ในอุ้งมือ 'เพื่อนเฉลิมชัย' ปชป. 'สะตอบ้านใหญ่' ผงาด
ผ่าองค์กร ‘เพื่อนเฉลิมชัย’ ยึดพรรค ปชป. เบ็ดเสร็จ แปรสภาพเป็นกองกำลัง ‘สะตอบ้านใหญ่’ ไม่ต่างจากภูมิใจไทย หรือพลังประชารัฐ
บริบทการเมืองภาคใต้เปลี่ยน สิ้นตำนานพรรคของเรา เสาไฟฟ้าและสะตอสามัคคี ‘ชวน-บัญญัติ’ ถูกท้าทายโดยสามสหาย ‘ต่อ-ชาย-แทน’
นักรัฐศาสตร์ยุคสงครามเย็น คงไม่มีใครเชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ ปชป. ที่เคยรุ่งเรืองในภาคใต้ สมัยรัฐบาลเปรม ต่อเนื่องมาถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ จะตกต่ำ จนถึงขั้นสูญเสียการนำพรรคให้กับ ‘นักเลือกตั้งบ้านใหญ่’
นี่คือพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ 3 สหายคือ ต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค , นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค และแทน-ชัยชนะ เดชเดโช
ถ้านับเอา จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่ 15 ของภาคใต้ พรรค ปชป. ที่มีเสี่ยต่อ-เฉลิมชัย เป็นหัวหน้าพรรค ก็ไม่ต่างจากกลุ่มสะตอสามัคคีในอดีต เพียง แต่ปัจจุบัน ควรใช้คำว่า ‘กลุ่มสะตอบ้านใหญ่’ น่าจะถูกต้องที่สุด
อย่างรองหัวหน้าพรรค ก็มีทั้ง ประมวล พงษ์ถาวราเดช สส.ประจวบฯและมนตรี ปาน้อยนนท์ อดีต สส.ประจวบฯ มือกระบี่คู่กายเสี่ยต่อ
ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา , อภิชาต ศักดิเศรษฐ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช และ นริศ ขำนุรักษ์ อดีต สส.พัทลุง
เลขาธิการพรรค เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา ส่วนทีมรองเลขาธิการ ก็สายใต้เกือบยกแผง สุพัชรี ธรรมเพชร สส.พัทลุง, สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.ตรัง, สมยศ พลายด้วง สส.สงขลา, กันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ อดีต สส.กระบี่ และจักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์ สส.ประจวบฯ
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะจำนวน สส.กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย 21 คน มี สส.ภาคใต้มากถึง 16 คน บวกอีก สส.ประจวบฯ 2 คน รวมแล้ว 18 คน
สะตอบ้านใหญ่
‘สะตอสามัคคี’ วลีทางการเมืองที่เรียกขาน สส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ ช่วงรัฐบาลเปรม ตั้งแต่ปี 2523-2531
เนื่องจาก สส.ใต้ ในยุคนั้น มีตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเปรมหลายคน อาทิ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, วีระ มุสิกพงศ์, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์
เหนืออื่นใด กลุ่มสะตอสามัคคี เป็นแกนหลักใน ปชป. ที่สนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้ง 3 สมัย
สิ้นยุคป๋าเปรม ชวน หลีกภัย ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ปชป. และนำพาพรรคสู้ศึกในการเลือกตั้งปี 2535 ชูสโลแกนหาเสียง พ.ศ.นั้นว่า ‘60 ปี ประชาธิปไตย เลือกชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี’ และครั้งนั้น ปชป.กวาด สส.ใต้มาได้เป็นอันดับ 1
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 กระแสนายชวนมาแรงสุดๆ บวกกับวาทกรรมพรรคเทพ-พรรคมาร จึงทำให้พรรค ปชป. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
นับจากนั้นเป็นต้นมา สโลแกนพรรคของเรา คนของเรา จึงอยู่ในใจคนใต้มาโดยตลอด จวบจนถึงยุคการเมืองเหลือง-แดง และกปปส.
การเลือกตั้งปี 2562 บริบทการเมืองภาคใต้เปลี่ยน พฤติกรรมการเลือก สส.ของคนใต้ก็ไม่เหมือนเดิม สส.เสาไฟฟ้า ไม่มีแล้ว และคำว่า ‘สส.บ้านใหญ่’ ก็เข้ามาแทนที่
สมรภูมิภาคใต้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนภาพการเมืองบ้านใหญ่ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะพรรค ปชป.
