เหตุผลที่ 'สว.สีน้ำเงิน' ล้มไม่ได้

เหตุผลที่ 'สว.สีน้ำเงิน' ล้มไม่ได้

ประเด็น สว. มีการร้องทั้ง "ศาลปกครอง" เป็นคำร้องเรื่องระเบียบกติกา "ศาลรัฐธรรมนูญ" เป็นคำร้องว่ากฎหมายผิด "ศาลฎีกา" เป็นคำร้องเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครบางสาขาอาชีพ

KEY

POINTS

  • ประเด็น สว. มีการร้องทั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกา
  • ต้องมีปฏิบัติการไม่ให้ “สีแดง” กลืนประเทศ ด้วยการใช้ “สีน้ำเงิน” เข้ามาสกัด
  • หาก “สายสีน้ำเงิน” จับมือกับ “สายลุง” ก็เท่ากับขั้วอำนาจนี้สามารถคุมทิศทางการเมืองไทยได้ต่อไป ไม่ต่างอะไรจากเมื่อ 9 ปีในยุค คสช. โดยเฉพาะ 4 ปีของรัฐบาลลุงตู่ หลังเลือกตั้งปี 62

มีหลายท่านถามผมว่า เลือก สว.ที่เพิ่งจบไปจะเป็นโมฆะหรือไม่ จะถูกล้มเพราะข่าวอื้อฉาวมากมาย มีเรื่องร้องเรียนมากถึง 614 เรื่องหรือเปล่า (ตัวเลขจาก กกต.)

ผมตอบไปว่า การเมืองไทยคาดการณ์ได้ยากจริงๆ เพราะตอนนี้เหมือนมีความจงใจให้นักวิเคราะห์การเมือง “เดาผิด” เช่น ที่มีดีลกันชัดๆ ก็ทำให้เหมือนไม่มี  เรื่องที่ควรจบเร็ว ก็กลายเป็นดึงช้า ส่วนเรื่องที่ซับซ้อนควรจะล่าช้า ก็จบเร็วซะงั้น ฯลฯ

แต่ถ้าให้ผมเดา ผมว่า สว.ชุดนี้น่าจะได้รับการรับรอง แต่หากกระแสต้าน กระแสวิจารณ์หนักจนต้านไม่ไหวจริงๆ ก็อาจให้ กกต.สอยบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่

เพราะหากผู้มีอำนาจต้องการล้ม สว. เขาคว่ำกระบวนการนี้ไปได้ตั้งนานแล้ว

อย่าลืมว่า ประเด็น สว. มีการร้องทั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกา

ศาลปกครอง เป็นคำร้องเรื่องระเบียบ กติกา สุดท้ายศาลวินิจฉัยว่าระเบียบผิด กกต.ก็ยอมแก้ไข ทำให้เดินหน้าต่อมาได้

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำร้องว่ากฎหมายผิด (พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.) อย่างน้อยๆ 4 ประเด็น สุดท้ายศาลวินิจฉัยว่าไม่มีเนื้อหาส่วนใดขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการเลือก สว.เดินมาถึงระดับประเทศเมื่อ 26 มิ.ย.

ศาลฎีกา เป็นคำร้องเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครบางสาขาอาชีพ พุ่งเป้าไปที่ อสม. ซึ่งก็รู้ๆ กันว่าสนใจไปสมัครกันเยอะจริง และน่าจะเป็นฐานการเมืองของพรรคการเมืองหนึ่ง (เคยคุมกระทรวงสาธารณสุข และวางกลไก อสม.เอาไว้อย่างเหนียวแน่น)

สุดท้ายศาลพิพากษาว่าไม่มีอำนาจชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการระดับอำเภอ ซึ่งมี “นายอำเภอ” เป็นหัวหน้า

นายอำเภอเป็นลูกน้อง รมว.มหาดไทย ซึ่ง มท.1 คนปัจจุบัน ชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล และเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

คุณอนุทิน เคยเป็น รมว.สาธารณสุข ยาวนานกว่า 4 ปี ในรัฐบาล “ลุงตู่” ดูแล อสม.อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมาตลอด

มองแบบ “ทฤษฎีสมคบคิด” ภูมิใจไทยขอคุมมหาดไทยตอนตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย โดยยอมถอย ไม่เอากระทรวงคมนาคมก็ได้ ก็เพื่อการนี้ เพื่อภารกิจเลือก สว.หรือไม่…อดสงสัยไม่ได้จริงๆ

จะเห็นได้ว่า ทุกกลไกของบ้านเมือง เหมือนช่วยกันเปิดไฟเขียวให้ “สว.ชุดใหม่” โดยที่ สว.ชุดเก่า ที่เรียกว่า “ชุดตัวตึง” เก็บของกลับบ้าน ถ่ายรูปอำลากันไปแล้วในวันรุ่งขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เหมือนใครส่งสัญญาณว่าหมดหน้าที่ของลุงๆ แล้ว กลับไปเลี้ยงหลานก่อนนะ ค่อยเจอกันใหม่เมื่อชาติต้องการ...

