'ทักษิณ' ขวาใหม่ นั่งบนภูดู 'ก้าวไกล' ชนกำแพงเก่า
สุดท้ายที่ด่าน ส.ว. ส่องอนาคต “พิธา” ว่าที่นายกฯในฝันของด้อมส้ม หลัง กกต.หลบพายุใหญ่ เดินหน้ารับรอง ส.ส. เข้าสู่โหมดเลือกประธานสภาและเลือกนายกรัฐมนตรี
จับตาเดือน ก.ค.นี้ “ทักษิณ” จะกลับบ้าน ช่วงสถานการณ์ร้อน เมื่อ 250 ส.ว.เผชิญหน้าด้อมส้ม ที่จะแสดงพลังหนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ
ปมหุ้นไอทีวีของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลายเป็นหนังเรื่องยาว หลัง กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องที่มีนักร้อง 3 เคยร้องเอาไว้ โดยขอลงมือไต่สวนเอง เพราะมีข้อมูลนำสืบได้ว่า พิธารู้อยู่ว่ามีลักษณะต้องห้าม ยังลงรับสมัคร ส.ส. อิงตามมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
อย่างไรก็ตาม การไต่สวนเรื่องหุ้นไอทีวีของพิธา ยังต้องใช้เวลาอีกนาน และกรณีที่ กกต.ได้รับหลัก ฐานใหม่ที่เชื่อถือได้ กกต.สามารถวินิจฉัยยุติเรื่อง ไม่มีการดำเนินคดีอาญา หรือไม่ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เฉพาะหน้า กกต.จึงจะประกาศผลรับรอง ส.ส.ทั้งสองระบบไปก่อน คาดว่า กกต.จะรับรอง ส.ส.ได้ครบร้อยละ 95 ภายในวันที่ 28 มิ.ย.2566 จากนั้น ก็เป็นคิวเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และตามมาด้วยที่ประชุมร่วมรัฐสภา โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น ช่วงก่อนที่จะถึงวันเปิดประชุมรัฐสภา คงจะมีการเคลื่อนไหวของมวลชน ทั้งฝ่ายกองเชียร์พิธา และกองหนุน 250 ส.ว. ออกมาแสดงพลัง ซึ่งได้มีการทำกิจกรรมให้เห็นกันบ้างแล้วทั้งสองฝั่งสีส้ม-สีเหลือง
บังเอิญว่า ทักษิณได้วางแผนจะกลับสู่มาตภูมิในห้วงเวลานั้นพอดี ทักษิณ อาจเป็นผู้เล่นคนสำคัญของการเมืองประเทศไทย หากก้าวไกลไม่ผ่านด่านสภาสูง
ล่าสุด คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เพิ่งออกมาส่งสัญญาณว่า ไม่อยากให้ทักษิณกลับบ้านช่วงนี้ เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ดูเหมือนว่า คนแดนไกลก็ยังตั้งใจว่าจะกลับไทยในช่วงก่อนวันเกิด ครบรอบ 74 ปี
นายใหญ่เอียงขวา
ดังที่ทราบกัน ทักษิณ ชินวัตร ยืนยันจะกลับเมืองไทย ผ่านรายการคุยแหลก แดกดึก ของ มดดำ-คชาภา ตันเจริญ ซึ่งหากตามแผนการของทักษิณ น่าจะกลับถึงไทยตรงกับช่วงเปิดประชุมสภาชุดใหม่
ในมุมของนักวิชาการที่เชียร์พรรคก้าวไกล จะประเมินว่า ทักษิณ เป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ และมีแนวคิดเอียงไปทางฝั่งอนุรักษนิยม ไม่ได้เป็นเสรีนิยมก้าวหน้า เหมือนแกนนำพรรคก้าวไกล
ฉะนั้น การดึงดันจะกลับไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า คนแดนไกลจะกลับบ้าน คงมีแผนการบางอย่าง ที่เกี่ยวกับ “ดีลลับข้ามขั้ว” หรือไม่
ในแคร์ทอล์ค ผ่านแอพคลับเฮ้าส โทนี่ วู้ดซั่ม หรือทักษิณ ชินวัตร ได้ตอบคำถามเรื่องสู้ไปกราบไป อยู่หลายครั้ง อย่างเช่นเมื่อ 16 พ.ค.2566 ทักษิณ พูดว่า กราบไปคืออะไร การเคารพสถาบันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว จุดยืนของพรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร คือเราเคารพรักสถาบันทักษิณหรือโทนี่
“สมมติว่าพรรคเพื่อไทย ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล สิ่งไหนที่พรรคก้าวไกลจะทำ ซึ่งคิดว่าไม่ทำนะ ทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนสถาบันฯ เราก็คงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว..เราไม่ใช่ขวาจัดตกขอบ ไม่ใช่ แต่เราเป็นคนไทย เราเคารพสถาบันฯ เท่านั้นเอง ชัดเจน ไม่มีบิดพลิ้ว”