ยกตัวอย่าง จ.ตรัง มี สส. 4 คน ปรากฏว่า สส.ปชป. 2 คน และ สส.พลังประชารัฐ 1 คน สังกัดกลุ่มบ้านใหญ่โกหนอ ส่วน สส.รวมไทยสร้างชาติ 1 คนก็เป็นเครือข่ายบ้านใหญ่ทรงไทย
บ้านใหญ่สงขลา
ว่ากันว่า เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา 2 สมัย นี่แหละเป็นเสนาธิการของกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย ที่วางแผนยึดพรรค ปชป. ด้วยการหามแห่เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนที่ 9
เดชอิศม์ ขาวทอง หรือชื่อเดิม วรวิทย์ ขาวทอง เกิดที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เริ่มเล่นการเมืองท้องถิ่น เป็น สจ.สงขลา เขต อ.รัตภูมิ และนายก อบจ.สงขลา ผู้คนจึงเรียก “นายกชาย” กันติดปากจนถึงทุกวันนี้
สมัยเดชอิศม์ เป็น สจ.สงขลา ก็เป็นหัวคะแนนให้ ถาวร เสนเนียม สมัยที่เป็นสส.สงขลา พรรค ปชป.
เลือกตั้งปี 2548 เดชอิศม์ ขอลงสมัคร สส.สงขลา ในสีเสื้อพรรค ปชป. แต่ไม่มีที่ว่าง เดชอิศม์สวมเสื้อพรรคไทยรักไทย ลงสนามสงขลา เขต 5 แต่ก็พ่าย ประพร เอกอุรุ พรรค ปชป.
เดชอิศม์ ลงสมัครนายก อบจ.สงขลา อีก 2 ครั้ง แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน จึงหันไปธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เปิดสนามชนโค และสนามมวย
เลือกตั้งปี 2562 เดชอิศม์ลงสมัคร สส.สงขลา ในสีเสื้อพรรค ปชป. โดยการสนับสนุนของถาวร เสนเนียม และในที่สุด นายกชายก็ได้เป็น สส.สมัยแรก
จริงๆแล้ว นายกชายหรือเดชอิศม์ ได้เรียนรู้เรื่องการเมือง-ธุรกิจ มาจากจองชัย เที่ยงธรรม จึงมีเพื่อนพ้องในยุทธจักรมากหน้า ไม่ว่าจะเป็นชาดา ไทยเศรษฐ์ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
ปัจจุบัน ซุ้มบ้านใหญ่สงขลา มี สส.สงขลา 5 คน ประกอบด้วย เดชอิศม์ ขาวทอง, สุภาพร กำเนิดผล, ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง, สมยศ พลายด้วง และ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่
บ้านใหญ่เมืองคอน
ขุนพลใต้ของเสี่ยต่อ เฉลิมชัย อีกคนหนึ่งคือ แทน-ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช 2 สมัย เป็นลูกชายของ วิฑูรย์ เดชเดโช อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช และ กนกพร เดชเดโช นายก อบจ.นครศรีธรรมราช
ตระกูลเดชเดโช ถือว่าเป็นบ้านใหญ่ อ.ร่อนพิบูลย์ และเป็นเครือญาติกับชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช
วิฑูรย์ เดชเดโช เป็นนายก อบจ.นครศรีธรรมราช สมัยแรก ด้วยการสนับสนุนของ สส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. อย่าง ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ และชิณวรณ์ บุณยเกียรติ
หลังวิฑูรย์เสียชีวิต ก็มีลูกชาย-ชัยชนะ เดชเดโช สืบทอดมรดกการเมืองท้องถิ่น โดยเริ่มจากเป็น ส.อบจ.นครศรีธรรมราช เขต อ.ร่อนพิบูลย์ และเป็น สส.นครศรีธรรมราช เขต 6 (ร่อนพิบูลย์ ลานสกา ช้างกลาง และนาบอน)
ปลายปี 2563 สส.แทน ชัยชนะ วางแผนส่งมารดา-กนกพร เดชเดโช ลงสมัครนายก อบจ.นครศรีธรรมราช และด้วยกลยุทธ์บ้านใหญ่ใจถึง ประสานเครือข่าย สส.แทน กนกพรจึงคว้าชัยไปได้สบายๆ
สไตล์คนใต้ใจนักเลง น่าจะเป็นเครื่องหมายการค้าของ สส.แทน ชัยชนะ แม้จะเป็น สส.พรรษาแรก ก็กลายเป็นแม่ทัพใหญ่ ปชป.เมืองคอน
ซุ้มเมืองคอน 6 คน ประกอบด้วย ชัยชนะ เดชเดโช, พิทักษ์เดช เดชเดโช, ทรงศักดิ์ มุสิกอง, ยุทธการ รัตนมาศ, อวยพรศรี เชาวลิต และราชิต สุดพุ่ม
ชัยชนะของกลุ่มสะตอบ้านใหญ่ ทั้งในสมรภูมิสงขลา และนครศรีธรรมราช ถูกนำไปเปรียบเทียบกับความพ่ายแพ้ของกลุ่มสะตอสามัคคี ในสนามสุราษฏร์ ธานี และพังงา จึงทำให้นักเลือกตั้งอย่าง เดชอิศม์-ชัยชนะ คิดการใหญ่ยึดพรรคเก่าแก่ที่มีอายุ 77 ปี