พลังบวก “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ภารกิจสู้ “ก้าวไกล-เครือข่าย”
หากใครติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจอย่างใกล้ชิด จะเข้าใจสิ่งที่ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการระดับหัวแถวที่หนุนขบวนการ “3 นิ้ว” อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri
ระบุว่า “พี่ชาย แล้วก้อน้องสาว ละครจบแล้วครับ ศึกเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง จำเป็นต้องสร้างเรื่องใหม่ สร้างศัตรูใหม่ สร้างเสื้อสีใหม่”
หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเป็นเอกฉันท์ 9:0 พิพากษายกฟ้อง คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 6 คน จัดอีเวนต์โรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย งบ 240 ล้านบาท พร้อมสั่งเพิกถอนหมายจับ
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า “ปู-ยิ่งลักษณ์” จะเดินทางกลับประเทศไทย ตามรอย “พี่ชาย” ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษในปัจจุบัน
เพียงแต่ยังไม่รู้ว่า “เงื่อนไขกลับไทย” ของ “ยิ่งลักษณ์” อยู่ใน “ดีล” เดียวกับ “ทักษิณ” หรือไม่
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น “ยิ่งลักษณ์” รอดคดีใหญ่ๆมาแล้วเกือบทั้งหมด
นับย้อนไปจากล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” ด้วยมติเอกฉันท์ พร้อมถอนหมายจับในคดีโรดโชว์สร้างอนาคตประเทศไทย 240 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ ก็ยกฟ้องคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช.โดยไม่เป็นธรรม
หลังจากคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาฯ พิพากษาโดยมติเป็นเอกฉันท์จำคุกเป็นเวลา 5 ปี ไม่รอลงอาญา ตั้งแต่ 27 ก.ย.2560
ที่เหลือค้างหนึ่งเดียวในชั้น ป.ป.ช. มีคดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้กับเอกชน และคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวน
นอกจากนี้ หาก “ยิ่งลักษณ์” จะเดินทางกลับไทย เพื่อมารับโทษ ตามรอย “ทักษิณ” นักวิเคราะห์การเมืองแทบทุกสำนัก เชื่อว่า จะต้องมีการขอพระราชทานอภัยโทษ โทษจำคุก 5 ปี เช่นเดียวกับ “ทักษิณ” โดยอาศัยคุณงามความดีที่เคยทำประโยชน์ให้กับประเทศ
ประเด็นจึงถูกจับตามอง ว่า “ยิ่งลักษณ์” จะยอมติดคุกจริงหรือไม่ หรือ จะใช้วิธี “ศรีธนญชัย” แบบ “ทักษิณ” ? แต่ดูเงื่อนไขต่างๆแล้ว “ยิ่งลักษณ์” มีน้อยกว่า ไม่ได้ป่วยหลายโรค และอายุเกิน 70 อย่างกรณี “ทักษิณ” จะทำอย่างไร?
อาจเป็น โจทย์ใหญ่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และ “ทักษิณ” กำลังคิดหาทางออกอยู่ก็ได้?