สัญญาณที่ว่านี้ เมื่อนำไปมองต่อเป็นจิ๊กซอว์ภาพเดียวกันกับกระบวนการเลือก สว. ทำให้เชื่อได้หรือไม่ว่า ผู้มีอำนาจอยากให้ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำงาน

มีกระแสวิจารณ์เซ็งแซ่ว่า สว.ที่ผ่านระดับประเทศเข้ามา ส่วนใหญ่เป็น “สว.สีน้ำเงิน” มีความเชื่อมโยงไม่ทางใดก็ทางหนึ่งกับพรรคภูมิใจไทย

ข้อเท็จจริงนี้ยิ่งทำให้เราต้องขีดเส้นใต้สองเส้นว่า “สว.สีน้ำเงิน” น่าจะได้อยู่ต่อไปได้ค่อนข้างแน่ เพราะหาก สว.ชุดใหม่เป็น “สีแดง” ก็จะทำให้พรรคเพื่อไทยคุม 2 สภา

ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจมีนายกฯ และประธานวุฒิสภา มาจากคนในตระกูลเดียวกัน ส่วนประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องมาจากพรรคเดียวกับนายกฯอยู่แล้ว

เหตุนี้จึงต้องมีปฏิบัติการไม่ให้ “สีแดง” กลืนประเทศ ด้วยการใช้ “สีน้ำเงิน” เข้ามาสกัด

ส่วน “สีส้ม” หรือพวก “หลากสีประชาธิปไตย” ก็น้ำท่วมปาก หากจะล้ม สว.ชุดใหม่ ก็ต้องยอมให้ สว.ชุดตัวตึง ขนของจากบ้าน กลับมารักษาการต่อ

นี่คือแต้มต่อของ “คนวางเกม” ฝั่งผู้มีอำนาจในบ้านเมือง

“สว.สีน้ำเงิน” มีภารกิจสำคัญรออยู่ คือ เลือกกรรมการองค์กรอิสระส่วนหนึ่งที่จะหมดวาระในปีนี้

นับดูคร่าวๆ มีทั้งหมด 12 คน ในจำนวนนี้เป็น กรรมการ ป.ป.ช.ถึง 3 คน และ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีก 2 คน

ถ้าเราอนุมานง่ายๆ ว่า กรรมการองค์กรอิสระที่สำคัญบางองค์กร เป็นคนของ “ลุง” ซึ่งนับวันจะร่อยหรอลง เพราะทยอยหมดวาระ

การนำคนใหม่เข้าไปเติม หากเป็น “สายสีน้ำเงิน” ย่อมคุยง่ายกว่าสายอื่น

และหาก “สายสีน้ำเงิน” จับมือกับ “สายลุง” ก็เท่ากับขั้วอำนาจนี้สามารถคุมทิศทางการเมืองไทยได้ต่อไป ไม่ต่างอะไรจากเมื่อ 9 ปีในยุค คสช. โดยเฉพาะ 4 ปีของรัฐบาลลุงตู่ หลังเลือกตั้งปี 62

แล้วแบบนี้จะล้ม สว.ชุดใหม่ไปเพื่ออะไร

คำถามนี้ไม่ได้ถามแค่สายลุง หรือสายสีน้ำเงิน แต่ถามถึงสายสีส้ม และสายหลากสีด้วย เพราะหากล้ม สว.ชุดใหม่ ก็ต้องกลับไปใช้บริการชุดตัวตึง

เมื่อทางเลือกไม่มีเหลือ ก็จำยอมต้องอยู่กันแบบนี้ต่อไป

มีคนที่ทำนายอนาคตได้ แนะให้ดู 3 อย่าง

1.เพื่อไทยอาจทำลายตัวเอง จนไม่มีพลังมากพอที่จะเป็นผู้นำสู้ศึกเลือกตั้งหนหน้ากับพรรคใหม่ของก้าวไกล พูดง่ายๆ คือกลายเป็นปุ๋ย โดยปุ๋ยสูตรเร่งโตแต่ทำลายตัวเองมากที่สุด คือ ความอยากกลับบ้านของอดีตนายกฯ

2.ภูมิใจไทยจึงต้องเร่งสร้างตัว สร้างพลัง เพื่อขึ้นมาค้ำยันขั้วอนุรักษนิยมแทน

3.แต่ “คีย์ เพลย์เยอร์” หรือผู้เล่นสำคัญที่จะนำมาดึงคะแนนฝ่ายอนุรักษนิยม ไม่สามารถใช้ภูมิใจไทยได้ ต้องเป็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งวันนี้ยังไม่เกิด และวิ่งหา “หัว” กันอยู่

ความพยายามที่ว่านี้มีอยู่จริง และเริ่มทดสอบกระแสเป็นระยะ เช่น คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งโพลล่าสุดคะแนนนำคุณอุ๊งอิ๊ง หรือ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ปรากฏตัวเคียงข้าง “ลุงตู่” บ่อยครั้งอย่างมีนัยสำคัญ และคอสตูมเสื้อเหลืองของภูมิใจไทยในวันประชุมใหญ่ของสภาก็เข้าตาใครหลายๆ คน

แต่เป้าหมายจริงๆ ที่ทิ้งไม่ได้ คือ “พรรคอนุรักษนิยมใหม่” ที่จะถูกปั้นมาเป็นคู่ต่อสู้ตัวจริงของพรรคใหม่ก้าวไกล ซึ่งต้องทันกระแส ทันสมัย รุ่นใหม่ แต่ไม่ล้มเจ้า และไม่ปฏิเสธอัตลักษณ์ความเป็นไทย

ทุกกลไกกำลังบังคับวิถีไปสู่จุดนั้น ส่วนจะสำเร็จหรือไม่...ต้องรอดู!