จับตา 'ส้มเข้ม VS ส้มอ่อน' ต้องเลือกบนทางสองแพร่ง
ในที่สุดก็เป็นไปตาม “กูรู” กฎหมายส่วนใหญ่วิเคราะห์เอาไว้ ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยเกินขอบเขตที่ผู้ร้อง ขอให้วินิจฉัย คือ ให้หยุดการกระทำ แม้ไม่อาจชี้ชัดว่า หยุดแค่ไหน อย่างไร ซึ่งไม่ถึงขั้น “ยุบพรรค” ที่เกินเลยคำร้อง
กระนั้น มติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง(นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล) เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องเลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
ก็นับว่า สร้างผลสะเทือนเลื่อนลั่น ราวกับ “อาฟเตอร์ช็อก” หลังเกิด “แผ่นดินไหว” และนี่ต่างหากที่จะเป็นตัวกำหนดแนวอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกลในอนาคต ว่า จะ “ส้มเข้ม” เหมือนเดิม หรือ “ส้มอ่อน” เพื่อที่จะอยู่ใน “ลู่” การเมืองเดียวกันของพรรคการเมืองทั้งหมด คือ ไม่แตะ ม.112 อีกต่อไป?
ไม่เพียงเท่านั้น ผลของคำวินิจฉัยข้างต้น ยังอาจนำไปสู่ การร้อง กกต.ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยุบพรรคก้าวไกล และเอาผิดจริยธรรมร้ายแรง พรรคก้าวไกล และส.ส.44 คนของพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 ด้วย
โดยนอกจาก นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครองฯ แล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ไปยื่นคำร้อง
สำหรับนายธีรยุทธ ยื่นคำร้องต่อ “กกต.”(1ก.พ.67) ขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
และตามพ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า เมื่อกกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการ(1)
กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
นอกจากนี้ นายธีรยุทธ ยังไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และส.ส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 รวมถึงนายพิธา ด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่า จะเหมือนกับกรณีของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ซึ่ง โทษหนักถึงขั้นถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต
นั่นหมายถึง ถ้าผลเป็นไปตามคำร้อง “ยุบพรรค” และคำร้อง เอาผิดจริยธรรมร้ายแรง ก็เท่ากับว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล จะมีทั้ง กรรมการบริหารพรรค ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี (กรณียุบพรรค) และส.ส.44 คน ที่ผิดจริยธรรมร้ายแรง ถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต
แค่นี้ก็เห็นชัดแล้วว่า พรรคก้าวไกล กระทบหนักแค่ไหน จากการยึดติดยกเลิกและแก้ไข ป.อาญา ม.112 นี่ยังไม่นับ อาจมีการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไปขยายผลร้องเอาผิดตามกฎหมายอื่นที่หนักขึ้นไปอีกหรือไม่
