ศึกซักฟอก 'นายกฯอิ๊ง' ใช้ 'ทักษิณ' เป็นอาวุธ

ศึกซักฟอก 'นายกฯอิ๊ง' ใช้ 'ทักษิณ' เป็นอาวุธ

ในที่สุด ฝ่ายค้าน ก็ตัดสินใจเลือก “นายกฯอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เพียงคนเดียว ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ และที่สำคัญ ตั้งข้อกล่าวหาเอาไว้อย่างร้ายแรง ถึง 6 ประเด็นเลยทีเดียว

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) แถลงว่า ได้นำรายชื่อส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน 166 คน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว

“เราเชื่อว่าทุก ๆ ปัญหา เกิดจากตัวนายกรัฐมนตรีเองที่ไม่สามารถคุมเสียงรัฐบาลได้ และเกิดจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว จึงเป็นที่มาที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เพราะปัญหาทั้งหมดอยู่ที่นายกฯ ที่จะตอบชี้แจงคนเดียวเท่านั้น”

สำหรับ 6 ประเด็น ที่ “นายกฯอิงค์” จะต้องชี้แจงให้ได้ ประกอบด้วย

 1.ไม่มีคุณสมบัติ และไม่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารด้วยประการทั้งปวง ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ และขาดเจตจำนงในการบริหารราชการแผ่นดินที่แก้ปัญหาให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ส่งผลทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศชาติ

 2.จงใจลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและไม่มีความรับผิดชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ เพียงเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ ส่วนตัว บิดา ครอบครัว และพวกพ้อง อยู่เหนือผลประโยชน์ของส่วนรวม

 3.ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์เอาเปรียบประชาชน เอาเปรียบสังคม โกหกหลอกลวง ไม่ดำเนินการตามนโยบายที่ให้สัญญาไว้กับประชาชน เป็นนั่งร้านช่วยเหลือต่างตอบแทนกลุ่มบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

4.บริหารบ้านเมืองผิดพลาดล้มเหลวอย่างร้ายแรงทั้งในด้านการเมือง การปฏิรูปกองทัพ ความมั่นคง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ทำลายนิติรัฐ ทำลายระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

5.เจตนาและปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันภายใต้การบริหารงานของตนเอง ทั้งทุจริตเชิงนโยบาย บริหารบ้านเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องและกลุ่มทุน แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความเหมาะสม ขาดความรู้ความสามารถ หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตไปเป็นรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญอื่น

6.สมัครใจยินยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ

 อย่างไรก็ตาม ที่น่าจับตามองยิ่งกว่า ก็คือ ความพยายามที่จะโยงใยปัญหาอันเกิดจาก “ทักษิณ” มาโจมตีทางการเมือง

โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ที่พกเอาแรงแค้นมาตั้งแต่ถูกเขี่ยออกจากการร่วมรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ เน้น 4 เรื่องหลักที่จะ อภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิ๊งค์”

ได้แก่ ที่ดินอัลไพน์, การพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, เอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพลกซ์ ในประเด็นกาสิโน และเอ็มโอยู 2544

เห็นชัดว่า ประเด็นส่วนใหญ่ที่จะอภิปรายฯ ก็คือ ประเด็นที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา เตรียมปลุกม็อบเขย่ารัฐบาลแพทองธารอยู่เช่นกัน และเป็นไปได้ที่ข้อมูลบางส่วน จะมาจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา นั่นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ “อาวุธหนัก” ที่สุด ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ดินอัลไพน์ กรณีนายกฯอิงค์ ถือหุ้น และ การพักรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจของ “ทักษิณ” ที่มีคดีอยู่ใน “ป.ป.ช.” เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน

เรื่องถือหุ้นอัลไพน์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เคยยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบ น.ส.แพทองธาร กรณีถือหุ้นบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ (16 ส.ค.67) จนวันที่ 3 ก.ย.67 เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อ 8 หรือไม่ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5)

