ครอบครัว-ครอบงำ การกระทำพิสูจน์ได้
วันที่ 16 ก.ย.นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” และคณะรัฐมนตรี 35 คนจะปฏิบัติหน้าที่บริหารประเทศหลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว
ท่ามกลางความหวังของคนทั้งประเทศว่า “รัฐบาลใหม่” ที่มีส่วนผสมทั้งคน “รุ่นใหม่ -รุ่นเก่า” จะเดินหน้าสานต่องานที่ค้างอยู่ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็น “ดิจิทัลวอลเล็ต-โครงการแลนด์บริดจ์” หรือจะประกาศนโยบายใหม่ๆ ออกมา ปัญหาที่รอให้เข้าแก้มีมากมาย รวมทั้งเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้น การเลือกใช้ทีมงานที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้
หากนายกรัฐมนตรี จะมีที่ปรึกษา-ทีมงาน ที่มาช่วยระดมสมองในการขับเคลื่อน นโยบายต่างๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะการทำงานท่ามกลางรัฐบาลผสมหลายพรรค และต้องขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีผู้ช่วยที่จะมากลั่นกรองเรื่องต่างๆ สมัย “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีที่ปรึกษาและคณะทำงาน และในรัฐบาลในอดีตก็ยังมีทีมปรึกษาที่เลื่องชื่อในนามทีมบ้านพิษณุโลก ซึ่งการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ ก็จะสะท้อนเองว่าเป็นการ“ครอบงำ”ของทีมที่ปรึกษาหรือไม่
เรื่องเร่งด่วนของ นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร”คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลผ่าน “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และมีอำนาจมากพอที่จะตัดสินใจผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องรอขอความเห็น “ที่ปรึกษา” และต้องมาพร้อมการประกาศนโยบายที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ผลักดันการลงทุนมากขึ้น เพราะตอนนี้ในตลาดไม่มีเงินหมุนเวียน ถ้ามีเงินอัดฉีดเข้าไป จะทำให้เกิดการจับจ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งว่ากันว่ารัฐบาล “แพทองธาร” มีงบในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ ให้นักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565 - 2567 เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว และทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตสินค้าที่เป็นต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น มีมาตรการป้องกันจากการเข้ามาทุ่มตลาดของสินค้าจีนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ แทนการไล่จับผู้ที่กระทำผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายและหลบเลี่ยงภาษี ทำให้กติกาที่ไทยมีรัดกุมพอที่จะป้องกันและดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบได้
หลังจากวันที่ 16 ก.ย. รัฐบาลควรจะมีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องภาคธุรกิจโดยเฉพาะ “ธุรกิจ SMEs” ที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้รวดเร็วและต้องทำทันที ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถให้สามารถอยู่รอดได้และมีแนวทางส่งเสริมให้สามารถใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดไปได้ เพราะการช่วยSMEs ถือว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ หากคนตัวเล็กเหล่านี้อยู่ไม่รอด ก็ยากที่ประเทศชาติไม่กระทบเช่นเดียวกัน