จับตาผลสอบ 'แพทยสภา' จบ-ไม่จบ ป่วยทิพย์ ชั้น 14

จับตาผลสอบ 'แพทยสภา' จบ-ไม่จบ ป่วยทิพย์ ชั้น 14

เชื่อว่า หลายคนกำลังรอลุ้น ผลสอบของ “แพทยสภา” กรณี “ป่วยทิพย์” บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจนาน 6 เดือน หรือ 180 วัน ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าจะออกมาอย่างไร?

หลังจากเรื่องนี้ เป็นเสมือน “สารตั้งต้น” ที่ถูกนำไปร้องเอาผิดกับนักการเมือง ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

 ที่น่าสนใจ มีคำร้องไปสู่ ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย กรณี รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เอื้อประโยชน์ “ทักษิณ” นอนรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ ทั้งยังห่างไกลเกินกว่าข้อกล่าวหา

ขณะเดียวกัน ยังมีคำร้องไปสู่ “ป.ป.ช.” (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) กล่าวหา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และพลตำรวจโท ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

กรณีส่งตัว “ทักษิณ ชินวัตร” จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจโดยมิชอบ และให้ “ทักษิณ” รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจจนครบ 180 วัน ทั้งที่ไม่ได้ป่วยจริง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ “ทักษิณ” ไม่ต้องถูกคุมขังแม้แต่วันเดียว

 เรื่องนี้ อยู่ในขั้นตอน คณะกรรมการไต่สวนของ “ป.ป.ช.” ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลาอีกนาน กว่าจะส่งให้กรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดหรือไม่

 แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น กรณีป่วยทิพย์บนชั้น 14 รพ.ตำรวจของ “ทักษิณ” ยังเป็น “ไม้ตาย” ของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “นายกฯอิงค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่ผ่านมาด้วย

โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน พุ่งเป้าโจมตี คือ ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่สนใจว่า “ระบบนิติรัฐ” จะเสียหายอย่างไร

“กรณีชั้น14 ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวนายกฯ นี่ไม่ใช่การตำหนิเพียงเพราะบิดาชื่อทักษิณ แต่เป็นความฉิบหายของหลักนิติรัฐ การพังทลายของกฎหมาย ความสูญสิ้นกติกา บ้านเมือง ที่ใช้เส้นสาย ปกครองบ้านเมืองด้วยผลประโยชน์ เอาผลประโยชน์ชาติไปแลกกับผลประโยชน์ของครอบครัว นี่คือสิ่งที่นายกฯไปแลก สาเหตุที่บิดาของท่านไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่เป็นเพราะท่านและพรรคพวกทำดีลแลกประเทศจนสร้างความเสียหายต่อหลักนิติรัฐ”

ขณะที่ “นายกฯอิงค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีฝ่ายค้านหยิบเอาปมป่วยทิพย์ที่ชั้น 14 ของบิดามาอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เรื่องชั้น 14 ตนเองยังไม่เป็นนายกฯ วันที่นายทักษิณกลับก็ยังไม่ได้เป็นนายกฯ และนายทักษิณออกมาจากโรงพยาบาลแล้ว จึงได้เป็นนายกฯ

ทั้งนี้ สิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปรายฯสาระสำคัญส่วนใหญ่ เป็นข้อมูลที่เคยเป็นกระแสข่าวมาแล้วทั้งสิ้น เพียงแต่พยายามจะโยงให้เห็นว่า “นายกฯอิงค์” มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพื่อแลกกับผลประโยชน์ครอบครัว

กระนั้น ทั้งหมดอาจไม่สำคัญเท่ากับ ผลสอบของแพทยสภา ที่กำลังจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ เพราะผลสอบ การรักษาอยู่บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ของ “ทักษิณ” นี้เอง จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่จะถูกนำไปอ้างอิง เพื่อมัดแน่นเอาผิด กรณีออกมาเป็น “ลบ” และเพื่อแก้ต่างให้พ้นข้อกล่าวหา หากออกมาเป็น “บวก”