ส่วนกรณี “ทักษิณ” แม้ว่า กรมราชทัณฑ์ “พักโทษ” ให้แล้ว แต่สิ่งที่ตามมาก็คือ การถูกร้องเอาผิด โดยเฉพาะกรณีนายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง “ป.ป.ช.” ให้ข้อมูลว่า
ข้อกฎหมายตามหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ในประกาศกรมลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ ได้วางหลักเกณฑ์ไว้เป็นองค์ประกอบสามประการประกอบกัน คือ
๑. นักโทษอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป
๒. รับโทษมาแล้วเป็นเวลา ๖ เดือนหรือ ๑/๓ ของโทษตามหมาย แจ้งโทษ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าเงื่อนเวลาใดจะยาวกว่ากัน
๓.นักโทษนั้น ต้องอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
โดยองค์ประกอบข้างต้น นักโทษสูงอายุที่ติดคุกมา ๖ เดือนจะพักโทษได้หรือไม่นั้น สภาพร่างกายต้องเสื่อมถึงขนาดด้วย มิใช่ว่าอายุมากแล้วติดคุกมาระยะหนึ่ง ก็พักโทษได้เลย
ข้อเท็จจริง ตามคำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์เรื่องการพักโทษนายทักษิณ ระบุแต่เพียงเงื่อนไขทางอายุและเวลาที่ต้องโทษเท่านั้น มิได้ยืนยันระบุให้เห็นเลยว่า นายทักษิณ มีสมรรถภาพช่วยเหลือตัวเองได้เพียงใด ซึ่งเมื่อไม่มีการตรวจสอบให้ปรากฏองค์ประกอบในข้อนี้ การพักโทษที่ออกคำสั่งไปจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายอย่างปฏิเสธไม่ได้
คำขอ ขอให้ตรวจสอบว่า คำสั่งพักโทษนี้ได้มีการประเมินสมรรถภาพของนักโทษแล้วหรือไม่ มีหลักฐานตามใบประเมินของกรมอนามัยมาแสดงโดยได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน ๑๑ คะแนน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศหรือไม่ พร้อมกันนี้ผมก็ขอส่งตัวอย่างแบบประเมินมาเพื่อพิจารณาแล้วด้วย
อนึ่งการพักโทษผู้สูงอายุในรอบนี้ กรมราชทัณฑ์แจ้งว่าทั้งประเทศมี ๘ คน ดังนั้นหากตรวจสอบพบว่า การพักโทษครั้งนี้ มีนายทักษิณคนเดียวที่ไม่ได้ถูกประเมินสมรรถภาพ กรณีก็จะชัดเจนทันทีว่า มีความทุจริตเกิดขึ้นแล้ว ส่วนเรื่อง ๖ เดือนที่ผ่านมา นายทักษิณจะป่วยหนักถึงขั้นนอนโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ได้นั้น จะเป็นจริงหรือไม่ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่ต้องขอให้ทาง ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบต่อไปให้ปรากฏความจริงด้วย
เรื่องนี้ เป็นประเด็นไล่ล่า “ทักษิณ” มาตั้งแต่ การพบปะและพูดคุยกับ สมเด็จฮุน เซน ที่เดินทางมาเยี่ยม “ทักษิณ” ทันทีที่ได้รับพักโทษ กลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ว่า เหมือนคนปกติ ไม่ได้มีอะไรแสดงให้เห็นว่า ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ยิ่งกรณี “ทักษิณ” มีกำหนดการเดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อไหว้บรรพบุรุษก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 14-16 มี.ค.2567 ยิ่งสะท้อนชัดว่า “ทักษิณ” ขัดเงื่อนไข “พักโทษ” ข้อที่ว่า “นักโทษนั้น ต้องอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย” หรือไม่
แม้ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในฐานะโฆษกกรมคุมประพฤติ ออกมาระบุว่า สามารถทำได้หากการขอออกนอกจังหวัดเป็นเหตุจำเป็น หรือสามารถเป็นเหตุช่วยเหลือเยียวยาในการกลับตัวเป็นคนดี ก็ขอไปต่างจังหวัดได้ เพียงแค่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ถ้าไปไม่หลายวัน และเพื่อทำให้สภาพจิตใจและการรักษาตัวดีขึ้น ใช้ดุลยพินิจอนุญาตได้ ไม่ได้ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย
“ถือเป็นการขอเคลื่อนย้ายพื้นที่ชั่วคราว แต่หากต้องการย้ายที่อยู่ต้องแจ้งผู้อุปการะ และประสานเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ต้องไปตรวจบ้านพักที่จะพักอาศัยระหว่างพักโทษ เป็นเงื่อนไขเดิมที่คณะกรรมการพักโทษกำหนด ให้ทำหรือไม่ให้ทำในสิ่งใด” โฆษกกรมคุมประพฤติ อธิบาย
