ศึกชิงนายก เมืองเสื้อแดง 'ทักษิณ-พิธา' เก๋าปะทะสด
กลายเป็นกระแสการเมืองที่ฮอตขึ้นมาทันควัน หลังจาก “ทักษิณ ชินวัตร” และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สองผู้นำจิตวิญญาณของ “สองขั้ว” ทางการเมือง ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เตรียมลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร“นายก อบจ.” หรือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด อุดรธานี หาเสียง
เนื่องจากต่างก็หมายมั่นปั้นมือที่จะยึดหัวหาดเมือง “เสื้อแดง” ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งของภาคอีสานเอาไว้ให้ได้ และเป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคเพื่อไทยยึดกุมสนามเลือกตั้งแห่งนี้มาตลอด ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
เพียงแต่ การเลือกตั้งทั่วไปส.ส.เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทย ถูกตีหัวเมืองไปได้ 3 เขต คือ 1 ที่นั่งส.ส.พรรคก้าวไกล ในเขตเมือง และ 2 ที่นั่งของพรรคไทยสร้างไทย จึงทำให้สนามเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ถูกหมายตาของอดีตพรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชน(ปชน.)ขึ้นมาทันที และคาดหวังสูงด้วย
ทั้งนี้ตามกำหนดการ “ทักษิณ” จะลงพื้นที่ไปช่วย “ศราวุธ เพชรพนมพร” ผู้สมัครนายก อบจ. อุดรธานี ในนามพรรคเพื่อไทย (พท.) หาเสียงเลือกตั้ง ดังนี้
วันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 14.05-15.10 น. เดินทางจากสนามบินดอนเมือง ถึงสนามบินอุดรธานี และเข้าพักที่โรงแรมเซ็นทารา เวลา 17.30 น. พบปะพี่น้องประชาชน อ.กุมภวาปี อ.ประจักษ์ อ.ศรีธาตุ อ.หนองหาน (บางส่วน) รวมประมาณ 10,000 คน เวลา 19.30 น. รับประทานอาหารเย็นที่ร้านคุณนิด และเวลา 21.00 น. เดินทางกลับที่พักที่โรงแรมเซ็นทารา
ส่วนวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 07.00 น. รับประทานอาหารเช้าร้านคิงส์โอชา เวลา 09.30 น. เดินทางถึงบริเวณทุ่งศรีเมืองบ้านดุง ปราศรัยกับพี่น้องชาว อ.บ้านดุง อ.ทุ่งฝน มวลชนประมาณ 8,000-10,000 คน ต่อมาเวลา 12.00 น. รับประทานอาหารเที่ยง ร้านวีทีแหนมเนือง (สาขาถนนรอบเมือง) จากนั้น 15.30-16.30 น. พบปะพ่อค้านักธุรกิจ ผู้นำท้องถิ่นในอุดรธานี และเวลา 17.30 น. ปราศรัยกับพี่น้องประชาชน อ.เมือง อ.หนองวัวซอ (บางส่วน) อ.หนองหาน (บางส่วน) มวลชน 20,000-25,000 คน ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในเวลา 21.35-22.35 น.