 เรื่องนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภาฯ ในฐานะประธานอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ ของแพทยสภาฯ สอบสวนกรณีทักษิณ พักรักษาตัวที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ รวมถึงสอบสวนแพทย์รพ.ราชทัณฑ์ที่ให้นายทักษิณออกไปรักษาตัวที่รพ.ตำรวจ เปิดเผยถึงความคืบหน้า(ไทยโพสต์/26 มี.ค.68)ว่า กระบวนการสอบสวนของอนุกรรมการเฉพาะกิจ ถือว่า เสร็จสิ้นแล้ว

 ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายงานผลการสอบสวนเสนอต่อกรรมการแพทยสภา ที่เบื้องต้นมีการนัดประชุมในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งคาดว่าอนุกรรมการจะเสนอผลสอบสวนได้ทันส่งเข้าที่ประชุมใหญ่วันดังกล่าวได้ ตอนนี้ถือว่า สอบสวนเสร็จแล้วเหลือขั้นตอนสรุปทำรายงานและตรวจร่างรายงาน แต่กระบวนการสอบสวนการเก็บข้อมูลถือว่าเสร็จครบหมดแล้ว 99.99 เปอร์เซ็นต์

“ข้อมูลที่อนุกรรมการสอบสวนตรวจสอบ ถือว่าครบถ้วนเท่าที่จะสอบสวนวินิจฉัยในชั้นอนุกรรมการ ซึ่งในส่วนเวชระเบียนการรักษาตัวผู้ป่วย รพ.ตำรวจ ก็ส่งข้อมูลมาให้ในส่วนที่จะส่งมาได้ ซึ่งอนุกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถดำเนินการได้แล้วในส่วนของอนุกรรมการ ที่ก็เพียงพอที่จะพิจารณาได้ รพ.ตำรวจก็ส่งข้อมูลต่างๆ ตามที่อนุกรรมการส่งเรื่องไปให้ส่งมา เขาก็ส่งให้หมด รวมถึงตัวแพทย์รพ.ตำรวจ ก็เดินทางมาชี้แจงกับอนุกรรมการหมด คนที่เกี่ยวข้องที่ถูกร้องก็มาชี้แจงกับอนุกรรมการหมดทุกคน”

“นพ.อมร” กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดผลการสอบสวนได้ ยังพูดไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างร่างสำนวน และอนุกรรมการจะประชุมนัดสุดท้ายเพื่อตรวจร่างสำนวนและสรุปความเห็นครั้งสุดท้าย ก่อนส่งให้ที่ประชุมใหญ่แพทยสภา โดยรายละเอียดผลการสอบสวนขอให้รอเข้าที่ประชุมแพทยสภาก่อน ซึ่งในการสอบสวนทางอนุกรรมการจะมีการลงมติต่อผลการสอบสวนด้วย ส่วนมติอนุกรรมการสอบสวนจะเอกฉันท์หรือไม่ ก็ต้องรอผลการประชุม

จากนั้นพอได้มติแล้ว ก็ส่งมติและผลการสอบสวนให้ที่ประชุมใหญ่แพทยสภาต่อไป ที่เบื้องต้น แพทยสภาประชุมประมาณวันที่ 10 เมษายน โดยแพทยสภา ก็จะมีการลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยกับผลสรุปของอนุกรรมการสอบสวนหรือไม่ หรือจะมีความคิดเห็นเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น จะให้สอบสวนเพิ่มเติม ถ้ามีมติให้สอบสวนเพิ่มเติม อนุกรรมการก็จะรับไปดำเนินการสอบสวนตามที่แพทยสภามีมติมา”

 อย่างไรก็ตาม กรณีถามว่า ในฐานะประธานอนุกรรมการสอบสวนฯ คิดว่า ผลการสอบสวนกระบวนการรักษาคนไข้รายดังกล่าว หากเปิดเผยออกมาสังคมจะยอมรับได้หรือไม่ นพ.อมร กล่าวว่า อย่าเพิ่งคาดเดาเลยว่าสังคมจะยอมรับได้หรือไม่ได้ แต่ยืนยันว่า อนุกรรมการทำตามเอกสาร ข้อมูลต่างๆ เท่าที่เราจะสอบสวนได้ตามมาตรฐานจริยธรรมทางการแพทย์ แต่สังคมจะคิดอย่างไร ผมเดาใจไม่ได้ว่า เขาเห็นด้วยหรือไม่ อาจจะมีเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะเราก็ทำตามหลักฐานทางการแพทย์เป็นหลักไว้ก่อน

