วาระร้อน เขย่า ‘รัฐบาล-กองทัพ’

วาระร้อน เขย่า ‘รัฐบาล-กองทัพ’

ประเด็นร้อนสั่นคลอน "รัฐบาลแพทองธาร" ข้ามปี ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม เปิดช่องล้วงลูกโผทหาร-สกัดรัฐประหาร ยังไม่รู้ออกมารูปแบบใด ท่ามกลางเสียงต้านคนใน-นอกกองทัพ การปั่นกระแสปกป้อง "เกาะกูด" จุดติด อุปสรรคการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

KEY

POINTS

  • เมื่อรัฐบาลกระชับพื้นที่กองทัพ แตะกล่องดวงใจ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ป้อมปราการป้องกันฝ่ายการเมืองล้วงโผทหาร พร้อมตีกรอบห้ามรัฐประหาร
  • ทหารเกษียณส่งสัญญาณคัดค้าน ผ่าน พล.อ.ณัฐพล ให้ทำความเข้าใจฝ่ายการเมือง จับปฏิกิริยาฝั่ง ผบ.เหล่าทัพ
  • จับตาการแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC ฝ่ายไทย เดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
  • กระแสปกป้องเกาะกูดจุดติดของม็อบรวมกันเฉพาะกิจ เรียกร้องรัฐบาลยกเลิก MOU 44

กองทัพ เป็นกลไกหนึ่งที่ต้องตอบสนองนโยบายรัฐบาล มิใช่เฉพาะเรื่องความมั่นคง แต่ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจ สังคม แก้ปัญหาปากท้อง การช่วยเหลือประชาชน เป็นต้น

กว่า 1 ปีภายใต้บริหารประเทศ พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล จากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ถึง แพทองธาร ชินวัตร เปิดปฏิบัติการ กระชับพื้นที่กองทัพ ตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้

การปรับโครงสร้าง ลดนายพล และทหารทุกระดับชั้น ลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ยึดที่ดินสนามกอล์ฟ เดินหน้าโอนย้ายสวัสดิการเชิงธุรกิจให้หน่วยงานอื่น สร้างความขุ่นข้องหมองใจ ให้คนในกองทัพไม่น้อย แต่ยังไม่ถึงกับแข็งขืน เพราะมุมหนึ่งก็ยอมรับว่า ถึงเวลาทหารต้องปรับตัวตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป

ทว่า เมื่อรัฐบาลแตะ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2551 กลไกป้องกันฝ่ายการเมืองล้วงลูกโผทหาร ก็เริ่มเห็นปฏิกิริยาต่อต้านทั้งคนใน-นอกกองทัพ

ปัจจุบันความคืบหน้าปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ฉบับ “สุทิน คลังแสง” คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.2568 จากนั้นจะส่งให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นำเข้าบอร์ดกลั่นกรองที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย 

หากไร้ปัญหาจะนำเข้า ครม.ขออนุมัติ ซึ่งจะกลายเป็นร่างของรัฐบาลที่นำไปประกบคู่กับร่างของพรรคประชาชนเข้าสู่กระบวนการพิจารณารัฐสภา

ปีที่แล้ว พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม เดินสายพบปะทำความเข้าใจกับน้องๆ ในกองทัพ ทั้ง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ส่วน ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ.มีคิว หลังปีใหม่

เนื่องจากเนื้อหาสาระต้องปรับแก้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมือง ที่ระบุให้ “นายกฯ”และ “รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง” นั่งในบอร์ดปรับย้ายทหารชั้นนายพล

ส่งผลให้เสียงฝ่ายการเมืองสูสีกับฝ่ายกองทัพ เป็น 4 : 5 เสียง เพราะในพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม 2551 เปิดช่องไว้ว่า หากการปรับย้ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ใช้วิธีการ “โหวต”

ตั้งแต่ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีผลบังคับใช้ การโหวตไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว แม้การปรับย้ายบางเหล่าทัพมีปัญหา แต่ ผบ.เหล่าทัพมีจุดยืนไม่ล้วงลูกเหล่าทัพอื่นจึงปฏิเสธการโหวต

เมื่อฝ่าย ผบ.เหล่าทัพ ซึ่งมี 5 เสียง ไม่ขยับ ฝ่ายการเมืองก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมีเพียง 1 เสียง คือ รมว.กลาโหม หรือหากมี รมช.กลาโหม ก็เพิ่มเป็น 2 เสียง