นอกจากนี้ การลบนโยบายหาเสียง เกี่ยวกับมาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล ก็มีกระแสสองด้านเกิดขึ้น ด้านหนึ่งมองว่า พรรคก้าวไกล กลัวเกินไป อีกด้าน เห็นด้วย เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมาอีก
ทั้งนี้ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า เนื่องจากฝ่ายกฎหมายเห็นว่า เป็นประเด็นสำคัญ ที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบขึ้นมาวินิจฉัย ดังนั้นถ้ายังมีนโยบายเรื่องนี้อยู่บนเว็บไซต์ อาจนำไปเป็นบทสรุปเรื่องการล้มล้างการปกครอง ซึ่งจริงๆ เราไม่คิดว่าจะเป็นประเด็น หรือสาระสำคัญ
และนั่น ไม่ใช่สิ่งที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เห็นด้วย
“ปิยบุตร” โพสต์ความเห็นลงใน เพจเฟซบุ๊ก : Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล กรณีก้าวไกล นำนโยบายแก้ไข ป.อาญา มาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรค ว่า
“ทำไมแหยและหงออย่างนี้ ในคำวินิจฉัยไม่ได้สั่งให้เอาออกเลย และต่อให้เอาออก แล้วยังไง ศาลก็วินิจฉัยไปแล้ว ตกลงพรรคก้าวไกลจะร่วมสร้างบรรยากาศความกลัวให้กับสังคมในเรื่องนี้ด้วยหรือ
ในช่วงยามแบบนี้ แทนที่จะพยายามหาวิธีการประคับประคองเรื่องเสรีภาพ และยืนบนหลักให้ได้ แต่กลับช่วยกันขีดวงเสรีภาพให้หดแคบลง ถ้าจะเดินแบบนี้ คุณถอยตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลไปเลยดีกว่าครับ ถ้าบทจะยุบ จะตัดสิทธิ ขึ้นมาจริง ๆ ต่อให้เอานโยบายออกจากเว็บ เขาก็ยุบ เขาก็ตัดสิทธิอยู่ดี เฮ้อ”
“ปิยบุตร” ระบุ หากอ่านจากคำบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งดังนี้ หนึ่ง สั่งการให้พรรคก้าวไกลและพิธา เลิกแสดงความเห็น เพื่อให้มีการยกเลิก 112 สอง ไม่ให้มีการแก้ไข 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ คำนี้น่าจะอนุมานจากคำวินิจฉัยนี้ได้ว่า ห้ามแก้ใน 3 ประเด็นที่ศาลบอกว่าเป็นการล้มล้างฯ ได้แก่ ห้ามย้ายหมวด, ห้ามกำหนดเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ, ห้ามกำหนดให้ยอมความได้ และห้ามกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ
“ตรงไหนที่ศาลสั่งให้เอานโยบายออกจากเว็บครับ คำบังคับข้อหนึ่ง คือ การห้ามแสดงออกเพื่อยกเลิก 112 ครับ แน่นอนไม่มีใครมั่นใจ 100 % หรอก เพราะปากกาอยู่ที่ศาล แต่ในฐานะพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนเรื่องนี้ ผมคิดว่าต้องหาจุดสมดุลประคับประคองไปให้ได้ ไม่ควรออกอาการกลัว ลนลาน ขนาดนี้”
“ปิยบุตร” ระบุด้วยว่า มิเช่นนั้น ถ้าจะทำ ก็แถลงสาธารณะไปเลยว่าต้องทำเพราะกลัวโดนยุบพรรค โดนจริยธรรม ขอให้เข้าใจด้วย ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าเขาจะยุบ จะตัด ต่อให้ลบออกหมด เขาก็ยุบได้ และเมื่อไรที่กลับมาทำเรื่องพรรค์นี้อีก ก็โดนอยู่ดี เว้นแต่จะประกาศให้พวกเขารู้ว่าพร้อมจะเป็นเด็กดีของระบอบแล้ว”
