โฟกัส 6 คำร้อง 'ธีรยุทธ' ในมุมมองดับฝันฝ่ายแค้น

โฟกัส 6 คำร้อง 'ธีรยุทธ' ในมุมมองดับฝันฝ่ายแค้น

ดูเหมือน “หมัดตาย” หรือ “หมัดน็อก” ที่สร้างความฮือฮาให้กับคู่แค้น “ทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทย” จะมีกระแสตอบรับอยู่สองกระแส

กระแสแรก ในกลุ่มที่ต่อต้าน “ทักษิณ-เพื่อไทย” ต่าง “ฝันหวานไปในทางเดียวกัน ว่านี่คือ “ทีเด็ด” เอาผิด “ทักษิณ” และล้มรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตรได้ เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมที่น่าเคลือบแคลงใจอยู่แล้ว

กระแสที่สอง มองว่าฝ่ายแค้น เล่นเกมการเมืองหวังสูงถึงล้มรัฐบาล ยุบพรรคเพื่อไทย และไม่เห็นด้วยที่จะก่อกวนการบริหารประเทศของรัฐบาล ทำให้ไม่มีสมาธิแก้ปัญหาประชาชน ทั้งที่ประเทศวิกฤติเศรษฐกิจ ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากอุทกภัยหลายจังหวัด รวมทั้งปัญหาสังคมมากมาย แต่นักการเมืองบางส่วนคอยแต่เล่นเกมการเมือง

จึงนับว่า น่า “โฟกัส” อย่างยิ่ง กับ 6 คำร้อง ที่มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ “โมเดล” เดียวกับร้องยุบพรรคก้าวไกล ก็ว่าได้

กล่าวคือ กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

1. ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุม การบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว

เป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด

2. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา

3. ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก

4.ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการแทน ผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯคนใหม่ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)

5. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลโดยผู้ถูกร้องที่ 2ยินยอมกระทำการตามที่ ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ

6. ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567

จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้

1.ให้นายทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

2.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

3.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1

4.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

5.ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์

6.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2

7.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่1

8.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบอีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัย ตามคำร้อง ก็อาจเป็นเงื่อนไข “ครอบงำพรรค” นำไปสู่การยื่น “ยุบพรรค” ต่อไป หรือไม่

ส่วนว่าใครอยู่เบื้องหลัง แกนนำรัฐบาลบางคนออกมา ชี้เป้าว่า พรรคที่มีชื่ออยู่ในคำร้อง นั่นเอง อะไรไม่สำคัญ เท่ากับ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน ออกมา “ดับฝัน” คำร้องทั้ง 6 ข้อ และถือเป็นการให้ความรู้ด้านกฎหมายกับประชาชน ไม่เกี่ยวกับฝ่ายใด(ไทยโพสต์/11 ต.ค.67)

โดย ดร.ณัฐวุฒิ เห็นว่า ประเด็นที่ นายธีรยุทธ ผู้ร้อง กล่าวหา ค่อนข้างมีน้ำหนักน้อย และไม่เข้าเป้า แตกต่างจากคดีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับพรรคก้าวไกล ข้อกล่าวหารณรงค์หาเสียงแก้ไข มาตรา 112 ข้อเท็จจริงนั้น ชัดเจนมากกว่า เพราะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีที่แกนนำม็อบสามนิ้ว ปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตรงกันกับคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ มาถึงความเห็นทางกฎหมายต่อคำร้อง 6 ข้อ

ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ว่า ประเด็นที่ 1 การสั่งการระหว่าง นายทักษิณกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนิติบุคคล เป็นเรื่องพิสูจน์ยาก ส่วนการย้ายที่คุมขังเพราะเหตุป่วย เป็นดุลพินิจอธิบดีกรมราชทัณฑ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าจะไปคุมขังนักโทษรักษาตัวในบริเวณใด ควรจะไปรักษา สถานที่ใด อีกทั้งถ้าเอาผลสอบกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาเป็นหลักฐาน ก็เป็นเพียงคำวินิจฉัยในองค์กร ไม่ใช่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่ผูกพันทุกองค์กรตามมาตรา 211 วรรคสี่ ประเด็นที่ 2 อ้างถึง ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอดีตผู้นำกัมพูชาและไปโยงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ตรงนี้คงไม่เกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองฯและกระทบสถาบันฯแต่อย่างไร เพราะดินแดน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต้องใช้ความละเอียดอ่อน เป็นการชักศึกเข้าบ้าน

หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 178 วรรคสอง ประเด็นที่ 3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 256 บัญญัติให้แก้ไขได้ หากปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญและผ่านการจัดทำประชามติ เป็นกลไกกลรัฐสภา เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หากแก้ไขทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ให้จัดทำประชามติ 2 ครั้ง ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ชอบ

ประเด็นที่ 4 การเข้าไปบ้านจันทร์ส่องหล้าอาจไม่เหมาะสม เพราะนายทักษิณ ยังมีสถานะเป็นนักโทษที่ได้รับการพักโทษ แต่ไม่มีผลอะไร การเลือกนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายบริหาร เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ไม่มีผลกระทบต่อระบอบการปกครองหรือกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างไร

ประเด็นที่ 5 ที่ว่าพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ในมิติฝ่ายบริหาร จะจับขั้วกับพรรคการเมืองใด จะต้องพิจารณาถึงจำนวนเสียงและโควตารัฐมนตรี ใช้ระบบต่อรอง ที่เรียกว่า ผลประโยชน์ทางการเมือง พรรคการเมืองใดจะร่วมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ย่อมเป็นไปมติของพรรคการเมืองนั้น ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง แล้วมีผลกระทบต่อระบอบการปกครองแบบไหนอย่างไร และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร เพราะประเพณีการปกครองในระบบรัฐสภา เป็นแบบนี้ มาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

ประเด็นที่ 6 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งแสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อ 22 ส.ค. ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 12 ก.ย.นั้น ดร.ณัฐวุฒิ มองว่า ประเด็นนี้ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะการแถลงนโยบายรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมจะต้องนำนโยบายมาผสมผสานกัน เป็นไปตามมาตรา 162 แห่งรัฐธรรมนูญ การนำคำพูดของนายทักษิณ มาเป็นนโยบาย ต้องไปดูว่าตรงกับนโยบายที่หาเสียงเพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือไม่ เป็นอำนาจของ กกต. ไปควบคุมจัดการ...

แน่นอน, ความเห็น “ดร.ณัฐวุฒิ” ยังไม่ใช่ข้อยุติในเรื่องนี้ หากแต่อยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องหรือไม่ และถ้ารับไว้พิจารณา มีคำวินิจฉัยอย่างไร จึงเป็นที่สุด แต่อย่างน้อย ก็ได้ความกระจ่างด้านกฎหมายพอสมควร

นอกจากกระแสที่กำลังเขย่าบัลลังก์รัฐบาลอยู่ในเวลานี้ สุดท้าย ผลจะเป็นอย่างไร “เติมฝัน” หรือ “ดับฝัน” ฝ่ายแค้น อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะว่าอย่างไรเท่านั้นเอง