ดังนั้น ต้องรอดูท่าที ผบ.เหล่าทัพ ว่าจะเห็นด้วย หรือโต้แย้งต่อการเพิ่มสัดส่วนฝ่ายการเมือง 2 ตำแหน่ง ในบอร์ดปรับย้ายกลาโหม เพราะสุ่มเสี่ยงที่โผทหารถูกล้วงลูกในอนาคต

แต่กระนั้น ก็ต้องจับสัญญาณพรรคเพื่อไทย จะยินยอมให้ตัดทิ้งมาตรา 35 การสกัดรัฐประหาร ที่เปิดช่องทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ไม่ถือว่าผิดวินัย และกฎหมายอาญาทหาร รวมถึงให้อำนาจนายกฯ สั่งพักราชการหรือไม่ 

หลังจากได้เห็นพลังของทหารเกษียณ ส่งสัญญาณคัดค้าน “นายกฯ-รองนายกฯ” นั่งบอร์ดปรับย้าย รวมถึงการบัญญัติ มาตรา 35 ลงในร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เนื่องจากกฎหมายปกติ มีบทลงโทษคนยึดอำนาจ ด้วยข้อหา“กบฎ”อยู่แล้ว

แม้ยกแรก คนพรรคเพื่อไทยจะยอมถอย แต่ใช่ว่าจะยอมแพ้ ตราบใดที่ร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ยังไม่ผ่าน ครม. ก็ยังเดินเกมต่อรองได้อีก ไม่ต่างจากฟากของผู้นำเหล่าทัพ ที่หวังให้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้บทสรุปที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเองมากที่สุด

เช่นเดียวกับการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะเห็นความชัดเจนปีนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค(JTC)ฝ่ายไทย ที่มี “ภูมิธรรม” เป็นประธาน

เพราะไทม์ไลน์เดิม ต้องนำเข้า ครม.กลางเดือน พ.ย.2567 แต่เมื่อหวั่นกระแสต้าน จึงส่งผลให้รัฐบาลทอดเวลาออกไปก่อน เพื่อรีเช็คกระแสม็อบรวมกันเฉพาะกิจ ทั้ง กลุ่มสนธิ ลิ้มทองกุล กลุ่มหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ผสมโรงด้วย กลุ่มจตุพร พรหมพันธ์ และทนายนกเขา ฯ 

ผลการประเมินส่วนใหญ่ ความเคลื่อนไหวยังอยู่ในโซเชียล ส่วนกลุ่มที่พร้อมจะลงถนนตามแกนนำอาจมีจำนวนไม่มาก แต่หากจะฟันธงว่าปลุกไม่ขึ้น ก็ดูประมาทเกินไป อาจมองได้ว่า ม็อบอยู่ในช่วงโหมโรง เลี้ยงกระแส รอสถานการณ์สุกงอม หรือจนกว่าการแต่งตั้งกรรมการ JTC ชัดเจน มีการขับเคลื่อนการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ใช้ MOU 44 อาจต้องประเมินใหม่อีกรอบ

เช่นเดียวกับ กองทัพ โดยเฉพาะกองทัพเรือ มีเจ้าหน้าที่กรมอุทกศาสตร์ ไปเป็นส่วนหนึ่งของ JTC เพื่อทำหน้าที่ชี้เส้นเขตทางทะเล ซึ่งจะส่งผลไปถึงเส้นเขตแดนทางบก ตลอดชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อยู่ในความดูแลของกองทัพบก

แม้ปัจจุบันกองทัพเรือเปิดหน้า พร้อมสนับสนุนสร้างสภาวะแวดล้อม เอื้อต่อการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เช่น เปลี่ยนแผนการฝึก โดยไม่ใช้พื้นที่เกาะกูด จ.ตราด 

แต่กองทัพเรือมีหลักการ เรื่องเขตแดนควรให้ได้ข้อสรุป ก่อนเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ กฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายทะเล และสนธิสัญญาที่จะตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ

ส่วนรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก ท่ามกลางกระแสปกป้องอธิปไตยจุดติด วัดได้จากเสียงลุกฮือ กรณีเรือประมงไทยถูกเรือรบเมียนมายิง และกลุ่มว้ารุกล้ำพื้นที่ชายแดนไทย

ดังนั้น การเดินหน้าแบ่งผลประโยชน์พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งยวด เพราะเรื่องอธิปไตยละเอียดต่อความรู้สึกคนไทย และกองทัพ ไม่เช่นนั้นนายกฯแพทองธาร อาจอยู่ไม่ครบเทอม