'อุ๊งอิ๊ง' ขอพร 'สุรยุทธ์' ตอกย้ำอะไร ทำไมไปได้สวย
ดูเหมือนภาพ การพบกันระหว่าง “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าที่จะมองแบบผิวเผินว่า เป็นปกติธรรมดา ที่นายกรัฐมนตรี เข้าพบขอพรปีใหม่ “ประธานองคมนตรี” ซึ่งสมัย“ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็มีนายกรัฐมนตรี เข้าพบและขอพรปีใหม่เช่นกัน
แต่ความไม่ปกติธรรมดา เห็นได้จาก “วาสนา นาน่วม” นักข่าวสายทหาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam (3 ม.ค.68)ระบุว่า
“ประวัติศาสตร์ หน้าใหม่
“บิ๊กแอ้ด” ให้“นายกฯอิ๊งค์” เข้าพบขอพรปีใหม่ ขอประสบความสำเร็จในการทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง ก่อนไป สักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง หลังเช้า ไปเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราชฯ และ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่บ้านพิษณุโลก
#ดีลผสมข้ามขั้ว ประวัติศาสตร์หน้าใหม่”....
ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 และ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตนายทหาร จปร.7 และอดีตรองผอ.รมน.ที่ย้ายข้างมาอยู่กับ “ทักษิณ” เคยให้สัมภาษณ์เปิดเบื้องหลังรัฐประหารว่า “บิ๊กแอ้ด” ร่วมวางแผน ก่อนการรัฐประหารด้วย
ย้อนไปช่วงก่อนการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน (23 ก.ค. 2566) “วาสนา นาน่วม” ผู้สื่อข่าวชื่อดังสายทหาร เช่นกัน ได้ทำไลฟ์สดผ่าน Youtube พูดถึงปรากฏการณ์การจัดตั้งรัฐบาล ที่ทางพรรคเพื่อไทย ชวนพรรคร่วมรัฐบาลเก่า มาหารือเรื่องการหาทางออกของประเทศ
โดย “วาสนา” ชี้ว่า พรรคเพื่อไทย และกลุ่มอดีตพรรคร่วมรัฐบาล มีการพูดคุยกันมานานแล้ว รวมถึงเล่ามุมมองของเกมการเมืองของพี่น้อง 3 ป.
“วาสนา” ระบุ ในกลุ่มผู้มีอำนาจในขณะนี้ ถือว่า ก้าวไกล เป็นอันตรายที่สุด จึงพุ่งเป้าจัดการไปที่ก้าวไกล และมีการตกลงสลายขั้ว เหลือง-แดง เพื่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล โดยจะให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีเงื่อนไขให้ทักษิณ กลับบ้าน ไม่ถือเป็นศัตรูอีกต่อไป ขณะที่บทบาท 3 ป.ถอยไปอยู่ข้างหลัง
แล้วต่อมา ทุกอย่างก็เดินไปตามเกม นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงวุฒิสภา(ส.ว.)อย่างท่วมท้น ผ่านฉลุย ต่างลิบลับกับ กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล(ขณะนั้น) ที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา
โดยเฉพาะ ส.ว.สายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภา ถือว่า เทคะแนนให้เลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น ภาพการถ่ายโอนงานที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ นายเศรษฐา ยังเป็นไปด้วยความชื่นมื่นยิ่งนัก จนหลายคนแปลกใจ เพราะอย่าลืม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่รัฐประหารรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาว “ทักษิณ” และในการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย ก็เคยประกาศเอาไว้ชัดเจน ว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับ พรรคการเมืองของ “3 ป.” แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตร
ส่วนการเดินทางกลับไทยของ “ทักษิณ” ก็เป็นไปตามกำหนดการ เวลา 09.00 น. วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เดินทางถึงสนามบินดอนเมือง ด้วยเครื่องบินส่วนตัว Gulfstream G650
ต่อมา เวลา 10.40 น. ข่าวจากแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยแพร่ประกาศระบุว่า พันตำรวจเอกคมวุฒิ จองบุญวัฒนา ผู้กำกับการด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานกรุงเทพ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้นำบุคคลตามหมายจับมาส่งต่อศาล โดยมีรายละเอียด 3 คดี ดังนี้
1. คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) อนุมัติเงินกู้สินเชื่อให้พม่า 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์บริษัท ไทยคม และบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โทษจำคุก 3 ปี
2. คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ ‘คดีหวยบนดิน’ โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุกทักษิณ 2 ปี
3. คดีให้บุคคลอื่น (นอมินี) ถือหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 5 ปี
อย่างไรก็ตาม คดีที่ 1 และคดีที่ 2 มีการนับโทษซ้อนกัน รวมแล้ว จำคุก 3 คดี เป็นระยะเวลา 8 ปี
ต่อมา “ทักษิณ” ถูกนำตัวเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แต่ยังไม่ทันข้ามคืน ก็ถูกส่งมารักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยอาการป่วยกำเริบ / อย่างไรก็ตาม จากการขอพระราชทานอภัยโทษ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เพื่อทำประโยชน์ให้บ้านเมืองเหลือ 1 ปี และหลังเข้าเกณฑ์ “พักโทษ” ก็ได้รับการ “พักโทษ” จนพ้นโทษในที่สุด
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น วันที่ “ทักษิณ” กลับไทย (22 ส.ค.) คือวันที่รัฐสภามีมติ 482 ต่อ 165 เห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในจำนวนนี้เป็นคะแนนจาก ส.ว.ถึง 152 เสียง และยังมี ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 16 เสียง “แหกมติพรรค” มาร่วมโหวตสนับสนุน
ส่วนการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก “ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” และ “มีพฤติกรรมอันเป็นการ “ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” จากกรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในการปรับ ครม. “เศรษฐา 1/1” ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
และ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ “เห็นชอบ” ให้ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ด้วยคะแนนเสียง 319 ต่อ 145 เสียง โดยมี 6 ส.ส.พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเสียงเดียวอีก 3 พรรค ร่วมโหวตสนับสนุนด้วย
ประเด็นที่วิเคราะห์กันมาก ถึง “ดีล” ระหว่าง “ทักษิณ” กับ ผู้มีอำนาจในฝ่ายอนุรักษนิยม ก็คือ “เงื่อนไข” ฟื้นคะแนนนิยมในฝ่ายอนุรักษ์ เนื่องจากผลจากการเลือกตั้ง เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ได้ส.ส.ทั้งสองระบบ(ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ) 151 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ได้ส.ส. 141 ที่นั่ง โดยที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์ ต่างพากันสูญเสียที่นั่ง รั้งอยู่ในอันดับ 3-4-5 ตามลำดับ ซึ่ง พลิกความคาดหมายของหลายคน
ประเด็นสำคัญ เนื่องจากหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจสืบเนื่องยาวนานนับ 8 ปี จนเกิดกระแส “เบื่อประยุทธ์” รุนแรง และต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รวมถึงถูกพรรคฝ่ายค้านปลุกกระแสโจมตีเรื่อง “สืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร” จึงทำให้พรรคก้าวไกล ซึ่งชูนโยบายเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อเปลี่ยนประเทศ และ “ไม่เอา 2 ลุง”(ลุงตู่-ลุงป้อม) ภายใต้สโลแกน “มีลุง ไม่มีเรา” หรือ “มีเรา ไม่มีลุง” เข้าตาประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะกับ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” และคนที่รักประชาธิปไตย
ประเด็นต่อมา ทำไมต้อง “ทักษิณ” เป็น “หัวหอก” ในการกอบกู้ฟื้นฟูพรรคฝ่ายอนุรักษ์ เรื่องนี้ อาจวัดที่ผลงานการเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของ “ทักษิณ” สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ที่ผ่านมา ถือว่า ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง และประชาชนจำนวนไม่น้อย ก็ยังคง “รักทักษิณ” โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง(บวกเสื้อเหลืองบางส่วนหลังสลายขั้ว) และกลุ่มคนยากจน คนรากหญ้าแทบทุกภูมิภาค ที่ถือว่าพอฟัดพอเหวี่ยงกับกระแสคนรุ่นใหม่ของพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบันก็คือ พรรคประชาชน(ปชน.)