 “เรืองไกร” ชี้ว่า จากข้อมูลสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) กรมธุรกิจการค้า ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 บริษัทอัลไพน์ฯ มีบุคคลถือหุ้น 4 คน คือ คุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ 10% และลูก 3 คน ในจำนวนเท่ากัน คือคนละ 30% ซึ่งพอมาถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเลือก น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ และมีพระราชโองการแต่งตั้งในวันดังกล่าว ยังไม่พบการโอนหุ้น จนกระทั่งต้นเดือนกันยายน ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรีจึงพบว่า มีการโอนหุ้นในชื่อของ น.ส.แพทองธาร ในวันที่ 3 ก.ย.ไปให้คุณหญิงพจมานจำนวน 30% และไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันถัดไป จึงเห็นข้อเท็จจริงชัดจากใบขอยื่นบัญชี รายละเอียดผู้ถือหุ้น ทั้ง ณ วันที่ 30 เม.ย. และวันที่ 4 ก.ย. ว่าเป็นช่วงที่ น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ แล้ว ซึ่งการเป็นนายกฯ และถือหุ้นบริษัทอัลไพน์ 30% ถือว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดให้ถือได้ไม่เกิน 5% ดังนั้นในประเด็นนี้จะยื่นต่อ ป.ป.ช.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักวิชาการกฎหมายบางส่วนเห็นว่า กรณีนายกฯอิงค์กับที่ดินอัลไพน์ ต้องดูเจตนา เป็นสำคัญ ซึ่ง การได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯถือว่า ไม่ทันได้ตั้งตัวที่จะขึ้นรับตำแหน่ง การโอนหุ้นไว้ก่อน จึงไม่จำเป็น และถ้าโอนก่อน อาจมีผลทางธุรกิจ หุ้นราคาตก ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรม เพราะหลังรับตำแหน่ง ก็ไม่นิ่งนอนใจ เร่งโอนหุ้นทันที เพื่อทำตามกฎหมาย

 ส่วนกรณีที่เป็นข้อพิพาทที่ดินอันไพน์ ความจริงต้องถือว่า บริษัทของครอบครัวชินวัตร เป็นผู้เสียหาย เพราะชื้อที่ดินต่อจากคนอื่น(นายเสนาะ เทียนทอง)โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลตัดสิน เพิกถอนที่ดิน ก็แค่ปฏิบัติตามเท่านั้นเอง

 แม้ความคิดเห็นดังกล่าว นักกฎหมายอีกส่วน เห็นต่างก็ตาม

โดย รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ชี้ว่า กรณีการถือหุ้นอัลไพน์ของนายกฯ แพทองธารนั้น หากพิจารณาตามข้อกฎหมาย จุดตัดมันอยู่ตรงวันที่เริ่มดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับวันที่โอนหุ้น ต้องไปดูว่า นายกฯ แพทองธารโอนหุ้นอัลไพน์ออกไปก่อน หรือหลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ มีการผ่องถ่ายหรือโอนหุ้นออกไปก่อน ถือว่าไม่ขัดจริยธรรม

เพราะข้อกำหนดเรื่อง “จริยธรรม” พุ่งตรงไปที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ใช่ตัว น.ส.แพทองธาร โดยในมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรีด้วย ว่าต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 ถ้า ณ วันที่ น.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังถือหุ้นอัลไพน์อยู่ ก็ต้องไปพิจารณาว่า นายกฯ รู้หรือไม่ว่าธุรกิจนี้มีปัญหา รู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ หรือมีเหตุอันควรรู้หรือไม่ว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ ถ้ารู้อยู่แล้วยังถือครองอยู่ในช่วงที่ดำรงแหน่งนายกฯ ก็ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมแล้ว ส่วนจะมีผู้ไปร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคือศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยหรือไม่ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

นี่คือ ประเด็นที่เชื่อว่า จะต้องมีการอภิปรายฯและชี้แจงในสภาฯ อย่างร้อนแรง

อีกประเด็น กรณี “ทักษิณ” รักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เรื่องนี้สิ่งที่ประชาชนสนใจ อยู่ที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายฯ ว่า แตกต่างจากที่เคยเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนแค่ไหน

ทั้งอย่าลืม ศาลรัฐธรรมนูญ เคยยกคำร้องกรณี “ทักษิณ” รักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ทุกคำร้องมาแล้ว เหลือแต่ “ป.ป.ช.” ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ

ดังนั้น ถ้าการอภิปรายฯไม่สามารถหาหลักฐานเด็ด ชนิดปล่อยกลางสภาฯแล้ว ฝ่ายรัฐบาลพูดไม่ออก ก็อาจทำได้แค่ตอกย้ำข้อมูลเดิมที่เป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนไปแล้วเท่านั้นเอง

ที่น่าสนใจ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่องนี้ หัวข้อ “ญัตติฝ่ายค้าน”

