นราฯ เดือด “เมธี ลาบานูน” VS “บีลา” เมื่อ “เชือกวิเศษ” ท้าชน “เด็กป่ารอยต่อฯ”
ความน่าสนใจต่อไปคือ กลยุทธ์การช่วงชิงพื้นที่ของแต่ละพรรค น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าใครจะวิน หรือใครจะวาย
ยังไม่ทันที่เสียงระฆังเลือกตั้งจะดังขึ้น สนามการเมืองชายแดนใต้ ก็ส่อเค้าสู้กันสนุกดุเดือด เมื่อประชาธิปัตย์ที่เลี้ยงกระแสอย่างต่อเนื่อง ด้วยการทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ตั้งแต่ไก่โห่ คิวล่าสุดคือในพื้นที่นราธิวาส
ภายใต้สโลแกน “เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ” โดยมี “เจะอามิง โตะตาหยง” ที่เคยออกจากประชาธิปัตย์ ไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงย้อนกลับบ้านเก่าอีกครั้ง รวมทั้งเปิดตัวผู้สมัครอีกหลายคน
ทว่าไฮไลท์รอบนี้อยู่ที่ “เมธี อรุณ” หรือ “เมธี ลาบานูน” วัย 41 ปี นักร้องนำวงลาบานูน ที่มีผลงานเพลงชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะเพลง “เชือกวิเศษ” ที่ดังทั่วบ้านทั่วเมือง ยอดวิวในยูทูปมากกว่า 500 ล้านวิว ดังนั้นการเบนเข็มสู่สนามการเมือง ภายใต้ภาพจำในฐานะศิลปินนักร้อง จึงสร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย
อ่านข่าว : เจาะโปรไฟล์ "เมธี ลาบานูน" จากศิลปินล้านตลับ สู่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส
แม้พื้นเพของ “เมธี” จะเป็นคน อ.แว้ง นราธิวาส แต่เป้าหมายการลงชิง ส.ส.ของเขา กลับไม่ใช่พื้นที่บ้านเกิด แต่เป็นเขต 2 ที่มีอำเภอสำคัญคือสุไหงโกลก ที่มี “สุชาดา พันธ์นรา” นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโกลก เป็นฐานสนับสนุนของประชาธิปัตย์
ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีอะไรผิดพลาด “เมธี” จะต้องลงสนามชนกับ “สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ” หรือ “บีลา” วัย 40 ส.ส.นราธิวาส พลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่ในปัจจุบัน
“บีลา” ถือเป็นเด็กปั้นของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ที่ถ่ายทอดเคล็ดวิชาทางการเมือง ถูกส่งเข้าไปนั่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ ทั้งที่เพิ่งเป็น ส.ส.สมัยแรก
อีกภารกิจที่ “สัมพันธ์” ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในพรรค คือการเดินเกมล็อบบี้ในสภาหลายกรณี คอยเป็นมือเป็นไม้ให้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพลังประชารัฐ และ วิรัช
ที่น่าจับตา ขณะนี้ยังได้รับมอบหมายในการเดินสายดึงตัวผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่ชายแดนใต้ให้กับพลังประชารัฐอีกด้วย
ส.ส.นราธิวาส รายนี้จึงนับเป็นหนึ่งในสายตรงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แห่งมูลนิธิป่ารอยต่อฯ และมีบทบาทในพื้นที่ปลายด้ามขวานมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่บทบาทในพื้นที่นราธิวาส “สัมพันธ์” ยังวางเครือข่ายคนของตัวเองในสนามการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับเทศบาล ไปจนถึงระดับอบจ.นราธิวาส ภายใต้การนำทัพ “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” นายกฯ อบจ.นราธิวาส 4 สมัย
ส่วน “เมธี” ประชาธิปัตย์ ที่เปิดตัวสนใจงานการเมืองชัดเจน ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งนายกฯอบจ.ปลายปี 63 โดยคว้าไมค์ตระเวนลงพื้นที่ช่วย “รำรี มามะ”อดีต ส.ส.นราธิวาส ประชาธิปัตย์หลายสมัย ซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกฯ อบจ.นราธิวาส หาเสียงอย่างคึกคัก
ผลปรากฎว่า “รำรี” แพ้ให้กับ “กูเซ็ง” ตอนนั้นคนในพื้นที่รู้ดีว่าเมธีคิดหนัก จะเอาอย่างไรบนเส้นทางการเมืองต่อไปของเขา แม้จะเคยเสนอตัวขอลงสมัคร ส.ส.ครั้งหน้าในนามพรรคการเมืองใหญ่สุดในซีกรัฐบาล แต่ด้วยเงื่อนไขหลายอย่างทำให้ดีลไม่ลงตัว ในที่สุดจึงตัดสินใจเลือกอยู่กับประชาธิปัตย์
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นสนามปราบเซียน ด้วยเงื่อนไขในพื้นที่ที่ซับซ้อน จึงแทบจะไม่เคยมีพรรคการเมืองใดสามารถปักธงยึดครองพื้นที่ได้เบ็ดเสร็จ ต่อเนื่องยาวนานหลายสมัย
ที่สำคัญ นักการเมืองพื้นที่รู้ดีว่าชาวบ้านไม่เอา “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และไม่เอาทหาร ซึ่งก็หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ความน่าสนใจต่อไปคือ กลยุทธ์การช่วงชิงพื้นที่ของแต่ละพรรค น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าใครจะวิน หรือใครจะวาย