สำหรับ “ปิยบุตร” ต้องยอมรับว่า เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อพรรคอนาคตใหม่อย่างสูง จนกระทั่งถูกยุบพรรค และส.ส.ส่วนใหญ่ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล ก็ยังสานต่ออุดมการณ์พรรคอนาคตใหม่
ดังนั้นอุดมการณ์ที่เห็นชัดของ “ปิยบุตร” ที่ส่งผ่านมาถึงพรรคก้าวไกลในเวลานี้ก็คือ “การปฏิรูปสถาบันฯ” และเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย การยกเลิก หรือ แก้ไข ป.อาญา ม.112 มีความจำเป็น
อย่าลืมว่า ในช่วงเตรียมการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 “ปิยบุตร” เคยแสดงออกถึงความไม่สบอารมณ์ ที่พรรคก้าวไกล ไม่ “พยายาม” ที่จะผลักดันแก้ไข ป.อาญา ม.112 มาก่อน
โดยโพสต์เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล (26 พ.ย. 65) ประเด็น “พรรคก้าวไกลกับการแก้ 112”
ระบุว่า “…พรรคก้าวไกลเสนอแก้ 112 แต่ประธานสภาวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพราะมีเหตุยกเว้นความผิด จึงไม่บรรจุเข้าสภา เรื่องนี้ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่พรรคก้าวไกลไม่ทำอะไรต่อ นอกจากเอาไปเป็นนโยบายพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า
การไม่ทำอะไรเลยในช่วงเวลาเกือบปี แล้วป่าวประกาศว่า พรรคก้าวไกล เสนอร่างแก้ 112 แล้วนะ แต่ติดที่ประธานสภา เอาเข้าจริง จะไม่ต่างอะไรกับการไม่ทำอะไรเลย และจะทำให้สังคมและพรรคอื่นๆ คิดไปว่า พรรคก้าวไกล เสนอแก้ 112 โดยไม่หวังผลสำเร็จ แต่ทำไปเพื่อรักษาคะแนนคนรุ่นใหม่ ให้ได้ชื่อว่า “กูทำแล้วนะ”
สุดท้าย การเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ 112 ของพรรคก้าวไกล หวังผลสำเร็จ หวังการผลักดันเข้าสภาจริงๆ หรือ หวัง “ได้แต้ม” ทางการเมืองกันแน่? ณ เวลานี้ ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า ไม่ว่าจะยกเลิก 112 หรือแก้ใหญ่ 112 อย่างไรก็ติดล็อกที่ประธานสภา ในขณะที่ไม่มีพรรคใดที่จะเสนอแก้ 112 เลย นอกจากพรรคก้าวไกล แล้วทำไมพรรคก้าวไกลไม่คิดทำอะไรต่อ
ในเมื่อร่างยกเลิก 112 หรือร่างแก้ใหญ่ 112 แบบที่พรรคก้าวไกลเสนอ ไม่มีทางได้เข้าสภา (เว้นแต่ในอนาคต พรรคก้าวไกลเป็นเสียงข้างมาก เป็นประธานสภา ซึ่งไม่รู้เมื่อไร) ทำไมพรรคก้าวไกลไม่ยอมเสนอร่างแก้ 112 ใหม่เข้าไป ปรับแก้ตามที่ประธานสภาวินิจฉัย (ตัดเหตุยกเว้นความผิดออก) ให้เป็นร่างที่พอจะเข้าสภาได้ เพื่อเปิดประตูสภาแห่งนี้ให้พิจารณาเรื่อง 112 สักที แล้วชี้แจงประชาชนให้เข้าใจว่า ทำไปเพราะอะไร
การเสนอร่างแก้ 112 แล้วติดล็อก และไม่คิดทำอะไรต่อ ในท้ายที่สุด จะกลายเป็นการเล่นเกมการเมือง หาคะแนน ให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าพรรคก้าวไกลได้ทำแล้ว แต่ติดปัญหาที่ผู้อื่น ทำให้ทำไม่ได้ สุดท้ายไม่เกิดมรรคผลใด เป็นการ “ปลดเปลื้อง” ภาระที่พรรคแบกไว้ว่า “เออ น้องๆ เยาวชน กูทำแล้วนะ แต่ทำไม่ได้”
ตกลงอยากแก้ 112 จริงๆ หรือเอามาเป็นเครื่องมือการหาคะแนนเสียงกันแน่?...”
