ส่องเกมสองผู้มากบารมี กระชับอำนาจการเมือง

ส่องเกมสองผู้มากบารมี กระชับอำนาจการเมือง

เกิดเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองให้หลายฝ่ายจับตามองทันควัน กรณีนายทักษิณ ชินวัตร และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ไปรับประทานอาหารและตีกอล์ฟร่วมกันที่ “เขาใหญ่”

“ไม่มี เรื่องปฏิญญา ทำให้ตนวุ่นวายมารอบหนึ่งแล้ว ความจริงไม่มีอะไรเลย ถึงแม้ตนจะเป็นนักการเมืองเก่า แต่หน้าที่ของตนคือสร้างความปรองดอง เพื่อให้การเมืองแข็งแรง และบ้านเมืองเดินหน้าได้มากกว่าจะทำหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งหลายคนส่วนใหญ่ก็ทำงานร่วมกันมา และการที่คนไปร่วมทานอาหารเฮฮาด้วย ก็จะเกิดความสามัคคีกันมากขึ้น จะได้ไม่มีเรื่องที่เข้าใจผิดกัน

และเมื่อเวลามีเรื่องเข้าใจผิดกัน จับมานั่งคุยกันก็จบ และวันนี้ความสามัคคีบ้านเราสำคัญ เพราะลำพังแค่การแข่งขันกับต่างประเทศก็หนัก ถ้ายิ่งไม่สามัคคีกันยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้น ต้องทำให้ความสามัคคีเกิดขึ้นในชาติให้ได้”

ส่วนการไปเขาใหญ่ครั้งนี้ “ทักษิณ” เล่าที่มาที่ไปว่า น.ส.แพทองธาร เป็นคนวางแผนไว้ 3 อาทิตย์ล่วงหน้า บอกให้ล็อกพาพ่อไปด้วย ก็เลยต้องไปตามหลานๆ ลูกไปครบ เมื่อนายอนุทินรู้ เขาจึงบอกว่า ชวนไปแรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท เขาใหญ่ ไปทานข้าวและขอเลี้ยงอาหาร ตนจึงตอบกลับว่าที่บ้านมีหลายคน นายอนุทินบอกว่า ไม่เป็นไร แต่ปรากฏว่า ส.ส.ในพื้นที่รู้ข่าวว่าตนเดินทางมาก็เลยมากันหมดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ

   ด้าน “อนุทิน” กล่าวถึงการพบกับ “ทักษิณ” ว่า “ทักษิณ” ไปพักผ่อนกับครอบครัวและไม่ได้มาพักที่ แรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท เขาใหญ่ ที่เป็นโรงแรมของครอบครัวตน เขาพักที่โครงการของครอบครัวเขาเอง และได้แวะมาทานอาหารเย็นกับตนและพรรคพวกที่ แรนโช โดยในวงสนทนาไม่มีการพูดเรื่องสถาณการณ์การบ้านเมือง เมื่อเวลาผู้หลักผู้ใหญ่มาพักผ่อน เรารู้ว่า ไม่มีความประสงค์จะพูดคุยเรื่องหนักๆ และภายในงานมีผู้ใหญ่หลายคนรวมถึง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา มาร่วมงานก็เป็นเรื่องธรรมดา

 ถามว่า มีนัยยะทางการเมือง และเพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อะไรหรือไม่ “อนุทิน” กล่าวว่า ตนถึงต้องออกมาพูดวันนี้ ที่นายทักษิณ ต้องมาตีกอล์ฟ ที่สนามตน เพราะไม่ได้ตีมากว่า 5 ปีแล้ว ตนจึงไปขอลูกสาว ให้กันเวลาไว้ให้ จะคิดเงินเท่าไหร่ก็ว่ามา “ให้คุณลุงเขาได้ออกวงสวิง ท่านตี 9 หลุมก็กลับ ท่านมาพักผ่อน ต่างคนต่างตี พนันก็ไม่ได้”

สรุปต่างคนต่างปฏิเสธในสิ่งที่หลายคนจับตามอง และตั้งข้อสงสัยว่า มี “ปฏิญญา” หรือ “ดีล” อะไรกันหรือไม่ 

แต่สิ่งที่ถูกเชื่อมโยงหนีไม่พ้น ผลการเลือกส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่า “สีน้ำเงิน” ได้รับเลือกเข้าไปประมาณ 150 ที่นั่ง จากทั้งหมด 200 ที่นั่ง พูดง่ายๆว่า เป็นเสียงข้างมากที่กุมสภาสูงเอาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ จนถึงขั้นมีอำนาจต่อรองอย่างสูงในทางการเมือง ไม่เฉพาะการผ่านร่างกฎหมายสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงส.ว.เท่านั้น

เห็นได้ชัด จากการเลือกตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งมีการเปิดเผยว่า ก่อนถึงวันเลือก “ส.ว.สีน้ำเงิน” ประมาณ 150 คนได้ประชุมร่วมกันที่โรงแรมดังแห่งหนึ่ง และมีมติเสนอชื่อ นายมงคล สุระสัจจะ ส.ว.อดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรง “บ้านใหญ่บุรีรัมย์” เป็นประธานวุฒิสภา และ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ส.ว.อดีต ผช.ผบ.ทบ.และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.ของ “อนุทิน” เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก็ปรากฏว่า มาตามนัดอย่างไม่ผิดเพี้ยน 

นั่นเป็นการการันตีได้ว่า “ของจริง” ไม่ใช่แค่เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ทำเอา “อนุทิน” มีออร่าในทางการเมืองขึ้นมาทันควันเช่นกัน 

แต่ที่แน่ๆ ทุกย่างก้าวทางการเมืองของ “อนุทิน” หลายคนเชื่อว่า มี “ครูใหญ่เนวิน ชิดชอบ” อยู่เบื้องหลัง 

ด้วยเหตุนี้ การที่ “ทักษิณ” เดินทางไปร่วมรับประทานอาหารกับ “อนุทิน” และตีกอล์ฟด้วยที่ “เขาใหญ่” จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องโดยบังเอิญ หรือ ธรรมดาของคนรู้จักมักคุ้นอย่างที่กล่าวอ้าง หากแต่ “เบื้องลึก” คุยอะไรกันบ้าง ขั้น “ปริญญา” หรือ “ดีล” อะไรหรือไม่ เท่านั้นที่ไม่ได้เปิดเผย

ในส่วนของ “ทักษิณ” นับแต่การตัดสินใจเดินทางกลับไทย มาเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย รับโทษตามคำพิพากษาของศาลฯ8 ปี ขอพระราชทานอภัยโทษ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือ 1 ปี และได้รับ “พักโทษ” ก่อนจะพ้นโทษในวันที่ 22สิงหาคมนี้

รวมถึง กรณีพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว กับอดีตพรรคร่วมรัฐบาลเดิม หรือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็วิเคราะห์กันว่า มี “ดีล” ที่จะเข้ามาเป็น “หัวหอก” ในการต่อสู้ทางการเมืองกับพรรคก้าวไกล ซึ่ง ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 เห็นชัดว่า ได้รับความนิยมอย่างสูง จนได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 เอาชนะแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย ที่หมายมั่นปั้นมือจะชนะแบบแลนด์สไลด์หรือ ถล่มทลาย 

ดังนั้น เมื่อ “คีย์แมน” ฝ่ายรัฐบาล อย่าง “ทักษิณ” เดินไปพบปะกับ “อนุทิน” ซึ่งแม้ว่า จะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ถือว่า เป็นพรรคร่วมที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป ย่อมสะท้อนนัยทางการเมืองอยู่ไม่น้อย 

อย่างน้อย ก็ถือได้ว่า เป็นการ “กระชับอำนาจ” ระหว่าง “คีย์แมน” พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กับ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพลังต่อรองสูง ผลก็คือ ความเหนียวแน่นมั่นคงของเสถียรภาพรัฐบาลนั่นเอง 

อีกอย่าง ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น ก็คือ คดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณี ศาลรัฐธรรมนูญ นัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 15.00 น.

คดีนี้ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของ 40 ส.ว. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่

จากกรณี นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 

เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 6เดือน ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้ 

เรื่องนี้แม้ “ทักษิณ” จะให้สัมภาษณ์ว่า ไม่น่าจะมีอะไรที่เป็นข้อกังวล เพราะนายกฯทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรซับซ้อน และเชื่อว่านายกฯจะชี้แจงได้หมด ไม่มีอะไรต้องกังวล เราคิดว่าสิ่งที่นายกฯทำไปอย่างตรงไปตรงมา

ถามว่า จำเป็นต้องวางแผนสำรองหรือไม่ “ทักษิณ” กล่าวว่า “ผมก็เป็นนายกฯไม่ได้แล้ว แก่แล้วหมดเวลาทำงาน นอกเหนือจากคุณสมบัติก็หมดเวลาทำงาน มีหน้าที่ให้คำแนะนำให้กำลังใจ” 

แต่เมื่อคำตัดสินชี้ขาดอยู่ในมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอะไรแน่นอนเช่นเดียวกัน ตราบใดที่คำวินิจฉัยยังไม่ออกมา 

นั่นหมายความว่า การหาทางหนีทีไล่เอาไว้ก่อน ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด 

ประเด็นอยู่ที่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “เศรษฐา” หลุดเก้าอี้ ใครจะมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” แทน? 