ว่ากันว่า คนรุ่นใหม่ในเพื่อไทยรู้สึกอึดอัดกับวิธีคิดของทักษิณ แต่ก็ไม่กล้าวิพากษ์ วิจารณ์มากนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในพรรคสีแดง ยังเป็นนักเลือกตั้งอาชีพที่ยึดโยงอยู่กับการเมืองเก่า
หักด่านประธานสภา
ก่อนที่ พิธา จะก้าวเข้าสู่เกมชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ต้องผ่านเกมชิงเก้าอี้ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะต้องขึ้นมาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย
ชั่วโมงนี้ เกมชิงเก้าอี้ประธานสภาล่าง ในทางการเมืองถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะประธานสภา เป็นคนกุมเกมการเมือง ผ่านการขับเคลื่อนงานของฝ่ายนิติบัญญัติ
ก่อนหน้านั้น พรรคเพื่อไทยประกาศขอจองเก้าอี้ประธานสภา ด้วยเหตุผลที่ว่า มีจำนวน ส.ส.น้อยกว่าพรรคก้าวไกล เพียง 10 เสียง และพรรคก้าวไกล ไม่ได้เสียงข้างมากแบบว่าเกิน 250 เสียง
เมื่อก้าวไกลได้เบอร์หนึ่งฝ่ายบริหารไปแล้ว เพื่อไทยก็ควรได้เป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อของพรรคร่วมรัฐบาลมีความราบรื่น แต่ก้าวไกลก็ขอจองเก้าอี้ประธานสภาเหมือนกัน
มาถึงวันนี้ แกนนำก้าวไกลและเพื่อไทย ก็ยังไม่ได้เจรจาจนได้ข้อยุติ เพียงแต่ทอดเวลาออกไป เพื่อรอ กกต.รับรอง ส.ส.ทั้งสองระบบให้ครบเสียก่อน
ด่านเลือกประธานสภา จะเป็นเกมวัดใจของก้าวไกลและเพื่อไทย ว่าจะไปต่อกันได้หรือไม่ หากแกนนำสองพรรคหาบทสรุปไม่ได้ และปล่อยให้มีฟรีโหวตเลือกประธานสภา ก็ชัดเจนว่า จะมีปรากฏการณ์โหวตข้ามขั้ว และอาจไปไกลถึงรัฐบาลพลิกขั้ว ถ้าพิธาผ่าด่าน ส.ว.ไม่สำเร็จ
ระยะนี้ จึงมีคนปล่อยชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นตัวเต็งประธานสภา เพื่อกู้วิกฤตบ้านเมือง
สงครามข่าวไอทีวี
กรณี พิธา ถือครองหุ้นไอทีวี มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดประเด็นเรื่องการโอนหุ้นไอทีวีให้ทายาทเมื่อปลายเดือน พ.ค.2566 เพราะรู้ว่า กำลังมีขบวนการคืนชีพไอทีวีให้กลับมาทำกิจการสื่อ เพื่อเล่นงานตนเอง
สัปดาห์นี้ สื่อบางสำนักทำข่าวเจาะเกี่ยวกับไอทีวี และได้เผยแพร่คลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่จัดประชุมขึ้นเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เนื้อหาในคลิปวีดีโอไม่ตรงกับบันทึกการประชุมในเอกสารที่มีผู้ร้องยื่นต่อ กกต.ไปก่อนหน้านี้
ประเด็นร้อนเรื่องนี้ กลายเป็นคำถามว่า ไอทีวียังทำกิจการสื่ออยู่หรือไม่ เนื่องจากฝ่ายหนึ่งอ้างบันทึกในการประชุมผู้ถือหุ้นว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการสื่อ แต่ในคลิประบุว่า จะดำเนินกิจการสื่อ หลังข้อพิพาทของไอทีวีกับสำนักนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว
พรรคก้าวไกลจึงหยิบฉวยเรื่องนี้มาขยายผล สรุปว่าการคืนชีพไอทีวี เป็นขบวนการทำลายพิธา ของกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มทุนใหญ่
ผู้ที่ลอยตัวอยู่เหนือความขัดแย้งเรื่องหุ้นไอทีวีคือ พรรคเพื่อไทย เฉพาะทักษิณ คงนั่งอยู่บนภูดูพรรคก้าวไกล ชนเครือข่ายอำนาจเก่า ก่อนจะตัดสินใจครั้งสุดท้ายว่า จะบินกลับเมืองไทยหรือปักหลักอยู่ในต่างแดนต่อไป