'คุณหญิงหน่อย' หมดขลัง ส.ส. ดิ้นหนีตายหนุนรัฐบาล

'คุณหญิงหน่อย' หมดขลัง ส.ส. ดิ้นหนีตายหนุนรัฐบาล

ผ่านพ้นไปเรียบร้อย โหวตเลือก “นายกรัฐมนตรีคนที่ 31” ปรากฏว่าที่ประชุมสภาฯมีมติ 319 ต่อ 145 เสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาฯ หรือเกิน 248 จากทั้งหมด 493 เสียงตามที่กฎหมายกำหนด เห็นชอบให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีสมาชิกงดออกเสียง 27 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง

แต่ประเด็นที่ยังไม่จบ และน่าวิเคราะห์ในทางการเมือง ก็คือ ในจำนวนที่เห็นชอบให้ “อุ๊งอิ๊ง” เป็น นายกรัฐมนตรีนั้น มีเสียงพรรคไทยสร้างไทย ซึ่ง เป็นส.ส.ฝ่ายค้านอยู่ 6 เสียง เกิดอะไรขึ้นกับซีกฝายค้าน และเกิดอะไรขึ้นกับพรรคไทยสร้างไทย ของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 

ทั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทย มีส.ส.ทั้งหมด 6 คน โหวตเห็นชอบทั้ง 6 เสียง คือ

  1. นายชัชวาล แพทยาไทย ส.ส.ร้อยเอ็ด
  2. นางรำพูล ตันติวณิชชานนท์ ส.ส.อุบลราชธานี
  3. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  4. นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ส.ส.อุดรธานี
  5. นายหรั่ง ธุรพล ส.ส.อุดรธานี
  6. นางสุภาพร สลับศรี ส.ส.ยโสธร 

พอมีเรื่องนี้เกิดขึ้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กทันควันระบุว่า 

“ดิฉันและผู้บริหารพรรคไทยสร้างไทย ขอยืนยันว่าพรรคไทยสร้างไทย เรามีจุดยืนรักษาอุดมการณ์ประชาธิปไตย และทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านที่ซื่อสัตย์ต่อเสียงประชาชน และต้องปฏิบัติตามมติของพรรคฝ่ายค้านร่วม

ดังนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยสร้างไทย ควรมีจิตสำนึกต่อการทำหน้าที่อย่างสุจริต ในฐานะพรรคฝ่ายค้านในสภา 

การลงมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากพรรครัฐบาลในวันนี้ ถือว่าเป็นการขัดต่อจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคไทยสร้างไทย และผิดมารยาทในการทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน”

พร้อมกับระบุ วันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาการกระทำของส.ส.พรรคไทยสร้างไทย ที่ขัดต่อจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคไทยสร้างไทยครั้งนี้

จากนั้นในวันเดียวกันก็มีแถลงการณ์ออกมาระบุ ตามที่ปรากฏว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคไทยสร้างไทย จำนวน 6 คน ได้ลงมติเห็นชอบในการเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากฝั่งรัฐบาล ทั้งที่พรรคไทยสร้างไทยเป็นพรรคฝ่ายค้าน ถือเป็นการขัดต่อจุดยืนของพรรคและมารยาทในการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างร้ายแรง

พรรคไทยสร้างไทย ยืนยันว่า เรายึดมั่นต่อหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยืนหยัดต่อการทำงานร่วมกันกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน การที่ ส.ส. ของพรรคจำนวน 6 คนดังกล่าว ได้ลงมติขัดต่อแนวทางการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคไทยสร้างไทย ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

พรรคไทยสร้างไทย เห็นว่านักการเมืองที่ดีต้องยึดมั่นในความสุจริต ความถูกต้อง และต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชนและหน้าที่ ที่ประชาชนมอบหมายเป็นสิ่งสำคัญ

พรรคไทยสร้างไทย รู้สึกผิดหวังและเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการกระทำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 6 คน โดยเฉพาะท่านหัวหน้าพรรคคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้ทุ่มเทแรงกายใจอย่างสุดความสามารถ จนบุคคลเหล่านี้ได้เป็น ส.ส. ทั้งที่ส่วนมากได้เคยลงสมัครในนามพรรคการเมืองอื่นมาแล้วแต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง จนได้มาเป็นส.ส.สมัยแรกจากการทุ่มเทของคุณหญิงสุดารัตน์ฯ และพรรคไทยสร้างไทย