จากโพสต์นี้เอง นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่าง “พิธา” กับ “ปิยบุตร” พร้อมวลีเด็ดโต้ตอบซึ่งกันและกัน ฝ่าย “พิธา” กล่าวหา “ปิยบุตร” ว่า “มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ” ฝ่าย “ปิยบุตร” โต้ “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้ผม”
ก่อนที่คนกลางจะมาเคลียร์ใจ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อแนวทางต่อสู้ และจบลงแค่ข้ามคืน
ขณะที่มีการวิเคราะห์จากศาสดา “3 นิ้ว” บางคน ชี้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากเกิด “สองแนวทางต่อสู้” ขึ้น ในพรรคก้าวไกล แนวทางหนึ่งเข้มข้นด้วยอุดมการณ์ แบบ “ส้มเข้ม” อีกแนวทาง เป็นแบบ “ส้มอ่อน” ประนีประนอมเพื่อไปสู่เป้าหมาย และแน่นอน จนถึงวันนี้ทั้งสองแนวทางก็ยังคงอยู่ในพรรคก้าวไกล ไม่เช่นนั้น ความเห็นของ “ปิยบุตร” คงไม่ออกมาเช่นนี้
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ โอกาสที่พรรคก้าวไกลจะถูก “ยุบ” ในอนาคตอันใกล้มีความเป็นไปได้สูง นั่นหมายถึง “คณะกรรมการบริหารพรรค” ชุดที่มี “พิธา” เป็นหัวหน้าพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี และต้องลุ้นด้วยว่า 44 ส.ส.(อาจเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย)ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไข ป.อาญา ม.112 จะผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งโทษหนักถึงขั้นถูกตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต
แน่นอน, พรรคก้าวไกลที่เหลืออยู่ นอกจากจะถูกตัดกำลังไปไม่น้อย และหลายคนมีบทบาทสูง ทั้งยังเป็น “แม่เหล็ก”ของพรรค อาจถือว่า เป็นมวยที่กองเชียร์เยอะ แต่กระดูกคนละเบอร์กับคู่ต่อสู้ และเป็นรองอย่างมาก ทั้งยังไม่รู้ว่าจะเชียร์ขึ้นหรือไม่
พูดให้ชัดก็คือ ส.ส. “ส้มเข้ม” ของพรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ในกรรมการบริหารพรรค และร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไข ป.อาญา ม.112 มีโอกาสออกมาเป็น “กองเชียร์”(เหมือนปิยบุตร) มากกว่า “ผู้เล่น”(ส.ส.ในสภาฯ) ยิ่งถ้ายึดหลักการทำงานแบบ “ส้มอ่อน” หรือ “ถนอมเนื้อถนอมตัว” เพื่ออยู่รอดในสภาฯ โอกาสที่เชียร์ไม่ขึ้น และมีทางเลือกในการต่อสู้ของตัวเองในทางการเมือง ที่ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ “ส้มเข้ม” อีกต่อไป ก็เป็นไปได้เช่นกัน
สำคัญไปกว่านั้น ส.ส.ก้าวไกล หลัง “ยุบพรรค” จะอยู่บนทาง “สองแพร่ง” ที่ต้องตัดสินใจเลือกเดิน ระหว่างยึดมั่นในอุดมการณ์อดีตพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล(ส้มเข้ม) หรือ ลดเพดาน “เป้าหมาย” ลงมา เพื่อให้ทำงานในรัฐสภาได้ผล(ส้มอ่อน) แต่ยังคงวัตถุประสงค์ “สร้างการเมืองใหม่” โดย “คนรุ่นใหม่” เพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และเปลี่ยนประเทศ
เพียงแต่มีราคาที่ต้องจ่ายแพง เพราะต้องสูญเสีย “ด้อมส้ม” สายอุดมการณ์จัดไปจำนวนมาก และยอมเสียคนกับ “ด้อม 3 นิ้ว” ที่ร่วมต่อสู้ในแนวทางอุดมการณ์เดียวกันมา
เว้นเสียแต่ทุกคนจะเข้าใจ และรับได้ว่า นี่ไม่ใช่ความต้องการของ “ก้าวไกล” ที่จะเป็นเช่นนี้ แต่มันคือแผ่นดินไหวทางการเมืองที่เกิดกับก้าวไกล และ “อาฟเตอร์ช็อก” ก็สาหัสเกินบรรยาย “ก้าวไกล” จึงจะมีกระแสนิยมแบบก้าวกระโดดในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจถึงขั้นเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองก็เป็นได้
หรือไม่ ก็ยังคงอุดมการณ์อย่างเข้าข้นเหมือนเดิม โดยส.ส. และกรรมการบริหารพรรคที่หลุดไปเป็น ผู้สนับสนุน ช่วยสร้างกระแส “เรียกคะแนนเห็นใจ” จนอาจพลิกขึ้นมาเกิดใหม่ และแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็เป็นได้เช่นกัน? กรณีพรรคการเมืองที่มีอยู่ไม่มีทางเลือกให้กับคนส่วนใหญ่?
ทั้งหมดจึงน่าสนใจ และน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง!