จับตาตัดสินคดียุบพรรค “ก้าวไกล” โยงเกมอันตรายนอกสภา

จับตาตัดสินคดียุบพรรค “ก้าวไกล” โยงเกมอันตรายนอกสภา

ดูเหมือนการนัดฟังคำวินิจฉัย “ยุบพรรคก้าวไกล” ของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ไม่เพียงเขย่าขวัญพลพรรคสีส้มให้ต้องลุ้นใจหายใจคว่ำเท่านั้น หากแต่ยังดับฝันพรรคก้าวไกล ที่หวังว่าศาลฯจะมีการไต่สวนพยานปากสำคัญเพิ่ม อันเท่ากับช่วยยื้อลมหายใจออกไปได้อีกเฮือก

เพราะถ้าว่ากันตามพยานหลักฐาน ซึ่งส่วนหนึ่งคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยวินิจฉัยเอาไว้แล้วว่า พรรคก้าวไกล “ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” กรณีเคลื่อนไหวแก้ไข ม.112 ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง รวมถึงมีท่าทีส่งเสริมการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ กลุ่ม “สามนิ้ว” ต้องยอมรับ รอดก็ปาฏิหาริย์เท่านั้น 
 
ทั้งนี้ศาลฯให้เหตุผลว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์แถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 ข้อ 24 ภายใน วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลได้ต่อสู้คดีอย่างเข้มข้น ทั้งพยานหลักฐาน และคำแถลงโต้ข้อกล่าวหา โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า ได้ให้ฝ่ายกฎหมายยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ฉบับแรกเป็นคำโต้แย้งผู้ร้อง คือ กกต. ที่ยื่นเข้ามาในสำนวน หรือ เรียกว่า “หมาย ร.” และเมื่อตรวจเอกสาร-หลักฐานของ กกต. เห็นได้ชัดว่า กระบวนการยื่นคำร้องให้ศาลยุบพรรคก้าวไกล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
จึงขอให้ศาลฯ เปิดการไต่สวนประเด็นที่พรรคโต้แย้งไป และเรียกพยานมาไต่สวนประเด็นนี้ คือตัวเอง ในฐานะหัวหน้าพรรค และ ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน

รวมถึงได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ เรียกเอกสารเพิ่มเติมจาก กกต. ซึ่งถูกอ้างอิงในพยานหลักฐานที่มีการส่งเข้าสำนวนแล้ว แต่ไม่มีการยื่นเข้ามา ทั้งที่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกัน

ส่วนอีกฉบับเป็นคำโต้แย้งในเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ ที่นำเข้ามาสู่สำนวน คือคำวินิจฉัยที่ให้พรรคก้าวไกล และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ ม.49 หรือ "หมาย ศ." ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยในคดีก่อนหน้านี้ ซึ่งปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีการไต่สวนในข้อเท็จจริงที่อ้างถึงพยานหลักฐานและเอกสารนี้ 

นอกจากนี้ นายชัยธวัช ชี้ว่า จากการตรวจสอบเอกสารและหลักฐานของ กกต.แล้ว เป็นการตอกย้ำว่าการยื่นคำร้องยุบพรรคในคดีนี้ ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เปรียบเสมือนใช้ทางด่วนเบ็ดเสร็จในการพิจารณาเพียงวันเดียว และยังเห็นว่า การพิจารณาคดีในครั้งนี้ มีโทษรุนแรงถึงประหารชีวิตพรรคการเมือง จึงเห็นควรให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อความเป็นธรรม

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดฟังคำวินิจฉัยแล้ว จึงอยู่คำวินิจฉัยจะออกมาอย่างไร “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” พรรคก้าวไกล เท่านั้น

แต่ก่อนมีคำวินิจฉัยออกมา ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ ปัญหาการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่า มีผลไม่น้อยต่อคดียุบพรรคครั้งนี้ 

โดยอาจย้อนไปตั้งแต่พรรคก้าวไกล ถือกำเนิดจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่ออุดมการณ์เปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการเมืองไทย อย่างชัดเจน และแกนนำคนสำคัญ ก็มีแนวคิดท้าทายในการ “ปฏิรูปสถาบัน” ด้วย อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค

ส่วนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากกรณีนายธนาธร หัวหน้าพรรค ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมในช่วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 

หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ คณะกรรมการบริหารพรรคถูกเว้นวรรคทางการเมือง และห้ามลงสมัครส.ส. 10 ปี ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรค จึงย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกลนับแต่นั้น พร้อมประกาศสืบสานอุดมการณ์ พรรคอนาคตใหม่อย่างชัดแจ้ง 

ด้านแกนนำบางส่วนของพรรคอนาคตใหม่ ที่ยังไม่ยอมวางมือทางการเมือง อย่าง ธนาธร, ปิยบุตร และ “ช่อ” -พรรณิการ์ วานิช ก็หันมาก่อตั้ง “คณะก้าวหน้า” เพื่อเคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับพรรคก้าวไกล

ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงหลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ปรากฏว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ได้รวมตัวกันจัด “แฟลชม็อบ” ต่อต้านเผด็จการทหาร ซึ่งเชื่อว่า อยู่เบื้องหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงเคลื่อนไหวต่อประเด็นทางการเมือง ที่ถูกจุดประเด็นมาจากพรรคก้าวไกล ที่ต่อสู้ในสภาฯ 

ที่สำคัญ จาก “แฟลชม็อบ” ของนักศึกษา ได้นำมาสู่ “ม็อบ 3 นิ้ว” ของนักศึกษา เยาวชน ประชาชน ที่โตวันโตคืนในปี 2563 ก่อนที่จะเคลื่อนไหวประเด็นร้อนเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบัน” 

และถ้ายังจำกันได้ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 คือวันที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อ่านประกาศของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ว่าด้วยข้อเสนอแก้ไขปัญหาการปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนเป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก รวมทั้งได้จุดประกายขัดแย้งขึ้นในสังคมไทย ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” ในประเด็นดังกล่าว อย่างเห็นได้ชัด 

กระแสจากการปลุกระดมภายในม็อบ ได้แพร่หลายไปสู่สังคมออนไลน์ กลายเป็นประเด็นถกเถียง ขัดแย้งในโลกโซเชียล และมีการทำผิดกฎหมาย ป.อาญา ม.112 (หมิ่นสถาบันฯ) กันอย่างมาก จนพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หลังจากเคยผ่อนปรนมาก่อน    

ส่วนข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ซึ่งถือว่า เป็นประเด็นร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุม คือ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก ต้องได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ การปฏิรูปสถาบันฯ ต้องเกิดขึ้นจริง

ต่อมา นอกจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว การจับกุมผู้ทำผิด ป.อาญา ม.112ภายในม็อบ ก็มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญ ต่างมีคดีติดตัวหลายคดี 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของกลุ่มผู้ชุมนุมและภาคประชาชน ตามมา 

ด้านพรรคก้าวไกล ก็ได้ขานรับการเคลื่อนไหว ด้วยการเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมีสาระสำคัญคือ ให้นำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ออกจากประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคง แล้วกำหนดลักษณะความผิดใหม่ คือ ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมาใหม่ และให้กำหนดบทยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ ลักษณะเดียวกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา นอกจากนั้น ข้อเสนอแก้ไขจากพรรคก้าวไกลยังกำหนดให้เฉพาะสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ประชาชนทั่วไปจะริเริ่มคดีเองไม่ได้

แต่การเสนอแก้กฎหมายดังกล่าวไม่เป็นผล เหตุผลที่น่าสนใจ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์(ในภายหลัง)ถึงร่างแก้ไขมาตรา 112 ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ว่า สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งได้รับมอบหมายจากเขาให้เป็นผู้รับร่างกฎหมายที่มีการเสนอต่อสภา ซึ่งสุชาติได้ปรึกษากับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ความเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 

“ร่างดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ใดละเมิดไม่ได้ ซึ่งท่านสุชาติรอบคอบมาก และนอกเหนือจากฝ่ายกฎหมายแสดงความคิดเห็นแล้ว ท่านยังให้ผ่านกระบวนการประสานงานที่ประกอบด้วยฝ่ายกฎหมายทุกฝ่ายของสภาอีกครั้ง ซึ่งทุกคนยังมีความเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ท่านสุชาติไม่ได้บรรจุในวาระ และส่งกลับไปยังพรรคก้าวไกลเพื่อแก้ไข…”

จนมาถึงช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั่วไปส.ส.ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกล ก็ประกาศนโยบายแก้ไข ป.อาญา ม.112 เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง เพื่อพยายามแก้ไข ป.อาญา ม.112 อีกครั้ง รวมถึงหาคะแนนนิยมจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ และก็ได้ผล เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นที่ 1 ได้ถึง 151 ที่นั่ง ชนะพรรคเพื่อไทยถึง 10 ที่นั่ง 

นี่แค่เชื่อมโยงบางเหตุการณ์ ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดหลายกรณี ที่การชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวโยงกับพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นข่าวทางสื่อมวลชนมาตลอดในช่วงของการเคลื่อนไหว รวมถึงการช่วยประกันตัว ผู้ต้องหาคดี ป.อาญา ม.112 ของส.ส.พรรคก้าวไกล 

สุดท้าย นำมาซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันสรุปได้สั้นๆว่า บริบททั้งหมดเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ขณะเดียวกัน นักกฎหมายเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ห้ามแก้ไข ป.อาญา ม.112แต่ห้ามไม่ให้ใช้วิธีการโดยมิชอบ และสั่งให้หยุดการกระทำ ส่วนการเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 หากกระทำโดยชอบ ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ยังสามารถทำได้

นั่นเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยปิดช่องเสียเลยทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่า ปัญหาของพรรคก้าวไกล คือ ความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มเคลื่อนไหว” นอกสภา ที่มีความชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปสถาบันฯ และแก้ไข ป.อาญา ม.112

ดังนั้น การต่อสู้คดี “ยุบพรรค” ของพรรคก้าวไกล ที่มีสิทธิ์ลุ้นมากที่สุด อาจไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคในกระบวนการดำเนินคดี หากแต่ทำอย่างไรจะให้ศาลฯเชื่อได้ว่า ไม่เป็นเนื้อเดียวกับกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาฯต่างหาก ที่พอจะมีทางรอด หรือว่าไม่จริง