อัดโปรฯ ดีลลดภาษี ‘ทรัมป์’ ลุยชอป 'ยุทโธปกรณ์สหรัฐฯ'

อัดโปรฯ ดีลลดภาษี ‘ทรัมป์’  ลุยชอป 'ยุทโธปกรณ์สหรัฐฯ'

"นายกฯ" ขอให้ กระทรวงกลาโหม นำ "บัญชีอาวุธยุทโธปกรณ์” ตามความต้องการ เสริมขีดความสามารถของแต่ละเหล่าทัพมาเสนอรัฐบาล นำไปเป็นข้อต่อรอง ขอลดดอกเบี้ยภาษีอีกทาง

KEY

POINTS

  • ในระหว่างที่รัฐบาลไทยกำลังรอสหรัฐอเมริกาคอนเฟิร์ม"คิวเจรจา" ก็ยังพอมีเวลาให้ปรับแผนขอลดกำแพงภาษี
  • กองทัพบก เตรียมซื้อยานเกราะสไตรเกอร์จากสหรัฐ ประมาณ

ในวงประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกาที่มี นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร นั่งเป็นประธาน เมื่อ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีทีมขุนคลัง รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ร่วมกันระดมความเห็นอย่างซีเรียส

ก่อนจะมีผลสรุปออกมา 5 ข้อสำคัญ เป็นโจทย์สำหรับ เพื่อนำไปหารือกับสหรัฐฯ 

ประเด็นที่ 1 การหาโอกาสจากการนำเข้าพืชผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า เช่น การนำเข้าข้าวโพดมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และนำเข้าเครื่องในสัตว์มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าและส่งออก

ประเด็นที่ 2 การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยบริหารจัดการด้านภาษี เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค และการนำเข้าสินค้าต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 100 รายการ จะดำเนินการตามโควตาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า ผ่านการลดขั้นตอน ที่นอกเหนือจากมาตรการกีดกันทางการค้า ที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขทั้งหมด

ประเด็นที่ 4 การตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐจากประเทศอื่นๆ โดยจะมีการออกใบรับรองต้นถิ่นกำเนิดสินค้าให้รอบคอบมากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านให้น้อยที่สุด

และ ประเด็นที่ 5 การหาโอกาสการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การพิจารณาลงทุนด้านการขนส่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ หรือการลงทุนแปรรูปสินค้าเกษตรในสหรัฐฯ 

นอกจากนั้น นายกฯแพทองธาร ยังสอบถามกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งขอให้นำ "บัญชีอาวุธยุทโธปกรณ์” ตามความต้องการ ในการเสริมขีดความสามารถของแต่ละเหล่าทัพมาเสนอรัฐบาล เพื่อพิจารณา นำไปเป็นข้อต่อรอง ขอลดดอกเบี้ยภาษีอีกทาง

หากยังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้ว ทูตสหรัฐฯ ทำหนังสือถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ขณะนั้น ขอให้พิจารณาจัดซื้อเครื่องบิน F-16 block 70 ของ บริษัท Lockheed Martin โดยให้เหตุผลว่า เหมาะกับศักยภาพของกองทัพอากาศไทย 

หลังจากกองทัพอาการทยอยปลดประจำการเครื่องบินขับไล่ F-16 จากสหรัฐฯ ที่มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2571 จะเหลือเพียง F-16 ฝูงเดียว และจะปลดประจำการทั้งหมดในปี 2575

เป็นที่รับรู้กันว่า ปัจจุบัน ทอ.ไทย เคาะเลือกแบบเครื่องบินรบฝูงใหม่ไปแล้ว ในงบประมาณประจำปี 2568 จำนวน 4 ลำ วงเงิน 19,000 ล้านบาท คือ Gripen E/F ของบริษัท SABB ประเทศสวีเดน

ท่ามกลางการจับตาว่า สถานการณ์จะพลิกผันหรือไม่ แต่ ทอ.ยังยืนยันความต้องการ Gripen ของสวีเดน แม้ปัจจุบันยังไม่ได้ทำสัญญากับบริษัท SABB แต่กระบวนการ ได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ มาแล้วครึ่งทาง หากมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะกลายเป็นประเด็น อีกทั้งการจัดซื้อเครื่องรบฝูงใหม่ในอนาคต ก็ได้เตรียมจัดหาจากสหรัฐอเมริกาไว้อยู่แล้ว

ส่วนกองทัพเรือ ก็มีโครงการจัดซื้อ “เรือฟริเกตสมรรถนะสูง” เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ โดย ทร.ได้วางกำลังทางเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน ต้องมีเรือฟริเกตปฏิบัติงานครบ 8 ลำ ในปี 2580

โดยกองทัพเรือ ได้ทำคำขออนุมัติหลักการ จำนวน 4 ลำ แบ่งเป็นงบประมาณปี 2569 จำนวน 2 ลำ ราคาประมาณ 35,000 ล้านบาท ลำละ 17,500 ล้านบาท ส่วนปี 2570 จำนวน 2 ลำ

ด้านกองทัพบก เตรียมพิจารณาจัดหายานเกราะสไตรเกอร์ จากสหรัฐฯ ประมาณ 130 คัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 17,000 ล้านบาท รวมถึงจัดหาระบบความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ที่อาจจะซื้อของสหรัฐฯ มาทั้งระบบเช่นกัน

ในระหว่างที่รัฐบาลไทยกำลังรอสหรัฐอเมริกาคอนเฟิร์ม"คิวเจรจา" ก็ยังพอมีเวลาให้ปรับแผน เช็คข้อเสนอ และเป็นไปตามนโยบายเน้นความรอบคอบ “เร็วและแม่นยำ” ยึดประโยชน์สูงสุดของคนไทย