“คงจะไปเขียนผลสอบออกมาตามใจใครไม่ได้ เรายึดถือตามเอกสารข้อมูล สอบสวนในกรอบแพทยสภา พิจารณาเรื่องมาตรฐานและจริยธรรมทางการแพทย์ ความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ไม่โกหก เราจะสอบเฉพาะพวกแพทย์”

 “นพ.อมร” กล่าวด้วยว่า เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเสร็จหมดแล้ว ก็ยืนยันว่าเราจะชี้แจงสังคมได้ หากสังคมถาม เราก็ต้องตอบได้ ว่าทำไมผลสรุปแบบนี้ ต้องมีเหตุมีผล มีเอกสารหลักฐานยืนยัน เราไม่สามารถไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้องได้

 นอกจากนี้ “นพ.อมร” ยังเผยว่า ที่ผ่านมาการพิจารณาข้อร้องเรียนและการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมแพทย์ เมื่อให้มีการสอบสวนจริยธรรม และอนุกรรมการสอบสวนพิจารณาเสร็จ พบว่า ส่วนใหญ่ ที่ประชุมแพทยสภา จะเห็นชอบตามผลการสอบสวนของอนุกรรมการสอบสวน ส่วนใหญ่มติจะเป็นเอกฉันท์หมด จะมีแค่บางกรณี เช่น ที่ประชุมเห็นว่าผลการสอบสวน ข้อมูลยังไม่ครบถ้วน ยังขาดเล็กน้อย ก็ขอให้ไปสอบสวนเพิ่มเติม ไปหาข้อมูลมา จะได้ไม่หลุด แต่ก็มีน้อย แต่ส่วนใหญ่ อนุกรรมการสอบสวน เวลาสอบจริยธรรมแพทย์จะมีการพิจารณาให้ครบเกือบทุกจุดอยู่แล้ว ทำให้ส่วนใหญ่เวลาสรุปผลสอบสวนจริยธรรมแพทย์ส่งไปให้แพทยสภา กรรมการแพทยสภา ก็จะลงมติเอกฉันท์ เห็นด้วยกับผลสรุปของการสอบสวน เพราะอนุกรรมการสอบสวนส่วนใหญ่ทำงานละเอียดอยู่แล้ว บางครั้งประชุมกันตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงหกโมงเย็น

ที่สำคัญ เมื่อถามว่า การสอบสวนที่ผ่านมา พบความผิดปกติหรือไม่ในการรักษาพยาบาล “นพ.อมร” ระบุว่า

“เรื่องรักษาพยาบาล ผมก็ว่าเขารักษาพยาบาลได้ถูกต้องนะ เราก็จะสรุปไปว่า มีการบอกว่า เจ็บป่วยกี่ครั้ง อะไรแบบนี้ แบบนี้มี เราก็สรุปไปตามเอกสารที่เราคิดว่าโอเค ถูกต้องแน่นอน ไม่มีปัญหาอะไร แต่เดี๋ยวค่อยมาว่ากัน”

 เมื่อถามย้ำ สรุปว่า รักษาถูกต้องหรือ นพ.อมร กล่าวว่า “เรื่องการรักษา ผมดูแล้ว อ่านแล้ว แต่ยังไม่อยากพูดอะไรไป เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเอาข้อมูลบางส่วนมาพูดก่อนจะไม่ดี ก็เอาเป็นว่า การตรวจสอบครบถ้วน เอาแค่นี้ก่อน รอวันที่ 10 เมษายนแล้วกัน วันนั้นมาคุยกันอีก แต่ต้องเย็นๆ ดูแล้ว วันประชุมคงเลิกเย็นแน่นอน”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “สิ่งที่แพทยสภาต้องตอบให้ชัดเรื่องชั้น 14” ระบุว่า

