เสียการเมือง-เสียการทูต!

เสียการเมือง-เสียการทูต!

"ข้อเสนอของ รมว.กต. เรื่องเมียนมา ถือว่า ผิดเวลา-ผิดมารยาท อย่างยิ่ง การกระทำเช่นนี้ทำให้สถานะด้านการต่างประเทศของไทยต้องตกต่ำลงไปอีก จนกลายเป็นอาการ เสียการเมือง-เสียการทูต”.. สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความในหัวข้อ "เสียการเมือง-เสียการทูต!" ผ่านคอลัมภ์ประจำในสื่อเครือเนชั่น ระบุว่า

บทบาทของไทยในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ในเมียนมา เป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาโดยตลอด เพราะท่าทีไทยดูจะไม่เอื้อไปในทางที่จะช่วยแก้ปัญหา แต่กลับถูกมองว่าเอื้อให้กับรัฐบาลทหารเมียนมามากกว่า

สภาวะเช่นนี้ ส่งผลให้สถานะทางการทูตของไทยตกต่ำลงอย่างมาก

ฉะนั้น เมื่อเกิดความพยายามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งมีสถานะทางการเมืองหลังการเลือกตั้งว่าเป็น “รัฐมนตรีรักษาการ” ตัดสินใจเดินงานการทูตในแบบที่สร้างความฉงนสนเท่ห์ ให้แก่วงการทูตอาเซียนอย่างมาก ด้วยการเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เข้ามาเปิดประชุมในไทยเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเมียนมา ในวันที่ 18-19 มิถุนายน จึงทำให้ไทยตกเป็นเป้าของการวิจารณ์อีกครั้ง

เสียการเมือง-เสียการทูต!

การดำเนินการทางการทูตในลักษณะเช่นนี้ อาจจะต้องถือว่า เป็นการ “ผิดเวลาทางการเมือง” อย่างมาก เพราะสถานะของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังที่กล่าวแล้วว่า เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ที่รอเวลาของการเข้ามารับหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ อีกทั้งรัฐบาลเดิมก็ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ชนะเลือกตั้ง ที่จะมีนัยถึงการได้เป็นรัฐบาลในอนาคต ถ้าเช่นนี้แล้ว “รัฐมนตรีรักษาการ” จะเปิดเวทีทางการทูตครั้งนี้เพื่ออะไร

ความพยายามที่จะเปิดเวทีการทูตของไทยในครั้งนี้ จึงมีความไม่เหมาะสม อย่างมากที่จะดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ซึ่งถ้า “ที่ปรึกษารัฐมนตรี” ต้องวิเคราะห์สถานการณ์แล้ว ก็ตอบได้ไม่ยากว่า โอกาสที่รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียน จะตอบรับคำเชิญของรัฐมนตรีต่างประเทศไทย สำหรับการประชุมในครั้งนี้ คงมีไม่มาก แม้อาจจะมีบางประเทศตอบรับ แต่โอกาสจะสร้างความสำเร็จในทางการทูต ก็ดูจะมีไม่มากนักเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คำตอบทางการเมืองในเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ ใครจะอยากมาเจอกับรัฐมนตรีที่กำลัง “เก็บของกลับบ้าน”… วันนี้ผู้นำในภูมิภาคคงรออยากเห็นหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ และรอฟังแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย เพราะผลการเลือกตั้งเป็นคำตอบในตัวเองที่ชัดเจนว่า สถานะของรัฐบาลเก่าได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

 

ในอีกด้านของปัญหาที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในเวทีภูมิภาค คือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำทหารไทยกับผู้นำทหารเมียนมา ในระดับรัฐบาลนั้น บ่งบอกถึง “ความเห็นอกเห็นใจ” อันเป็นผลของ “ความสัมพันธ์แบบทหารต่อทหาร” ที่เกิดขึ้น จนเกิดความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นแบบ “แอบให้ใจ” นอกจากนี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า ความใกล้ชิดระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย ที่เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารกับผู้นำรัฐประหารเมียนมาปัจจุบันนั้น เป็นความแนบแน่นที่ผ่านบทบาทของความเหมือนกันในการยึดอำนาจ

เสียการเมือง-เสียการทูต!

