จับตา “ทักษิณ-ก้าวไกล” สิ่งที่ต่างในความเหมือน
ในที่สุด 2 คดีใหญ่ ระดับสั่นสะเทือนทางการเมืองได้เลย ก็มีความชัดเจน แม้ว่าวันเวลาของการตัดสินจะแตกต่างกัน และผลก็ออกได้ทั้ง “เหมือน” หรือ “ต่าง” กัน
นั่นคือ คดีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์(ป.อาญา ม.112)
และความผิด ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ให้รับผิดชอบคดี ได้ส่งฟ้องนายทักษิณ ต่อศาลอาญา ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวแล้ว และศาลประทับรับฟ้องไว้ตามหมายเลขคดีดำที่ อ.1860/2567ถือว่า คดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลฯเรียบร้อย โดยศาลอาญาให้ประกันตัว “ทักษิณ” หลังทนายยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 500,000 บาท
นั่นหมายความว่า “ทักษิณ” พร้อมต่อสู้คดีจนถึงที่สุด(3 ศาล) จากที่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ คดีเกิดขึ้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2552 เนื่องมาจาก “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้มีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันฯ
ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 สมัยรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง คดีม.112 “ทักษิณ” คดีมีอายุความ 15 ปี (2558-2573)
จากนั้นวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อัยการได้รับสำนวนคดี “ทักษิณ” ผิด ม.112และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
และวันที่ 19 กันยายน 2559 สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่ผู้ต้องหาหลบหนี จึงออกหมายจับ
อย่างไรก็ตาม วันที่ 22 สิงหาคม 2566 “ทักษิณ” เดินทางกลับประเทศไทย
นำมาสู่วันที่ 28 สิงหาคม 2566 ตำรวจขออายัดตัว “ทักษิณ” คดี ม.112 กับกรมราชทัณฑ์
ตามมาด้วยวันที่ 17 มกราคม 2567 นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ เข้าแจ้งข้อกล่าวหากับ “ทักษิณ” ขณะพักรักษาตัวชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ
ต่อมา วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 “ทักษิณ” เข้ารายงานตัว รับทราบข้อหาแต่ปฏิเสธข้อกล่าวหา และยื่นขอความเป็นธรรม
กระทั่งวันที่ 10 เมษายน 2567 อัยการสูงสุด นัดฟังคำสั่งคดี
แต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 “ทักษิณ” ให้ทนายเลื่อนฟังคำสั่งอัยการ เหตุติดโควิด-19
กระนั้น วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อ่านคำสั่งคดี ตามกำหนดเดิม
และวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้อง “ทักษิณ” คดีม.112 นัดตัวส่งฟ้องศาล เวลา 09.00น.
ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์อย่างเชื่อมั่นว่า คดีไม่มีมูลอะไรเลย แต่มีการตีความให้มีมูล รวมทั้งหาว่า “คสช.” ข่มขู่ กดดันให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ซึ่งในการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมครั้งที่สอง ก็ได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาประกอบ เพื่อให้อัยการไต่สวนเพิ่มเติม แต่ไม่เป็นผล เพราะอัยการสูงสุดยืนยันสั่งฟ้องตามเดิม
ส่วนวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยเอกสาร ระบุว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (เรื่องพิจารณาที่ 10/2567) กกต.(ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)
ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสองและมาตรา 94 วรรคสอง
ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ร้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ภายในวันจันทร์ที่ 17มิถุนายน 2567 ผู้ร้องได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14มิถุนายน 2567 และผู้ร้องได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2567
ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า
เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณากำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดี คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3กรกฎาคม 2567
กำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567
คดีนี้ “ก้าวไกล” ตั้งความหวังเอาไว้สูงว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนพยานปากสำคัญที่พรรคเสนอไป แต่ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา ทั้งยังไม่แน่ใจว่า ศาลฯจะไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์จาก 2 คดีก็คือ ความเหมือน และความต่าง ที่เห็นได้ชัด
กรณีของ “ทักษิณ” ถ้าไม่นับในอดีตช่วงระหว่างหนีโทษและคดีอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของการต้องคดี ม.112และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ “ทักษิณ” และคนตระกูลชินวัตร พยายามแสดงให้เห็นว่า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯอย่างสูง
ยิ่งกว่านั้น การตัดสินใจ “ตระบัดสัตย์” พรรคร่วมฝ่ายค้านของพรรคเพื่อไทย เพื่อมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคฝ่ายขั้วอำนาจเก่า ซึ่งเท่ากับถีบหัวพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน อย่างหน้าตาเฉย พร้อมกับมีกระแสข่าว “ดีล” กลับไทยของ “ทักษิณ” ก็ยิ่งทำให้เห็นเบื้องหลัง ที่ “ทักษิณ” เชื่อมั่นว่า คดีนี้ไม่มีมูลอะไร แต่ถูกตีความให้มีมูล และเป็นความผิดของ คสช.?