แน่นอน, แม้ตัวเลือกในพรรคเพื่อไทย ยังเหลือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อยู่ถึง 2 คน คือ นายชัยเกษม นิติสิริ และ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาว “ทักษิณ” แต่ทั้งสองคนยังมีจุดอ่อนอยู่มาก คนหนึ่งเป็นที่ยอมรับในพรรคเพื่อไทย แต่อาจไม่เป็นที่ยอมรับของพรรคร่วมรัฐบาล อีกคนแม้จะเป็น “ลูกทักษิณ” แต่ประสบการณ์ หรือ ชั่วโมงบินในเรื่องงานบริหารประเทศ ยังไม่มี 

หลายคนจึงวิเคราะห์ว่า คนที่เหมาะสมลำดับต่อจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย ก็คือ “เสี่ยหนู” อนุทิน หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หนึ่งเดียวของพรรคภูมิใจไทย นั่นเอง 

นี่เอง ที่หลายฝ่ายเชื่อว่า การไปเขาใหญ่ของ“ทักษิณ” ไม่ใช่เรื่อง “บังเอิญ” และธรรมดา ต้องเป็นเรื่องใหญ่ ที่แม้ว่า นายกรัฐมนตรี จะไม่อยู่ในพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ก็ยังสามารถกระชับอำนาจเข้ามาไว้กับตัวเองได้ หรือไม่?

อีกปรากฏการณ์ นอกจากการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” ยังสอดแทรกขึ้นอย่างมีนัยสำคัญไม่แพ้กันของ “ครูใหญ่ภูมิใจไทย” อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเรียก “ทักษิณ” ว่า “นาย” และต่อมา เขาก็ตัดสวาทขาดสะบั้นกับ “ทักษิณ” ด้วยคำว่า “มันจบแล้วนาย” เมื่อความขัดแย้งถึงที่สุด 

ก่อนการเลือกตั้งปี 2566 “เนวิน” เคยพูดเอาไว้ว่า พรรคภูมิใจไทยพร้อมจัดตั้งรัฐบาลได้กับทุกพรรค แม้แต่พรรคเพื่อไทย เมื่อถูกถามถึงอดีตที่เคยขัดแย้งกับ “ทักษิณ” เขาบอกว่า “อนุทิน” ไม่ได้ขัดแย้งและไม่เกี่ยวข้องด้วย และเขาเองก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจในพรรคภูมิใจไทยแล้ว ทั้งที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เขายังอยู่เบื้องหลัง

ปรากฏการณ์ที่ว่า คือ การจัด บิ๊กอีเวนต์ “ลมหายใจของแผ่นดิน” ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้  

โดยมีหมายกำหนดการจากพรรคภูมิใจไทย แจ้งว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม เวลา14.00 น.จะมีการประชุมพรรคภูมิใจไทย ณ ห้องประชุม สนามช้างอารีน่า จ.บุรีรัมย์ 

ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะเป็นการประชุมเฉพาะส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จากนั้นเวลา 18.00 น. นายอุนทิน รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยรัฐมนตรี ส.ส.และสมาชิกพรรคจะเข้าร่วมงาน “ลมหายใจของแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ครบ 6 รอบ 72 พรรษาที่สนามช้างอารีน่า โดยมี นายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นแม่งาน

นี่ก็ถือว่า ไม่ธรรมดา เพราะในทางการเมือง “ทักษิณ-เนวิน” จัดอยู่ในประเภทสุดยอดทั้งคู่ การเคลื่อนไหวแต่ละอย่าง แต่ละครั้งมีความหมาย และมีเป้าหมายอย่างชัดเจน และอ่านเกมชั้นเดียวไม่ได้เป็นอันขาด

ขณะที่พรรคก้าวไกล คู่แข่งทางการเมือง ยัง “วุ่น” และลุ้นหนักว่า จะถูกยุบพรรคหรือไม่ ถ้าถูกยุบพรรคส.ส.ทั้งหมดจะยังคงย้ายไปอยู่พรรคเดียวกันหรือไม่ หรือจะมีใครถูก “ดูด” ไปอยู่พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาล 

น่าคิดว่า “สองผู้มากบารมี” ที่กุมบังเหียนพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาลกำลังคิดอะไรกันอยู่? จากสิ่งที่เห็นในมือเต็มไปด้วยอำนาจต่อรอง และเกมกระชับอำนาจ ที่บอกว่า ไม่มีอะไร จริงหรือไม่ อีกไม่นานก็คงได้รู้กัน!