ดังนั้น กรรมการบริหารพรรคไทยสร้างไทย จึงมีมติให้กรรมการวินัยและจริยธรรมสอบสวนการกระทำที่ฝ่าฝืนต่ออุดมการณ์ของพรรคอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับของพรรคไทยสร้างไทย รวมทั้งมีมติเบื้องต้นไม่สนับสนุนให้ ส.ส. ทั้ง 6 คน ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในสัดส่วนของพรรคไทยสร้างไทย จนกว่ากรรมการวินัยและจริยธรรมจะสอบสวนการกระทำเสร็จสิ้น โดยคณะกรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค จะเรียก ส.ส.ทั้ง 6 คน มาสอบสวนและแถลงถึงผลการสอบสวนต่อพี่น้องประชาชนให้ทราบอีกครั้ง

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ถึงกรณีที่ 6 ส.ส.พรรคไทยสร้างไทย โหวตเห็นด้วยให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็น นายกรัฐมนตรี ว่า 

เรื่องนี้เราได้มีการประชุม ส.ส.พรรคไทยสร้างไทยทั้ง 6 คนแล้วว่าเราจะเดินหน้าอย่างไร ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จาก นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ว่า มติของพรรคประชาชนจะโหวตไม่เห็นชอบ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลว่าไม่ชอบในคุณสมบัติหรือใดๆ ทั้งสิ้น แต่เขายึดหลักการประชาธิปไตยที่เขาได้คะแนนเสียงมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง 

ส่วนพรรคไทยสร้างไทยเมื่อเรามีการประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เรามองว่าเนื่องจากว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำ วันนี้มีชื่อนายกฯที่เสนอมาชื่อเดียว เราจะโหวตเช่นไร ถ้ามีชื่อของพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอมาเราก็จะโหวตให้ แต่มันไม่มีรายชื่อของพรรคฝ่ายค้านที่เสนอขึ้นมาเลย ดังนั้นเราจึงเห็นชอบร่วมกันว่า เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าได้ในการจะมีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ

“ประเทศชาติต้องการคนที่เข้ามาบริหารประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราจะต้องตรวจสอบ ยืนยันว่าทั้งหมดเราโหวตด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีการติดต่ออะไรทั้งสิ้น พรรคเราจุดยืนชัดเจนว่าเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านเหมือนเดิม” 

นอกจากนี้นายฐากร ยังปฏิเสธไม่ได้เป็น “งูเห่า” เพราะไม่ได้มีมติพรรคออกมา รวมทั้งไม่ได้คุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ด้วย 

“ยืนยันว่า พรรคไทยสร้างไทยไม่มีผลประโยชน์ในเรื่องนี้แน่นอน เพราะเราไม่รับผลประโยชน์จากใครทั้งสิ้น รวมถึงเก้าอี้รัฐมนตรีไม่เคยคุย เราเป็นพรรคที่เงียบที่สุดแล้ว รวมถึงส.ส.เราเป็นส.ส.ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด และประชาชนอยากให้มีรัฐบาลบริหารประเทศจึงมีการพูดคุยในวง ส.ส.ของเรา...”

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ส.ส.พรรคไทยสร้างไทย มีมติหนุนรัฐบาล ย้อนกลับไป เมื่อตอนลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วาระแรก เมื่อคืนวันที่ 5 มกราคม 2567 ที่มีเสียงรับหลักการ 311 เสียง ไม่รับหลักการ 177 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียงนั้น

พบว่า พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมี ส.ส. 6 คน ลงมติไม่เห็นด้วย 3 คน อีก 3 คน คือ นางสุภาพร สลับศรี ส.ส.ยโสธร นายหรั่ง ธุระพล ส.ส.อุดรธานี และนายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ ส.ส.อุดรธานี ลงคะแนนสวนมติพรรค เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบรายจ่ายปี 2567 จนถูกกล่าวหาว่าเป็นงูเห่าสนับสนุนรัฐบาลมาแล้ว  

ครั้งนั้น นายฐากร เผยว่า ส.ส.3 คน ชี้แจงถึงความจำเป็นเรื่อง งบประมาณที่จะได้ลงในจังหวัดตัวเอง และฟังเสียงประชาชน และนายฐากร ก็ได้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการทำหนังสือถึงหัวหน้าพรรค เพื่อลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค 