ขณะเดียวกัน เมื่อหันมามอง “ตัวเลือกอื่น” โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์เก่า ต่างก็ไม่ใช่คู่ต่อสู้ในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองสูง
ประเด็นสำคัญ การปล่อยให้พรรคเพื่อไทย ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และครองที่นั่งส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในการร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2566 และในสมัยหน้า โอกาสที่พรรคฝ่ายอนุรักษ์จะมีเสียงข้างน้อย และเป็นฝ่ายค้านถาวรมีความเป็นไปได้สูง
อะไรไม่สำคัญเท่ากับ นักการเมืองที่อยู่ในพรรคการเมืองที่ถูกตีตราว่า เป็น “ฝ่ายอนุรักษ์” อยู่เวลานี้ ในอดีตหลายคนก็คือ นักการเมืองของ รัฐบาล “ทักษิณ” มาก่อน มองในมุมนี้ ก็แทบไม่เห็นว่าจะอยู่คนละขั้วแต่อย่างใด เพราะล้วนเคยอยู่ร่วมกันมาก่อน เพียงแต่ถูกการรัฐประหารแยกสลายแตกขั้วชั่วคราวเท่านั้นเอง
ดังนั้น การมี “ทักษิณ” เป็น “ผู้นำ” การต่อสู้ในฝ่ายนี้ จึงมีความเป็นธรรมชาติทางการเมือง มากกว่า การร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชนเสียอีก
นอกจากนั้น ผลพลอยได้จาก “ดีล” นี้ ที่เห็นผลทันตาก็คือ การสลายสีเสื้อ “เหลือง-แดง” ให้หมดไป เหลือก็แต่ ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายสนับสนุนฝ่ายค้านเท่านั้นเอง
แม้ว่า ในความเข้มข้นของอุดมการณ์ อาจทำให้คนเสื้อแดงบางส่วนหันไปเป็นสาวกของ “พรรคส้ม” แต่ก็ไม่มากนัก เพราะยังติดเรื่อง แก้ไข ม.112 (กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ) ที่หลายคนอาจไม่เห็นด้วย จึงไม่อาจเทใจให้พรรคส้มได้ทั้งหมด
ขณะที่ “คนเสื้อเหลือง” หลายคนพอใจที่ยังได้รัฐบาลฝ่ายอนุรักษ์ แม้บางคนจะยังต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” แต่ก็ยากที่จะเทใจให้พรรคส้ม ซึ่งมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน
สรุปแล้ว คนที่ไม่เอารัฐบาล และต่อต้าน “ทักษิณ” อาจเหลือเพียงแค่ “ฝ่ายแค้น” และ “ฝ่ายส้ม” เท่านั้น?
มาถึงวันนี้ จึงไม่แปลกที่ดูเหมือน “ทักษิณ” ยังมีบทบาททางการเมืองสูง
ไม่แปลก ที่ “ทักษิณ” กล้าการันตีว่า ไม่มีแล้วรัฐประหาร เพราะมี “บทเรียน” ให้เรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดได้
“รับรองว่า ไม่มีรัฐประหาร อีกแล้ว” ทักษิณ พูดทำนองนี้ ในหลายเวที
“เขาคิดว่า จะเหมือนเก่า คิดว่าหาเรื่องวุ่นวายไป วุ่นวายมา เดี๋ยวทหารก็จะออก แต่เดี๋ยวนี้ ไม่มีแล้ว หมดยุค เลิก ทหารรู้ดีว่าบ้านเมืองเสียหาย ไปมาก
วันนี้องค์กรอิสระเขายึดหลักบ้านเมืองแล้ว เขาไม่ยึดหลักเก่าๆแล้ว ก็จะทำให้บ้านเมืองเข้มแข็งขึ้น” ทักษิณ กล่าว ท่ามกลางการปลุกม็อบ อาจนำไปสู่การรัฐประหารรัฐบาล “อุ๊งอิ๊ง” หรือไม่
ยิ่งกว่านั้น ยังน่าจับตามอง สิ่งที่ “ทักษิณ” เคยพูดกับคนเชียงใหม่เอาไว้ว่า สงกรานต์ปีนี้(2568) อาจได้เห็น “ยิ่งลักษณ์” กลับมาร่วมด้วย จะเป็นจริงหรือไม่ ด้วยวิธีใด?
เพราะทั้งหลายทั้งปวง “จุดโฟกัส” อาจอยู่ที่ ล่าสุด กรณี “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร นายกรัฐมนตรี เข้าขอพรปีใหม่ จาก “พล.อ.สุรยุทธ์” ประธานองคมนตรี ซึ่งเท่ากับ “ตอกย้ำ” ได้หรือไม่ ว่า “ดีล” ยังไปได้สวย หรือว่าอย่างไร?