9 จังหวัดแชมป์ “สว.67” ทาบที่มั่น “บ้านใหญ่สีน้ำเงิน”
ส่อง 9 จังหวัด “แชมป์ สว.” เทียบเคียงฐานการเมือง “บ้านใหญ่สีน้ำเงิน” ช่างเป็นเรื่องบังเอิญสุดพิสดาร สะท้อนภาพวัฒนธรรมบ้านใหญ่ ยังยืนยง
นับจากนี้ไป ได้เวลาปิดฉาก “สว.ลากตั้ง” โดย คสช. เข้าสู่ยุค “สภาสูงบ้านใหญ่” ตอบโจทย์ขั้วอนุรักษนิยย ฝันร้ายของขั้วประชาธิปไตย
วลี “สว.สีน้ำเงิน” ร้อนแรง กระทั่ง อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเองไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวการเลือก สว.เลย ยุ่งอย่างเดียวคือกลไกของกระทรวงมหาดไทยในการเลือกรอบแรกในระดับอำเภอ”
ข้อมูลการเลือก สว.ที่เพิ่งจบไป พบว่า มี 12 จังหวัดที่มี สว. มากที่สุด (รวมจังหวัดที่มี สว. เท่ากัน) ได้แก่ บุรีรัมย์ 14 คน ,
กทม. 9 คน
พระนครศรีอยุธยา, สุรินทร์ จังหวัดละ 7 คน
สงขลา, สตูล และอ่างทอง จังหวัดละ 6 คน
นครศรีธรรมราช, เลย, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และอุทัยธานี จังหวัดละ 5 คน
หากตัดสนามเมืองหลวงออกไป แล้วสแกนพื้นที่ 11 จังหวัด พบว่าส่วนใหญ่เป็นที่มั่นการเมือง ของพรรคภูมิใจไทย ยกเว้น สงขลา และนครศรีธรรมราช
เมื่อสแกนลึกลงไปใน 9 จังหวัด ที่มี สว.ติดอันดับท็อปเท็น พบว่า ทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ ตกอยู่ในเครือข่าย “บ้านใหญ่สีน้ำเงิน”
บ้านใหญ่เซราะกราว
3 จังหวัดอีสานใต้ มี สว.รวมกันทั้งสิ้น 26 คน เฉพาะบุรีรัมย์ 14 คน กลายเป็น ดราม่า สว.เซราะกราว มีคนพูดถึงในโซเชียลสนั่นเมือง
บังเอิญว่า 3 จังหวัดอีสานใต้ เป็นที่มั่นการเมืองของภูมิใจไทย จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ
นับแต่การเลือกตั้งปี 2562 ครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ ได้แสดงพลังให้เห็นแล้วว่า บุรีรัมย์ คือเป็นเมืองหลวงภูมิใจไทย ซึ่งการเลือกตั้ง สส.ปีที่แล้ว พรรคสีน้ำเงินกวาดยกจังหวัด 10 ที่นั่ง
สุรินทร์ บ้านเกิดปู่ชัย ชิดชอบ กลุ่มเพื่อนเนวิน พยายามเอาชนะพรรคเพื่อไทยมา 2 สมัย ไม่สำเร็จ ได้ สส.คนเดียวคือ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร สายตรงบ้านใหญ่เซราะกราว
สมัยที่แล้ว ภูมิใจไทยประสบความสำเร็จ ได้ สส.สุรินทร์ 5 ที่นั่ง จากทั้งหมด 8 ที่นั่ง ลดทอนอิทธิพลพื้นที่สีแดงลงไปได้เยอะ
สำหรับ พรชัย มุ่งเจริญพร นายก อบจ.สุรินทร์ อยู่ในเครือข่ายกลุ่มเพื่อนเนวิน และความสำเร็จของภูมิใจไทย เมืองช้าง ก็ต้องให้เครดิตทีม อบจ.สุรินทร์
ศรีสะเกษ ในภาพรวม สส.ยังถือว่า เพื่อไทยครองแชมป์ แต่ภูมิใจไทยก็ยังมี สส. 2 ที่นั่ง ส่วนการเมืองถิ่นอยู่ในมือเครือข่ายบ้านใหญ่สีน้ำเงิน มายาวนาน
วิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ 5 สมัย บิดาของ ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย(อนุทิน ชาญวีรกุล) ยังเป็นศูนย์กลางบ้านใหญ่ศรีสะเกษ
บ้านใหญ่เมืองอำนาจ
จ.อำนาจเจริญ หัวเมืองชายฝั่งโขง ที่แยกตัวออกมาจาก จ.อุบลราชธานี แต่ได้ สว.มากถึง 5 คน ขณะที่เมืองอุบลฯ ได้ สว.แค่ 2 คน
ในมิติทางการเมือง อำนาจเจริญ กลายโมเดล สส.เสาเข็ม ของครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ เพราะ เจ๊รวย-สุขสมรวย วันทนียกุล สส.อำนาจเจริญ ใช้เวลา 4 ปี ยึดอำนาจเจริญได้เบ็ดเสร็จ ทั้งการเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ
เลือกตั้งปีที่แล้ว ภูมิใจไทย กินรวบ 2 ที่นั่ง สส.อำนาจเจริญ และวันเพ็ญ ตั้งสกุล นายก อบจ.อำนาจเจริญ ก็เป็นสายตรงเจ๊รวย
ทุกวันนี้ เจ๊รวย เป็นคนโปรดของครูใหญ่เนวิน เพราะการเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา เจ๊รวย ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่ อำนาจเจริญ ,ยโสธร และอุบลราชธานี ปรากฏว่า พรรคสีน้ำเงิน ได้สส.ได้มากถึง 6 ที่นั่ง