 เริ่มมีกระแสข่าว ผลการสอบสวนแพทยสภา แต่ยังไม่เป็นทางการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ผมอยากให้พี่น้องประชาชน ตั้งหลักประเด็นที่สังคมควรรับรู้ เมื่อมีผลรายงานออกมา

ตามหลักการ แพทยสภาจะพิจารณาเรื่องมาตรฐานและจริยธรรมทางการแพทย์ ความถูกต้อง ความซื่อสัตย์ ไม่โกหก ซึ่งนี่คือกรอบตามที่แพทยสภาสอบ

 และความจริงที่แพทยสภาต้องทราบว่า ผู้ป่วยชั้น 14 คือนักโทษ ที่ถูกส่งตัวมา แสดงว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต้องรักษาไม่ได้ รพ.ราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 400เตียง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แสดงว่านักโทษรายนี้ต้องป่วยวิกฤติ

สิ่งที่รายงานสอบของแพทยสภา น่าจะมีคำตอบให้ประชาชน

 1.ค่ำคืนวันที่ 22 ต่อ 23 สิงหาคม 2566 นักโทษมีอาการป่วย 4 โรค โรคปอด หัวใจขาดเลือด ความดัน และสันหลังเสื่อม ซึ่งถือว่าปกติของวัย 75 ปี โดยเฉพาะความดันสูงและอ้างหัวใจขาดเลือด ทำไมแพทย์เวร ซึ่งเป็นอายุรแพทย์ ดูแลไม่ได้?? ตามข่าวไม่มาดูแล แต่แนะนำทางโทรศัพท์ จริงหรือไม่?? ทำไมไม่มาดูแล รักษาเบื้องต้น?? อาการความดันสูงและหัวใจขาดเลือด ซึ่งเป็นโรคที่มีประวัติเก่า แพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ รักษาไม่ได้จริงหรือ?? สมเหตุผลหรือไม่?? ตามข่าวทำไมแพทย์เวร นอกจากไม่มาดูแล้ว ยังปล่อยให้พยาบาลส่งตัว?? ต้องชี้แจงให้เคลียร์ครับ

 2.การส่งตัวต่อยามค่ำคืนดึกๆ อ้างว่าอันตรายต่อชีวิต ผู้ป่วยที่เป็นนักโทษ ทำไมไม่ผ่านER เพื่อเช็คเบื้องต้น(vital sign) และส่งแลป และควรเอาไปไว้ที่หอผู้ป่วยหนัก (ICU หรือCCU) แต่เอาไปที่ชั้น14 ทำไม จึงขัดกับหลักดูแลผู้ป่วยหนัก?? ควรมีคำอธิบาย และผู้ป่วยวิกฤติที่ย้ายกลับรพ.ราชทัณฑ์ไม่ได้ แต่ยังอยู่ชั้น14 ที่ไม่ใช่ICU ต้องมีคำอธิบายด้วย

 3.การรักษาของแพทย์ แม้จะถูกต้องแต่ละอาการ แต่สมเหตุสมผลกับการเป็นนักโทษ ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้หรือไม่ แสดงว่าป่วยวิกฤติเกินกว่า ศักยภาพของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถ้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาได้ ควรจะรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือไม่

4.การออกใบรับรองแพทย์ ช่วงเวลารักษาผ่านมา 30 วัน 60 วัน และ 120 วัน เพื่อให้นักโทษรักษาตัวต่อชั้น14 เป็นการออกใบรับรองแพทย์ เพื่อเอื้อประโยชน์ ช่วยนักโทษ ไม่ต้องติดคุก แต่ให้รักษาตัวต่อชั้น14 หรือไม่? นักโทษรายนี้ยังป่วยวิกฤตินานต่อเนื่อง นานหลายเดือนจริงหรือ เพราะถ้าไม่วิกฤติ ก็ควรส่งตัวกลับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ควรมีคำอธิบาย