 “หมอวรงค์” ระบุว่า “ผมคิดว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าที่ตัวนายกอุ๊งอิ๊งคนเดียว งานนี้มีได้มีเสีย ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล โดยเฉพาะข้อความในญัตติ ที่ระบุว่า

“นอกจากนี้ยังสมัครใจ ยินยอมให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง”

“หมอวรงค์” ชี้ว่า อภิปรายครั้งนี้จะเป็นโอกาส ที่ฝ่ายค้านสามารถขึงพืดทั้งนายทักษิณ และอุ๊งอิ๊งไปได้พร้อมๆกัน และฝ่ายรัฐบาลจะมาอ้างว่า ห้ามเอ่ยชื่อคนนอกก็ไม่ได้ เพราะชื่อนายทักษิณถูกบรรจุอยู่ในญัตติ

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณผู้ชักใยและอุ๊งอิ๊งผู้เป็นนั่งร้าน เป็นที่รับรู้กันของประชาชนหลากหลายประเด็นมาก อยู่ที่ว่า ฝ่ายค้านมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ในการเจาะข้อมูลเชิงลึกหรือไม่

 อย่างน้อยกรณีที่ประชาชนกังขามากๆ คือการอ้างว่าป่วยวิกฤติที่จะต้องส่งตัวไปรักษาตัวที่รพ.ตำรวจต่อเนื่อง 180 วัน และการพักโทษกรณีพิเศษ ที่อ้างว่าอายุเกิน 70 ปี คะแนนการช่วยเหลือตัวเองระยะยาวแค่ 9 คะแนนจากเต็ม 20 มันขัดแย้งกับภาพที่เห็น

แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ถ้าฝ่ายค้านสามารถหาหลักฐานเด็ดๆไม่กี่ชิ้นเช่น เอาภาพชั้น14 ในมุมต่างๆมาเปรียบเทียบกับห้องICU หรือห้อง CCU ให้ประชาชนได้เห็น

หาหลักฐานใบรับรองแพทย์ ช่วงรักษาตัวครบ 30วัน 60 วัน หรือ120วัน มาตีแผ่ว่าแพทย์ที่ออกใบรับรองแพทย์เขียนอะไรบ้าง หรือเอกสารใบประเมินคะแนน 9คะแนน ที่อ้างช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ระยะยาว จากคะแนนเต็ม20คะแนน และยอมให้ไปพักโทษกรณีพิเศษ

หาภาพการรักษาโรคหัวใจของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หาภาพการรักษาโรคหัวใจของร.พ.ตำรวจ เพื่อเชื่อมต่อมาตีแผ่ในสภา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่หาไม่ยาก ขนาดบัญชีข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แคชเชียร์เชค ภาพการขนข้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน การยัดไส้ข้าว ซึ่งยากกว่ามาก ฝ่ายค้านในอดีตยังหามาได้

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ จึงไม่ใช่เวทีที่จะมาพูดอย่างเดียว แต่ต้องเอาหลักฐานมาแฉในสภา ถ้ามีหลักฐานมาตีแผ่ให้ประชาชนได้เห็น มันสะท้อนถึงฝีมือฝ่ายค้าน ชนิดที่อุ๊งอิ๊งไปไม่เป็น และรัฐบาลจะตายคาสภา แต่ถ้ามีแต่เนื้อหาเดิมๆที่ประชาชนรับรู้แล้ว เขาจะถือว่าฝ่ายค้านไม่มีฝีมือ นี่จึงเป็นการวัดอนาคตว่า ใครจะอยู่หรือใครจะไป” หมอวรงค์ ระบุทิ้งท้าย

เหนืออื่นใด ประเด็นการอภิปรายฯหลักครั้งนี้ แม้ไม่ได้พูดตรงไปตรงมาว่า “ทักษิณ” ครอบงำรัฐบาล โดย “นายกฯอิ๊ง” และรัฐบาล ยินยอมให้ “ครอบงำ” ก็แทบไม่ต่างกัน ซึ่ง อย่าลืมว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำร้องเหล่านี้มาแล้ว

 เหลือก็แต่ในสภาฯ ที่ดูเหมือนยังต้องการตอกย้ำ และทำให้ประชาชนเห็นว่า มันยังไม่จบ และใช้ “ทักษิณ” นั่นเอง เป็น “อาวุธ” ถล่ม “นายกฯอิ๊ง” เพื่อเรียกคะแนนนิยมทางการเมือง ก็เท่านั้นเอง หรือไม่ ต้องติดตามต่อไป