บ้านใหญ่วังน้อย
จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ สว.มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศคือ 7 คน เท่ากับ จ.สุรินทร์ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีคนพูดถึงเยอะ ทำไม สว.จึงกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเก่า
มิหนำซ้ำ นิเวศ พันธ์เจริญวรกุล อดีต สว.อยุธยา ปี 2543 น้องชายสมทรง พันธ์เจริญวรกุล อดีตนายก อบจ.อยุธยา ก็ได้รับเลือกเป็น สว.ชุดใหม่ด้วย
“ซ้อสมทรง” หรือ สมทรง พันธ์เจริญวรกุล อำลาค่ายเพื่อไทย และจับมือ เกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต สส.อยุธยา ปักธงภูมิใจไทยกรุงเก่า ตั้งแต่ปี 2562
ปีที่แล้ว ซ้อสมทรงพลาดเป้าไป 2 เขต แต่ก็ได้ สส. 3 ที่นั่ง แต่ก็ส่งลูกชาย สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล เป็น รมช.ศึกษาธิการ สมใจบ้านใหญ่วังน้อย
ซ้อสมทรง เพิ่งลาออกจากนายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา และลงสนามอีกสมัย คาดว่า ซ้อบ้านใหญ่วังน้อย จะเป็นนายก อบจ.กรุงเก่า สมัยที่ 5
บ้านใหญ่วิเศษชัยชาญ
จ.อ่างทอง มีประชากรน้อยกว่า จ.สุพรรณบุรี แต่เลือก สว.เที่ยวนี้ อ่างทองได้ สว. 6 คน แต่เมืองสุพรรณ ได้ 3 คน
ตระกูลปริศนานันทกุล ยึดการเมืองอ่างทอง ทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ มาแต่สมัยที่ยังสังกัดพรรคชาติไทย กระทั่งย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทย
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล เติบโตมาในตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง จบรัฐศาสตร์บัณฑิต รามคำแหง เมื่อเรียนจบก็มาช่วยพี่เขยทำโรงสี
เฮียตือ-สมศักดิ์ แต่งงานกับรวีวรรณ ลูกสาวเจ้าของโรงสีวิเศษชัยชาญเจริญกิจ และการได้เป็นลูกเขยเศรษฐีอ่างทอง ทำให้เฮียตือ มีต้นทุนพอที่จะก้าวสู่สนามการเมือง
สมศักดิ์ ก่อตั้งกลุ่มสำนักรักบ้านเกิด ดันกำนันตี๋-สุรเชษ นิ่มกุล เป็นนายก อบจ.อ่างทอง 2 สมัย และล่าสุดเพิ่งได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.สมัยที่ 3 แบบไร้คู่แข่ง
ส่วนลูกชายเฮียตือ บอล-ภราดร ปริศนานันทกุล และแชมป์-กรวีร์ ปริศนานันทกุล เป็น สส.อ่างทอง ทั้ง 2 เขต
บ้านใหญ่โกเกี๊ยะ-โกเกียรติ
จ.สตูล เล็กกว่า จ.สงขลา หลายเท่า แต่การเลือก สว.ปี 2567 สตูล กลับมี สว. 6 คน เท่ากับสงขลา
30 ปีที่แล้ว กลุ่มเรือประมงย่านน่านน้ำอันดามัน ย่อมรู้จักบริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด บริหารโดย 3 พี่น้องคือ โกเกี๊ยะ-พิพัฒน์ รัชกิจประการ ,โกโต-พิบูลย์ รัชกิจประการ และโกนั้ง-พิทักษ์ รัชกิจประการ
เมื่อโกเกี๊ยะ พิพัฒน์ ตัดสินใจเล่นการเมือง โดยรับอาสา เนวิน ชิดชอบรับผิดชอบสนามปักษ์ใต้ จึงเริ่มต้นที่บ้านเกิด-สงขลา และสตูล
สตูล เป็นฐานธุรกิจน้ำมันและเดินเรือของโกเกี๊ยะ เมื่อหันมาลุยการเมืองระดับชาติ โกเกี๊ยะ จึงจับมือกับ โกเกียรติ-สมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ บ้านใหญ่สตูล สร้างที่มั่นการเมืองชายฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ปี 2562
ปัจจุบัน ค่ายภูมิใจไทย มี สส.สตูล 2 คนคือ พิบูลย์ รัชกิจประการ น้องชายของโกเกี๊ยะ และ วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ลูกชายของโกเกียรติ
ทั้งหมดนี้คือ ภาพรวม 9 จังหวัดที่มี สว.มากที่สุด เทียบเคียงกับฐานข้อมูลการเมือง “บ้านใหญ่” ในจังหวัดดังกล่าว และไม่น่าแปลกใจที่มีวลี “สว.สีน้ำเงิน” ดังระบือลือลั่นในชั่วโมงนี้