด

ในมุมการเมือง พิธา เป็นหลานชาย ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ ฉายา บุรุษผมสีดอกเลา เงาติดตามตัวทักษิณ ชินวัตร ในยุคไทยรักไทยเฟื่องฟู 

ปลายปี 2544 ทักษิณตั้งบุรุษผมสีดอกเลา ผดุงเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ผดุงจึงส่งพิธาไปทำงานในทีมของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น

พิธาได้ฝึกงานการเมืองช่วงสั้นๆ กับพรรคไทยรักไทย ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ แล้วกลับมาฟื้นฟูธุรกิจของครอบครัว ก่อนจะเข้าสู่การเมืองเต็มตัวเมื่อปี 2562

คอนเนกชั่นคนแซ่จึง

เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรุ่นพี่ของพิธา มีประสบการณ์ทางการเมืองเชี่ยวกรำกว่า เพราะตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ มีคอนเนกชั่นกับกลุ่มชนชั้นนำมายาวนาน

แรกที่ ธนาธร ตั้งพรรคอนาคตใหม่ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนักว่า ไม่เห็นด้วยที่ลูกชายจะเล่นการเมือง แต่ห้ามไม่ได้ เธอกังวลมากในตอนนั้น แต่ก็มีผู้ใหญ่ที่เคารพหลายคนจากหลายแวดวงทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ ปลอบว่าไม่ต้องห่วง เมื่อลูกมาขนาดนี้ถือว่าอยู่ในสายตาของประชาชนแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะมาเล่นในทางที่ไม่ถูกต้อง

พัฒนา แซ่จึง หรือจึงรุ่งเรืองกิจ ได้แต่งงานกับสมพร แยกตัวออกไปสร้างอาณาจักรของตัวเองคือบริษัทไทยซัมมิทโอโตพาร์ทกรุ๊ป 

\'สามก๊ก\' ก้าวไกล  วัดใจ \'มวลชน\' ฝ่าด่านขวาจัด

ช่วงปี 2535-2539 พัฒนาชอบเล่นกอล์ฟ และมักออกรอบตีกอล์ฟกับก๊วนพรรคชาติไทย และพรรคกิจสังคม จึงมีข่าวกอสซิปในหน้า นสพ.หัวสี ว่า เสี่ยหมึก มนตรี พงษ์พานิช ชักชวนให้พัฒนาเล่นการเมือง แต่ข่าวนั้นก็เงียบหายไป กระทั่ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายของพัฒนาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรมรัฐบาลชวน 2 ในโควตาพรรคกิจสังคม

ปี 2545 พัฒนาเสียชีวิต สมพรจึงเป็นแม่ทัพใหญ่ดูแลกิจการและมอบให้ธนาธร ลูกชายคนโตเข้ามาบริหารด้านการผลิตทั้งหมด ซึ่งเอก ธนาธร ได้เข้ามาแบกรับธุรกิจของครอบครัวในยุคการเมือง 3.0 ซึ่งมีทักษิณ ชินวัตร เป็นโมเดลการเมืองใหม่ 

ก่อนหน้านั้น ธนาธร ในบทบาทแอ็กติวิสต์หัวก้าวหน้า หลังเรียนจบได้เข้าช่วยเพื่อนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนในกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP) ฉะนั้น ตอนที่ธนาธร คิดจะทำพรรคการเมือง จึงมีชื่อพรรคสามัญชน เป็นตัวเลือกแรกๆ

ภายหลัง มิตรสหายหลายรุ่นเห็นพ้องกันว่า ควรตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มีฐานมวลชนกว้างกว่าพรรคสามัญชน ทายาทตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ จึงลุยปั้นพรรคสีส้ม

ต้มยำความคิดก้าวหน้า

หากใครจะสรุปว่า พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล คือพรรคฝ่ายซ้าย อาจเป็นการพุ่งเป้าไปที่ตัวอาจารย์ป๊อก-ปิยบุตร แสงกนกกุล มากเกินไป 

ปิยบุตรก็เป็นคนหนึ่งในกลุ่มแกนนำพรรคสีส้มยุคแรกๆ ที่มีความคิดหลากหลายเฉดสี และปิยบุตร ก็น่าจะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนใจธนาธร ให้มาทำพรรคอนาคตใหม่ ดีกว่าไปปั้นพรรคสามัญชน

\'สามก๊ก\' ก้าวไกล  วัดใจ \'มวลชน\' ฝ่าด่านขวาจัด

สำหรับการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ปิยบุตรยอมรับว่า มันถูกชี้นำด้วยทฤษฎีการเมือง และการประเมินสภาพสังคมไทยอย่างรอบด้าน

“ผมได้นำเอาความคิดของปรัชญาเมธีในโลกตะวันตกหลายคน เช่น อันโตนิโอ กรัมชี่, เออร์เนสโต้ ลาคลาว, ช็องตาล มูฟฟ์ หรือย้อนกลับไปไกลเสียหน่อย ก็คือ เลนิน และทร็อตสกี้ เป็นต้น รวมไปถึงนำเอาแนวทางการก่อตั้งพรรคใหม่ๆ ในยุโรปและละตินอเมริกา ที่รับอิทธิพลจากทฤษฎีของลาคลาวและมูฟฟ์ มาประยุกต์ใช้”

ฉะนั้น พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล จึงไม่ใช่พรรคฝ่ายซ้ายแบบเดิมๆ อย่างที่เข้าใจกัน โดยมีพรรคโปเดมอส ในสเปน ,พรรคซีริซ่า ในกรีซ และพรรคลาฟรองซ์ แอ็งซูมิส ในฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ

ปิยบุตรมีแผนจะเขียนหนังสือชื่อ “ปฏิวัติพลเมือง” เริ่มจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เกิดการชุมนุมของกลุ่มราษฎร จนมาถึงพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง และสถานการณ์ต่อไปที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญ

เอก ธนาธร มีต้นทุนจากตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีคอนเนกชั่นกับชนชั้นนำ ทิม พิธา มาถูกที่ถูกเวลากับภาพลักษณ์ผู้นำยุค Gen Z และป๊อก ปิยบุตร ผู้ช่ำชองทฤษฎีการเมือง ทั้งสามคนหลอมรวมเป็นเครื่องจักรสีส้ม ที่น่ากลัวของฝ่ายอนุรักษนิยม