การเปิดเวทีในครั้งนี้จึงถูกตีความว่า เป็นความพยายามของไทย ที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้แก่รัฐบาลทหารของเมียนมา ที่ถูกกดดันจากเวทีอาเซียนมาโดยตลอด

 

และไทยเล่นบทเป็น “ช่องระบาย” แรงกดดันทางการเมืองที่เกิดขึ้น ให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา จนทำให้หลายฝ่ายกังวลกับท่าทีทางการทูตเช่นนี้อย่างมากว่า รัฐมนตรีของไทยพยายามที่จะมีบทบาทเอง โดยไม่เดินไปพร้อมกับข้อมติของอาเซียนหรือไม่

 

ผลตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ไม่ตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เพราะข้อริเริ่มของไทยขัดแย้งกับมติของการประชุมอาเซียน เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

 

อีกทั้ง การปฏิเสธของอินโดนีเซียเช่นนี้ อาจอธิบายได้ว่า อาเซียนเองดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็น ที่จะต้องมาเปิดเวทีใหม่ตามที่รัฐมนตรีไทยเสนอ

นอกจากนี้ ในทางการทูตก็คือ การบอกว่าเวทีประชุมในไทยไม่มีประโยชน์อะไร เพราะ ผู้นำทหารเมียนมาเอง ก็ไม่ได้มีท่าทีตอบสนองต่อความพยายาม ในการลดระดับของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศแต่อย่างใด และต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ความรุนแรงจากการใช้กำลังของฝ่ายรัฐมีมากขึ้นด้วย

สภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการประเมินว่า ถ้าวันนี้ไม่มีสงครามยูเครน ที่โลกตะวันตกต้องเข้าไปมีบทบาทอย่างมากแล้ว แรงกดดันของตะวันตก ต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารเมียนมาจะมีมากขึ้น และเรื่องเมียนมาจะเป็นประเด็นใหญ่กว่านี้ในเวทีการเมืองโลกอย่างแน่นอน

ว่าที่จริงแล้ว ผู้นำอาเซียนหลายประเทศ พยายามอย่างมากที่หาทางยุติปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงของการใช้กำลังปราบปรามในเมียนมา นับตั้งแต่เกิดการประท้วงใหญ่หลังรัฐประหารในปี 2021 ที่ผ่านมา แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะ “ข้อมติ 5 ประการ” ของอาเซียนที่ออกมาจากเวทีการประชุมของชาติสมาชิกนั้น ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้แต่ประการใด 

ดังนั้น ความพยายามของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่จะ “ฉีกตัวเอง” ออกไปมีบทบาทใหม่ ในภาวะที่การเมืองภายในเอง กำลังถึงเวลาของการเปลี่ยนรัฐบาลนั้น น่าจะไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ และควรจะปล่อยให้บทบาทเช่นนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่มากกว่า การเตรียมจัดเวทีประชุมของไทยครั้งนี้ จึงต้องถือว่าเป็นความริเริ่มที่ “ผิดเวลา” อย่างมาก

ความพยายามเช่นนี้ในทางการทูตเอง ก็อาจต้องถือว่าเป็นการ “ผิดมารยาท” อย่างมากเช่นกัน เพราะผู้นำไทยควรจะต้องมีการปรึกษาหารือเพื่อให้เกิด “เอกภาพอาเซียน” ในการแก้ไขวิกฤตเมียนมา ซึ่งการกระทำของไทยแบบเอกเทศเช่นนี้ อาจจะไม่เอื้อให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้จริง และไทยอาจถูกมองจากผู้นำอาเซียนว่า เรากลายเป็น “ตัวปัญหา” อีกแบบที่คอยแอบช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาอยู่ลับหลัง

ข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศ เรื่องเมียนมาครั้งนี้ จึงสรุปได้ว่า “ผิดเวลา-ผิดมารยาท” อย่างยิ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ การกระทำเช่นนี้ทำให้สถานะด้านการต่างประเทศของไทยต้องตกต่ำลงไปอีก จนกลายเป็นอาการ “เสียการเมือง-เสียการทูต” ไปทั้งคู่อย่างไม่น่าจะเกิดขึ้น ทั้งที่ตัวรัฐมนตรีเองก็เป็นนักการทูตระดับสูง และผ่านงานการเมือง-การทูตมาก่อนในหลายเวที!