5.ด้วยหลักทางการแพทย์ การที่ไม่ส่งตัวกลับ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แสดงว่าอาการยังวิกฤติ โดยเฉพาะวันส่งตัวมา อ้างหัวใจขาดเลือดและความดัน อันตรายถึงชีวิต แต่ทำไมแพทย์ที่ดูแล เป็นแพทย์ศัลยกรรม เช่น ศัลยกรรมประสาท ทำไมไม่มีทีมแพทย์หัวใจ เป็นเจ้าของคนไข้ ถ้ารักษามาหลายเดือนยังวิกฤติ ทำไมไม่ปรึกษาแพทย์ที่มีศักยภาพสูงเช่น โรงเรียนแพทย์ เรื่องนี้ต้องอธิบายให้ชัดครับ

 6.การทำMRI การทำ scope ที่ไหล่เพื่อรักษาเอ็นไหล่ ต้องมีคำชี้แจงให้ชัดเจน เพราะผู้ป่วยรายนี้คือ นักโทษที่ถูกส่งตัวมาจากเรือนจำ และยังป่วยวิกฤติ เพราะยังส่งกลับเรือนจำไม่ได้ การทำหัตการเช่นนี้ สอดคล้องกับหลักทางการแพทย์หรือไม่ ควรต้องอธิบาย

 7.แม้เรื่องนี้ไม่เกี่ยวโดยตรงกับอำนาจของแพทยสภา แต่มีความสัมพันธ์ทางอ้อม ตามข่าวที่นักโทษรายนี้เชิญแขกไปพบที่ชั้น14 เพราะการเชิญแขกไปพบ พูดคุยได้ แสดงว่าไม่น่าจะป่วยวิกฤติ ถ้าไม่ป่วยวิกฤติ แพทย์ที่ทำการรักษา ทำไมไม่ส่งตัวกลับราชทัณฑ์

 8.การรักษาตัวต่อเนื่อง 6 เดือนที่ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ และไม่ยอมส่งตัวกลับราชทัณฑ์ แสดงว่านักโทษต้องมีอาการหนักตลอด 6 เดือน แต่ได้สิทธิ์พักโทษกรณีพิเศษ นั่งรถตัวตรงกลับบ้านทันที มันย้อนแย้งกับอาการป่วยหนักหรือไม่ ที่สำคัญคือ วันส่งมาที่ชั้น14 อ้างเป็นอันตรายต่อชีวิต ความดันสูง หัวใจขาดเลือด แต่วันออกจากโรงพยาบาล มาใส่ปลอกคอและคล้องแขน ควรมีคำอธิบาย

นี่คือข้อสงสัยเบื้องต้น ที่แพทยสภาควรไขคำตอบ ให้ความชัดเจนแก่ประชาชน เพราะสิ่งที่ประชาชนสงสัยทั้งหมด เกี่ยวเนื่องกับการเจ็บป่วยของนักโทษ บนฐานความจริงที่ต้องถูกเชื่อมโยง ความสามารถในการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะทั้งหมดจะไขคำตอบจริยธรรมของแพทย์ ว่าให้ข้อมูลเท็จเพื่อช่วยนักโทษไม่ต้องกลับราชทัณฑ์หรือไม่......รอคำชี้แจงที่ชัดเจนจากแพทยสภา

ดูเหมือน ความเห็นของ “หมอวรงค์” ดังกล่าว จะสะท้อนความคิดเห็นของอีกหลายคน ที่เชื่อว่า “ทักษิณป่วยทิพย์” รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวนอกสภาหลายกลุ่ม ที่พร้อมนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นขยายผลเคลื่อนไหว

ดังนั้น ไม่ว่าผลการสอบสวนของแพทยสภา ออกมาอย่างไร ดำ ขาว หรือ เทา ก็ล้วนไม่เป็นข้อยุติในการถกเถียงแน่นอน

แต่เหนืออื่นใด ผลการสอบสวนเรื่องนี้ของแพทยสภา จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย เพื่อที่จะจบหรือไม่จบเรื่องนี้ได้เช่นกัน หรือไม่จริง?