“จากกรณีส.ส.ไทยสร้างไทยจำนวน 3 คน ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระที่ 1 ขัดกับมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งที่ก่อนการลงคะแนนได้เรียกสมาชิกพรรคหารือ และกำชับให้ ส.ส.ของพรรคลงคะแนนตาม มติพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่รับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ถึง 3 ครั้ง แต่เมื่อมีส.ส.ไทยสร้างไทย 3 คนลงคะแนน เห็นชอบ เห็นว่า เป็นการขัดกับมติพรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” สาระสำคัญในหนังสือลาออก

คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคนระดับหัวขบวนทางการเมืองคนหนึ่ง อย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีประสบการณ์ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน และก่อนที่จะมาก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ก็เคยเป็น 1 ใน 3 “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทยมาแล้ว

ย้อนกลับไปในอดีต ยังเคยมีบทบาทสูงมาตั้งแต่ยุคพรรคพลังธรรมรุ่งเรือง กระทั่งย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ก็ถือเป็น “ขุนพล” คู่ใจ “ทักษิณ ชินวัตร” มาตลอด แม้แต่ตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากพรรคเพื่อไทย ก็เป็นถึง ประธานยุทธศาสตร์พรรค 

หรือว่า ความเป็น “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” สิ้นมนต์ขลังเสียแล้ว? จึงไม่อาจยึดเหนี่ยวปกครองส.ส.ของพรรคได้  

ที่น่าวิเคราะห์ไปกว่านั้น จากสภาวการณ์ที่การเมืองไทยต่อสู้กันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล กับพรรคฝ่ายค้าน อย่างพรรคประชาชน หรืออดีตพรรคก้าวไกล โดยที่พรรคฝ่ายค้านอื่นเป็นแค่ไม้ประดับ ทำให้ส.ส.พรรคไทยสร้างไทย ไม่มีทางเลือกมากนัก ระหว่าง จุดยืนฝ่ายค้าน มติพรรคฝ่ายค้าน กับ ความอยู่รอดที่ต้องยึดโยงกับ “ประชาชน” เพราะถือว่า สำคัญต่อชีวิตทางการเมือง 

อย่าลืมว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล สามารถดึงงบประมาณไปลงพื้นที่ตัวเองได้ไม่ยาก ต่างกับส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ต้องสร้างผลงานด้วยการลงทุนลงแรงเอง และยิ่งอยู่กับพรรคที่ไม่มีกระแสความนิยมรองรับด้วย ยิ่งลำบากยากเข็ญเข้าไปใหญ่ 

เรื่องนี้อย่าคิดว่า ไม่สำคัญ เพราะการต่อสู้ทางการเมืองในเขตเลือกตั้ง ต้องทำ “ผลงาน” ให้จับต้องได้ หรือเข้าตาประชาชน จะอาศัยสร้างกระแส ปลุกความเชื่อมั่นอย่างเดียวไม่ได้ 

ดังนั้น สิ่งที่ส.ส.ฝ่ายค้านหลายพรรคไม่อาจทำได้ หรือ ถ้าทำก็ต้องยอมรับชะตากรรมในอนาคตไว้ล่วงหน้าเลย ก็คือ การค้านในเรื่องที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ หรือ ประชาชนคิดว่า เป็นประโยชน์ แม้ว่าในทางการเมือง ในทางยุทธศาสตร์ เป็นจุดยืน หรือ มติของฝ่ายค้านก็ตาม 

ดังนั้นไม่แปลกที่ 6 ส.ส.พรรคไทยสร้างไทย จะลงมติสวนมติฝ่ายค้านโดยไม่กลัวถูกขับออกจากพรรค เพราะสิ่งที่ 6 ส.ส.ดิ้นรนอยู่ในเวลานี้ คือ หนีตายทางการเมือง จากการเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่มีกระแสนิยมรองรับ ไม่เหมือนพรรคประชาชน

หรือ หากถูกขับออกจากพรรค ก็อาจยิ่งเข้าทาง ในการย้ายไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง และอาจยิ่งเร็วยิ่งดี จะได้มีเวลาและงบประมาณสร้างผลงงานให้เป็นที่ประจักษ์ในพื้นที่ฐานเสียง     

ความจริง อาจด้วยสภาวการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ที่ทำให้คนอย่าง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” สิ้นมนต์ขลังโดยปริยาย เพราะไม่ใช่ “ตัวเลือก” ของกระแสนิยมแห่งยุคสมัย ที่มีคนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งในตัวตัดสิน  

แล้วอย่างนี้จะโทษใคร ส.ส.ที่หมดหวังพึ่งพาหัวหน้าพรรค หรือ หัวหน้าพรรคที่ไม่อาจเป็นที่พึ่งส.ส.ได้อีกแล้ว?