ที่สำคัญ แม้ว่า “ทักษิณ” จะถูกศาลฯตัดสินจำคุก 8 ปี(3 คดี) และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี แต่ก็ไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว แถมได้ “พักโทษ” ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่ขัดแย้งกับเงื่อนไขได้ “พักโทษ” คือ ดูแลตัวเองไม่ได้ เนื่องจากป่วยหนัก
เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ อย่าว่าแต่ “ทักษิณ” ที่มั่นใจเลย หลายคนก็คาดเดาไม่ยากว่า ในที่สุดคดีจะจบลงอย่างไร เว้นแต่ “ทักษิณ” จะทำตัวเองไม่ให้น่าไว้วางใจหรือไม่?
นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์กันว่า “ดีล” ระหว่าง “ทักษิณ” กับฝ่ายอำนาจ อาจมากกว่า เดินทางกลับไทย หากแต่อาจรวมถึงการเป็น “หัวหอก” สำคัญในการต่อสู้กับพรรคก้าวไกล เพื่อกอบกู้ที่ยืนทางการเมืองให้กับขั้วอำนาจอนุรักษ์ด้วย
เห็นได้ชัด จากการปล่อยให้ “ทักษิณ” ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างท้าทาย ทั้งที่ได้ชื่อว่า “นักโทษ” อยู่ก็ตาม
ด้านคดียุบพรรคก้าวไกล ประเด็นที่ถือว่า เป็น “ไม้ตาย” อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 และการใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งการ “เลิกการกระทำ” เลิกการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย
จริงอยู่ หนึ่งในข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกล ก็คือ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกอย่าง คือ หยุดเคลื่อนไหวแก้ไข ม.112 แต่ประเด็นที่ “กกต.” ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรค ถือว่า เป็นไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ หรือ ที่เรียกว่า “ดาบสอง” หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีความผิดจริง และสั่งให้เลิกกระทำนั่นเอง
อย่าลืม พรรคก้าวไกล อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองขั้วอนุรักษ์ เป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” ที่มีอุดมการณ์ ซ้ายสุดโต่ง รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะปฏิรูป และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ซึ่งในทางการเมืองถือว่า อันตรายต่อฝ่ายอนุรักษ์อย่างมาก
ถามว่า พรรคก้าวไกล พร้อมที่จะหยุดอุดมการณ์และเป้าหมายทางการเมืองหรือไม่ คำตอบคือ ไม่! ต่อให้ “ยุบพรรค” ยุบแล้วยุบอีก อย่างที่เคยยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว “ก้าวไกล” ก็ยังคงเป็นตัวแทนที่มั่นคง และพรรคที่จะมาแทน “ก้าวไกล” ในอนาคต ถ้าถูกยุบ ก็ไม่ต่างกัน
นี่คือ “ความต่าง” และอาจมีผลต่อคดี แม้ ทั้ง “ทักษิณ” และ “ก้าวไกล” จะติดบ่วงคดีเหมือนกัน โดยเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับเบื้องสูง และความมั่นคงเช่นกัน จึงนับว่าน่าจับตามอง ไม่ว่าคำตัดสินจะช้า หรือเร็ว