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีสายตาที่จับจ้องเอาผิด โดยเฉพาะเงื่อนไขช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในการได้รับ “พักโทษ”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษที่จ.เชียงใหม่ ว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งอาจจะขัดกับที่คณะกรรมการพักโทษที่ออกมาระบุว่า นายทักษิณป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สะท้อนให้เห็นว่า นายทักษิณใช้ชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไป โดยต้องดูว่า กรมคุมประพฤติจะพิจารณาอย่างไรหลังจากนี้ เนื่องจากมีผลคาบเกี่ยวทางการเมือง เพราะมองว่า การเดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อไหว้บรรพบุรุษเป็นเพียงข้ออ้าง ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลก็ลงพื้นที่เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายทักษิณเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อกระชับอำนาจของมวลชนคนเสื้อแดง เพราะมวลชนมีการออกมาขานรับว่า จะออกมาต้อนรับนายทักษิณเป็นอย่างดี กรมคุมประพฤติต้องควบคุมเรื่องนี้ให้ดี
เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ตรงกับช่วงเวลาเดินทางไป จ.เชียงใหม่ของ “ทักษิณ” นายพิชิต มองว่า เป็นการใช้อำนาจรัฐ เพราะนายทักษิณเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ตั้งใจลงไปเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือไม่ ทำให้มองว่า การพักโทษของนายทักษิณ เป็นการพักโทษที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ เรื่องนี้ทาง คปท. กำลังพิจารณายื่นอุทธรณ์การพักโทษไปยังคณะกรรมการการพักโทษ โดยขอดูก่อนว่า การที่นายทักษิณเดินทางไปในวันที่ 14 มี.ค. จะมีลักษณะอย่างไร หากการเดินทางเป็นไปตามปกติ โดยไม่มีผู้อนุบาล ถือว่าการพักโทษครั้งนี้มีปัญหาแน่นอน คปท. จะรวบรวมหลักฐานต่อไป และยืนยันว่า จะยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ กระแสข่าว “ยิ่งลักษณ์” จะเดินทางกลับไทย โดยโทษ 5 ปี และคดีที่เหลืออยู่ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก เมื่อเทียบกับกรณี “ทักษิณ” ขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี
เพียงแต่ว่า “ดีล” สำหรับ “ยิ่งลักษณ์” จะออกมาอย่างไรเท่านั้น?
ยิ่งกว่านั้น ยังเห็นได้ชัดว่า นับแต่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทั่ง นายเศรษฐา ทวีสิน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และ “ทักษิณ” เดินทางกลับไทย ดูเหมือน “อำนาจ-บารมี” ของ “ทักษิณ” ถูกฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็วเกินคาด
แม้กระทั่ง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังเชื่อมั่นอย่างสูงว่า ประสบการณ์การบริหารประเทศของ “ทักษิณ” จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ถ้าได้เป็นที่ “ปรึกษา”
นั่นแสดงว่า บทบาทของ “ทักษิณ” จะไม่ใช่เลี้ยงหลานอย่างที่เคยกล่าวอ้างมาก่อน และอาจเหลือเชื่อก็เป็นได้ ที่คนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จนได้รับการ “พักโทษ” จากกรมราชทัณฑ์ จะเป็นปกติจากหลายโรคโดยเร็ว มานั่งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย?
ไม่นับบทบาทอื่น ที่อาจอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยในทาง “ลับ” ที่น่าจับตามอง
ดังนั้น การกลับไทยของ “ยิ่งลักษณ์” นอกจากจะถูกโอบอุ้มโดย “อำนาจ-บารมี” ของ “ทักษิณ” และการฟอกขาวโดยขบวนการทางกฎหมาย จนไม่เหลือมลทิน หรือ เหลือก็น้อยจนแทบไม่เป็นสาระสำคัญแล้ว
“ยิ่งลักษณ์” ยังจะเป็นอีกหนึ่งพลังบวก “นารีขี่ม้าขาว” มาช่วยสร้างกระแสนิยมให้กับรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
อย่าลืมว่า ช่วงที่ “ยิ่งลักษณ์” ลงเลือกตั้งครั้งแรก เคยนำพลพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ได้ส.ส.เข้าสภาฯถึง 265 คน เกินกึ่งหนึ่ง และได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28
เมื่อเป็นเช่นนี้ “ยิ่งลักษณ์” จึงน่าสนใจ หากจะได้มาเติมเต็มกระแสนิยมให้กับรัฐบาลที่มี “ทักษิณ” หนุนหลัง และพรรคเพื่อไทย
เหนืออื่นใด “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” กับภารกิจสำคัญในการเอาชนะพรรคก้าวไกล และเครือข่ายสนับสนุนพรรคก้าวไกล อาจเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็เป็นได้ ใครจะรู้!?