ขณะ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาคณะก้าวหน้า ข่าวว่า จะมาร่วมปราศรัย ช่วย “คณิศร ขุริรัง” ในช่วงโค้งสุดท้าย คือ ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน ซึ่ง ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 พฤศจิกายน ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง โดยจะเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกามางานนี้โดยเฉพาะ
ส่วนการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคประชาชน พบว่า ก่อนหน้านี้ แกนนำ และผู้ช่วยหาเสียงของพรรค ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า “เท้ง” - ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรค ฯลฯ แบบจัดเต็มสรรพกำลังก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากการปลุกกระแสนิยมจากภายนอกดังกล่าวแล้ว ตัวผู้สมัครของแต่ละพรรคก็นับว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน
เริ่มจาก “ศราวุธ” เกิดวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2513 เป็นบุตรของ นายสุวิทย์ กับนางวิไล เพชรพนมพร มีพี่น้อง 5 คน ด้านครอบครัวสมรสกับนางนุดี เพชรพนมพร (สกุลเดิม: พรหมนอก) บุตรของ พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนแรก และอดีตรองนายกรัฐมนตรี มีบุตร 2 คน
ด้านการศึกษา จนปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน การคลัง และการธนาคาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาโท สาขาสังคมสงเคราะห์ในกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประสบการณ์ทางการเมือง เป็นอดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี และได้รับเลือกให้เป็นรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ในปี พ.ศ. 2544 ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก สังกัดพรรคชาติพัฒนา ได้รับเลือกตั้งเป็น ครั้งแรก จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) และได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ประชา พรหมนอก)
ต่อมาปี 2548 ศราวุธ ได้ย้ายไปสังกัด พรรคไทยรักไทย และลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.สมัยที่ 2
ปี 2550 ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการพรรค แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง กระนั้นยังได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2551
หลังพรรคพลังประชาชน ถูกยุบ และเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย จึงย้ายสังกัดเพื่อไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.สมัยที่ 3
ด้าน “คณิศร ขุริรัง” หรือ “ทนายแห้ว” อายุ 56 ปี (เกิด 29 กุมภาพันธ์ 2511) จบ นิติศาสตรบัณฑิต ม.รามคำแหง, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, ประกาศนียบัตรหลักสูตรวิชาว่าความ สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ แห่งสภาทนายความ, ประกาศนียบัตรชั้นสูง (หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง) สถาบันพระปกเกล้า (ปปร.13), วุฒิบัตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง วิทยาลัยการยุติธรรม รุ่นที่ 23 (บ.ย.ส.23) และประกาศนียบัตร หลักสูตรนักการเมืองท้องถิ่นก้าวหน้า รุ่นที่ 1 มูลนิธิคณะก้าวหน้า
ด้านการทำงาน สมาชิกสภา ทน.อุดรธานี 2547-2551, สมาชิกและรองประธานสภา อบจ.อุดรธานี 2549-2551, รองนายก อบจ.อุดรธานี 2552-2555, ประธานสภาทนายความ จ.อุดรธานี (2 สมัย) 2559-2565
แน่นอน, ถ้าดูจากชื่อชั้นแล้ว ต้องยอมรับว่า “ศราวุธ เพชรพนมพร” มีประสบการณ์ทางการเมืองเหนือกว่า ขณะ “คณิศร ขุริรัง” ยังดูเหมือน “โนเนม” ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะอดีตพรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชน ตั้งใจที่จะสร้างนักสู้รุ่นใหม่ในสนามการเมือง “ผูกขาด” อยู่แล้ว
ที่สำคัญ วัดกันที่ความกว้างใหญ่ของสนามเลือกตั้ง การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ครอบคลุมผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,258,454 คน จากพื้นที่การปกครอง 20 อำเภอ แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 42 เขต มี 2,242 หน่วยเลือกตั้ง โดยอำเภอที่มีเขตเลือกตั้งมากที่สุดคือ อ.เมือง 11 เขต อำเภอที่มีเขตเลือกตั้ง 3 เขต คือ กุมภวาปี, บ้านผือ, เพ็ญ, บ้านดุง และหนองหาน อำเภอที่มีเขตเลือกตั้ง 2 เขต คือ กุดจับ และหนองวัวซอ อำเภอที่มีเขตเลือกตั้ง 1 เขต คือ ไชยวาน, ทุ่งฝน, นายูง, โนนสะอาด, น้ำโสม, พิบูลย์รักษ์, วังสามหมอ, ศรีธาตุ, สร้างคอม, หนองแสง, กู่แก้ว และประจักษ์ศิลปาคม
