ฝ่ายค้านไร้ 'ประชาธิปัตย์' บทพิสูจน์พรรคประชาชน
น่าคิดอย่างยิ่ง สิ่งที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้สัมภาษณ์ถึงเสถียรภาพรัฐบาล ขณะไปร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ดินเนอร์ทอล์ก หัวข้อ Vision For Thailand 2024 ที่พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน จัดโดยเนชั่นทีวี เมื่อไม่นานมานี้
ตอนหนึ่ง เมื่อถามว่า อะไรทำให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะชนะพรรคประชาชน “ทักษิณ” กล่าวว่า ของมันเคยชนะมาแล้ว ซึ่งหลักของพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชน เขาต้องการความเท่าเทียม ในเรื่องสถานะ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ในบริบทของสังคมไทย ดังนั้น เขาจึงจะอยู่ในบริบทของการเมือง
ส่วนพรรคเพื่อไทยอยู่ในบริบทของการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมของประชาชน เราเน้นโอกาส เขาเน้นสถานะ ไม่เหมือนกัน ซึ่งตนใช้แบบนี้มาตั้งแต่ปี 2541 ตนชนะด้วยคำเดียวคือโอกาส วันนี้ไม่ใช่คนไทยงอมืองอเท้าหรือไม่ฉลาด แต่เป็นเรื่องของโอกาส...
นั่นสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การต่อสู้ทางการเมือง และทำงานการเมืองในก้าวต่อไปนี้ ของรัฐบาล และฝ่ายค้าน เป็นการต่อสู้ระหว่าง จุดเน้นเรื่อง “เศรษฐกิจ” เป็นหลัก กับ การแก้ปัญหาทาง “การเมือง” นั่นเอง
ประเด็น จึงน่าจับตามองนับแต่วินาทีนี้ หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เริ่มมีความชัดเจน โดยเฉพาะการดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล และขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากการร่วมรัฐบาล
ดังนั้น โฉมหน้าพรรคร่วมรัฐบาล กับ พรรคร่วมฝ่ายค้าน จึงต่างก็เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย แต่ที่จะมีผลอย่างมากก็คือ การทำงานร่วมกันของฝ่ายค้านใหม่ ที่จะประกอบด้วยพรรคประชาชนและพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก อันย้อนแย้ง กับ สโลแกน “มีเรา ไม่มีลุง” ที่ “เกลียดยังกะไส้เดือนกิ้งกือ” จะทำงานร่วมกันอย่างไร? และมีประสิทธิภาพแค่ไหน?
ต่อให้ “เท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จะทำให้การทำงานของฝ่ายค้านอ่อนแอลงหรือไม่ ว่า ไม่น่าจะส่งผลกระทบ เราทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างโดดเด่นอันดับหนึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
แต่ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ แสดงให้เห็นมาตลอดเช่นกันว่า เป็น “ฝ่ายค้านมืออาชีพ” อ่านเกมการเมืองทะลุปรุโปร่ง ถล่มจุดอ่อนของรัฐบาลได้ตรงจุด ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ปัญหาประชาชน” และความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของรัฐบาล ยิ่งถือว่าเกาถูกที่คัน
รวมถึงเสียงฝ่ายค้านที่จะหายไป 25 เสียง และค่อนข้างจะเป็นเสียงที่มีกลุ่มก้อนอย่างแน่นเหนียว เพราะมีการยึดมั่นใน “มติพรรค” สูง
นอกจากนี้ พรรคประชาชน อาจต้องย้อนกลับไปดูผลการโหวตเลือก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร เป็น “นายกรัฐมนตรี คนที่ 31” ด้วย ว่า ขุมกำลังของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลที่แท้จริงมีกี่คน
ทั้งนี้ ผลการลงมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ 319 เสียง ไม่เห็นชอบ 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง
โดยถ้าไล่เรียง จะเห็นได้ชัดว่า ใครบ้างที่ “ตัว” เป็น “ฝ่ายค้าน” แต่ “ใจ” เป็น “ฝ่ายรัฐบาล” ใครพร้อมเป็น “ตัวแปร” พลิกผันได้ตลอดเวลา
เริ่มจากตัวเลขของแต่ละฝ่าย 11 พรรคร่วมรัฐบาล รวม 314 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคภูมิใจไทย (70 ที่นั่ง ไม่นับ 1 ส.ส. ที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่), พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง), พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคชาติพัฒนา (3 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง), พรรคท้องที่ไทย (1 ที่นั่ง)
ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน(ขณะโหวตเลือกนายกฯ) 8 พรรค รวม 179 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาชน หรืออดีตก้าวไกลเดิม (143ที่นั่ง), พรรคประชาธิปัตย์ (25 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง), พรรคประชาธิปไตยใหม่ (1 ที่นั่ง) พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (1 ที่นั่ง), พรรคใหม่ (1ที่นั่ง), พรรคไทยก้าวหน้า (1 ที่นั่ง)
ผลปรากฏ 11 พรรคร่วมรัฐบาล โหวตสนับสนุน “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธารแบบไม่แตกแถว มีเพียง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค พปชร. ไม่ปรากฏการลงคะแนน ซึ่งประธานสภาระบุว่า ทั้งคู่แจ้งลาประชุม และย้อนกลับไปในการโหวตเลือกนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ ทั้ง 2 คนนี้ ก็เคยลาประชุมมาแล้ว
ส่วน 2 เสียงของรัฐบาลที่งดออกเสียง เป็นเสียง ประธานวันนอร์ จากพรรคประชาชาติ กับ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ จากเพื่อไทย ที่ “งดออกเสียง” เพื่อรักษาความเป็นกลางทางการเมือง
ขณะเดียวกัน เป็นที่สังเกตว่า มีส.ส.ที่สนับสนุน “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร เพิ่มเติมอีก 9 เสียง โดยมาจาก 6 ส.ส. พรรคไทยสร้างไทยแบบยกพรรค และมาจากพรรคเสียงเดียวอีก 3 คน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคใหม่ ซึ่ง 3 ส.ส. พรรคเสียงเดียวเหล่านี้ก็เคยโหวตสนับสนุน นายเศรษฐา มาก่อนเช่นกัน
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 25 คน ลงมติ “งดออกเสียง” แบบไม่มีใครแตกแถวแม้แต่คนเดียว
แต่ปัจจุบันในจำนวน 179 เสียง อาจต้องหักเสียงส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ออก หลังตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล (มีบางคนไม่เห็นด้วย) และแม้ว่า จะได้เสียงของพรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้ามาเติม แต่ดูเหมือนว่า จะมาไม่ครบเช่นกัน โดยเฉพาะสายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มีอยู่ประมาณ 29 คน ซึ่งชัดเจนว่า ร่วมอยู่ฝ่ายรัฐบาล
เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคประชาชน จึงไม่อาจคาดหวังพรรคพลังประชารัฐ ได้มากนัก ไม่นับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน อาจขัดแย้งกันเองในฝ่ายค้าน โดยเฉพาะมติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมติในการแก้ไข ป.อาญา ม.112 ฯลฯ
สำหรับพรรคประชาชน หรือ อดีตพรรคก้าวไกล ที่มี “เท้ง” นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค และ นายศรายุทธ ใจหลัก เพื่อนสนิท นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า สมัยเป็นนักกิจกรรมนักศึกษา และอดีตผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล เป็น เลขาธิการพรรค นอกจากต้องสูญเสียคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 10 ปีจากคดียุบพรรค จนเหลือส.ส.อยู่เพียง 143 และการมีหัวหน้าพรรคที่อายุยังน้อย ประสบการณ์และชั่วโมงบินทางการเมืองยังต่ำ แต่ต้องแบกรับอุดมการณ์และแนวทางต่อสู้ของพรรคที่ตั้งเพดานเอาไว้สูงอย่างไม่ลดละ เป็นอนาคตที่ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่พอสมควร ต่อให้มี “พี่เลี้ยง” มากมาย ทั้งจากอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่เชื่อกันว่าจะไม่หนีหายไปไหน แต่ “ตัวแสดง” และ “บทบาท” ทางการเมืองก็ถือว่า “สำคัญ”
“เท้ง” ณัฐพงษ์ ประกาศทันควัน หลังขึ้นนั่งหัวหน้าพรรคประชาชนว่า
“มีภารกิจสร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในปี 2570 หมายถึงจำเป็นต้องชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า และตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นนอกจากเป็นพรรคอันดับหนึ่งในปี 2566 คือการชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว”
ส่วนจะลดเพดานในการแก้ไข มาตรา 112 หรือไม่ “ณัฐพงษ์” กล่าวว่า ไม่เคยลดเพดานอะไร เสนอร่างแก้มาตรา 112 เพื่อปรับปรุงไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมืองในการกลั่นแกล้งพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และศาลไม่ได้สั่งห้ามให้แก้ไข แต่ไม่ประมาท จะทำอย่างรอบคอบ และศึกษาบทเรียนจากการยุบพรรคก้าวไกล
นี่คือ สองเรื่องใหญ่ที่ถือว่า ท้าทายต่อการพิสูจน์ตัวเอง ของทั้งพรรคประชาชน และหัวหน้าพรรคประชาชนด้วย
เรื่องของการตั้งเป้าชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งแบบถล่มทลาย หรือ แลนด์สไลด์ และตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แม้ไม่ไกลเกินฝัน ถ้าดูจากการเลือกตั้งปี 2566 ที่พลิกความคาดหมายของหลายคนชนิดหักปากกาเซียน และกระแสความนิยมของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ยังคงติดลมบนมาจนถึงก่อนพรรคก้าวไกลจะถูกยุบ
แต่การไม่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อยู่ในพรรคประชาชน และอดีตส.ส.หลายคนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ก็ส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นขาด “แม่เหล็ก” ของพรรคไปเลยทีเดียว
อย่าลืม ที่ผ่านมา “พิธา” เพียงคนเดียว ก็สามารถสร้างกระแสนิยมพรรคก้าวไกลได้อย่างล้นหลาม ทั้งภาพและเสียงสะท้อนชัดแจ้ง จนเชื่อกันว่า หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้น ไปจนถึงเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกล อาจชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
แต่ยังเร็วเกินไปที่จะปรามาสคนอย่าง “เท้ง” ณัฐพงษ์ ว่า ไม่มีทางสร้างกระแสนิยมจนพุ่งติดลมบนเหมือน “พิธา” ได้ เพราะอย่างน้อยก็ยังมีเวลาให้ทำงานอีกเกือบ 3 ปี
กระนั้น ความแตกต่างระหว่างตัวตน “ณัฐพงษ์” กับ “พิธา” โดยเฉพาะความเป็น “ดารา” ทางการเมือง ความไหวพลิ้วในเกมการเมือง รวมถึงสง่าราศีที่ดึงดูดใจ ก็อาจมีส่วนทำให้คนไม่เหมือนกัน และกลายเป็นความสามารถที่จะเป็น “ผู้นำ” ที่มีกระแสความนิยมสูงแตกต่างกันตามไปด้วย
ดังนั้น เป้าหมายที่จะสร้างกระแสความนิยมให้สูงลิ่วถึงขั้นชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และสามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคประชาชน จะยึดแนวทางอดีตพรรคก้าวไกล ที่มี “พิธา” เป็น “แม่เหล็ก” แบกพรรคอยู่แล้ว ไม่ได้ เพราะไม่มีทางเหมือนกัน
เรื่องแก้ไข ป.อาญา ม.112 เป็นอีกเรื่องที่พรรคประชาชนจะต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างหนัก โดยเฉพาะการตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ทำไมถึงพุ่งเป้าไปที่เรื่องกระทบต่อสถาบันหลักของประเทศ ถ้าไม่มีเจตนา “ล้มล้าง”?
เรื่องนี้เร่งด่วนอย่างไร เมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ถ้าอ้าง “ยึดโยงประชาชน” รวมถึงคำถาม ประชาชนส่วนน้อยหรือส่วนใหญ่ ที่ได้ประโยชน์?
เหนืออื่นใด พรรคประชาชน ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ได้มีวาระเร่งด่วนของตัวเอง พวกตัวเอง เพื่อสนองอุดมการณ์ เหนือวาระเร่งด่วนประชาชน ที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอยู่ในขณะนี้
ทั้งหมดยังคงท้าทายพรรคประชาชน จะเลือกย่ำรอยเดิมของอดีตพรรคก้าวไกล หรือ ก้าวพ้นจาก “หล่ม” หลุมดำที่ “ทักษิณ” ฟันธงเอาไว้ มันเป็นไปไม่ได้ในบริบทสังคมไทย