จากความกว้างใหญ่ของสนามเลือกตั้งดังกล่าว ตัวเลขหนึ่งที่อาจเป็น “ตัวแปร” ผลการเลือกตั้งอยู่ไม่น้อยก็คือ จำนวนส.ส.ที่มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่เลือกตั้ง โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งส.ส.ล่าสุด(2566) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,248,824 คน มีทั้งหมด 10 เขต จำนวนส.ส. 10 ที่นั่ง ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง 7 เขต พรรคไทยสร้างไทย 2 เขต และ พรรคก้าวไกล 1 เขต
สำหรับ ผลเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อจังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทย 328,084 คะแนน พรรครวมไทยสร้างชาติ 102,051 คะแนน และพรรคก้าวไกล 229,386 คะแนน
ผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง จังหวัดอุดรธานี มี ดังนี้
เขตเลือกตั้งที่ 1 นายณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ พรรคก้าวไกล 32,476 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 2 นางหทัยรัตน์ เพชรพนมพร พรรคเพื่อไทย 41,285 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 3 นายหรั่ง ธุระพล พรรคไทยสร้างไทย 36,250 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 4 นายภาณุ พรวัฒนา พรรคเพื่อไทย 21,475 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 5 นายกรวีร์ สาราคำ พรรคเพื่อไทย 36,489 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 6 นายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ พรรคไทยสร้างไทย 27,751 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 7 นายธีระชัย แสนแก้ว พรรคเพื่อไทย 33,928 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 8 นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม พรรคเพื่อไทย 33,537 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 9 นายวัชระพล ขาวขำ พรรคเพื่อไทย 43,529 คะแนน
เขตเลือกตั้งที่ 10 นางเทียบจุฑา ขาวขำ พรรคเพื่อไทย 47,532 คะแนน
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น 2 ที่นั่งของพรรคไทยสร้างไทย ดูเหมือนมีมติฝักใฝ่ฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก แม้ตัวยังอยู่ฝ่ายค้านก็ตาม
หากวิเคราะห์กระแสนิยมที่ผ่านมา จริงอยู่,ในพื้นที่เขตเมืองบางส่วน โดยเฉพาะพื้นที่สถานศึกษา มหาวิทยาลัย พรรคประชาชนได้เปรียบ เพราะมีกระแส “คนรุ่นใหม่” มาแรง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่า จังหวัดอุดรฯ ยังคงเป็นพื้นที่ “คนเสื้อแดง” และเลือกพรรคเพื่อไทย เป็นส่วนใหญ่ ทำให้พรรคก้าวไกล แทรกเข้ามาได้แค่ 1 ที่นั่ง
แต่ปัจจุบัน กระแส “คนรุ่นใหม่” เริ่มบางลง หลังจากพรรคก้าวไกลถูกยุบ และแกนนำสำคัญ(กรรมการบริหารพรรค) ต้องเว้นวรรคทางการเมืองถึง 10 ปี จึงเหลือคนที่มีบทบาทสำคัญอยู่ในพรรคไม่กี่คน ประกอบกับหัวหน้าพรรคคนใหม่ของพรรคประชาชน ยังไม่อาจสร้างกระแสนิยมของตัวเอง และของพรรคได้ ทำให้กระแสพรรคประชาชนเริ่มตกลง (จากผลโพลบางสำนัก) ทำให้ไม่แน่ว่า กระแสนิยมที่มีต่อพรรคก้าวไกลเดิม ยังสืบสานมายังพรรคประชาชนหรือไม่ แค่ไหน?
ต่างจากพรรคเพื่อไทย ที่กุมความได้เปรียบในการเป็นรัฐบาล และสามารถผลัดดันนโยบาย “เรือธง” ของพรรค อย่าง นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ ทำให้อย่างน้อย “กลุ่มคนเปราะบาง” หลายล้านคน ได้รับแจกเงินอย่างถ้วนหน้า และยังมีเฟส 2 กับคนทั่วไปตามมาอีก นี่คือ ความได้เปรียบในกระแสนิยมที่เห็นชัดที่สุด
สุดท้าย การลงพื้นที่หาเสียงของ “ทักษิณ” และ “พิธา” ก็ต้องวัดกันที่ “ความเก๋า” และ “ความสด”
“ทักษิณ” เลือกที่จะเจาะกลุ่มเป้าหมาย และหวังผลคะแนนเสียงได้ อย่างกำหนดการที่ออกมา ขณะ “พิธา” เลือกที่จะใช้เวทีปราศรัยใหญ่ในโค้งสุดท้าย เพื่อดึงดูดความสนใจ และอาศัยท่วงท่าลีลา “พระเอก” ทางการเมืองเรียกกระแสนิยม ซึ่งถ้าเป็นช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งส.ส. ปี2566 การช่วยหาเสียงของ “พิธา” แบบเอา “ความสด” บดขยี้ “ความเก๋า” ถือว่าได้ผล แต่วันนี้ต้องดูผลหลังเลือกตั้ง
เพราะวิเคราะห์จากข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบแล้ว ถ้า “เพื่อไทย” แพ้ ก็แสดงว่า กระแส “พิธา” ยังมาแรง และเอาอยู่ นอกนั้น ดูอย่างไรก็ยังหาประตูชนะเพื่อไทยไม่เจอ ไม่ว่าด้านใด หรือไม่จริง