ธุรกิจกับภูมิรัฐศาสตร์
ต้องมองให้ทะลุว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และจะปรับตัวอย่างไร
ความคุ้นเคยกับวิถี “นิวนอร์มอล” ทำให้คนไทยปรับตัวรับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จนเราเข้าใจผิดไปว่าการปรับตัวครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิวนอร์มอล หรือการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นผลมาจากโรคระบาดแต่เพียงอย่างเดียว
เพราะในความเป็นจริงแล้ว ก่อนจะมีการระบาดเกิดขึ้นเราก็เริ่มคุ้นเคยกับคำว่า “Digital Disruption” มาก่อน ซึ่งนั่นหมายถึงความผันผวนที่เกิดจากโลกธุรกิจดิจิทัลที่ทำให้เราต้องปรับตัวก่อนที่จะถูกผลกระทบจนอาจทำให้ต้องปิดตัวลง
การบริหารธุรกิจจึงไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย แม้ไม่มีโรคระบาดเราก็มักต้องเผชิญวิกฤติการณ์ต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว แต่การถือกำเนิดของโรคระบาดในระดับ Pandemic ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบร้อยปีก็ยิ่งซ้ำเติมให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก
จะเห็นได้จากสถานการณ์ปัจจุบันที่การระบาดเริ่มคลี่คลายจนมีประกาศลดสถานะจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่สถานการณ์โลกกลับไม่ได้คลี่คลายลงเลยโดยเฉพาะสถานการณ์ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดความขัดแย้งขึ้นทั่วโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ฯลฯ
เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนที่ไม่มีท่าทีจะลดความรุนแรงลง แต่เรากลับเห็นผลกระทบของมันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดภัยธรรมชาติมากขึ้นและรุนแรงขึ้นทุกขณะ ภาวะสุดขั้วที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นร้อนจัด หนาวจัด รวมที่อุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในบ้านเราเวลานี้จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ
การใช้ชีวิตและการทำงานอยู่ท่ามกลางภาวะดังกล่าวจึงต้องมองให้ทะลุว่าโลกจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน และเราจะปรับตัวอย่างไร ซึ่งต้องมองในหลายๆ แง่ทั้งด้านการลงทุน การวางแผนด้านการเงินและความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
เริ่มจากข้อแรก ในด้านการลงทุนซึ่งแต่ไหนแต่ไรเราจะคุ้นเคยในเรื่องของการจัดหาวัตถุดิบที่ต้นทุนต่ำที่สุดเพื่อผลกำไรสูงที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นโทรศัพท์ไอโฟนหนึ่งเครื่อง หากแกะออกมาเราก็จะเห็นชิ้นส่วนนับร้อยที่ผลิตมาจากโรงงานในประเทศต่างๆ ทั้งจากจีน ไต้หวัน เกาหลี กลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากด้วยผลกระทบที่เกิดจากนโยบายภูมิรัฐศาสตร์ ที่เริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อนมาจนถึงคนปัจจุบัน โจ ไบเดน ที่ยิ่งกำหนดนโนบายชัดเจนและเข้มข้นกว่าเดิมว่าสหรัฐอเมริกาต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง จึงเน้นผู้ที่ทำการค้าด้วยนั้นต้องย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ ให้มากที่สุด
และยังมีมาตรการกีดกันทางการค้ากับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าสินค้าหรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากประเทศต้องห้าม แม้จะมีราคาถูกแค่ไหนก็ตาม หากนำมาเป็นส่วนประกอบแม้แต่เพียงส่วนเดียวก็ไม่อาจจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ได้เลย
การลงทุนสร้างโรงงานของธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคตจะเริ่มกระจายความเสี่ยงสู่การเป็นโรงงานย่อยๆ หลายแห่งในหลายประเทศ เพราะเราไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าประเทศใดจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันในอนาคต การกระจายการผลิต การทำงานจึงเป็นการลดความเสี่ยงลงได้มาก
เพราะทุกวันนี้ที่เราคุ้นเคยกับบทบาทในการแยกกันทำงาน เช่นสหรัฐเป็นผู้ออกแบบ ผู้ผลิตจะเป็นประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีน ไต้หวัน เกาหลี หรือแม้แต่บ้านเราเองก็อยู่ในสถานะเป็นผู้ผลิตเช่นเดียวกัน แต่ธุรกิจและอุตสาหกรรมในอนาคต กลับมีแนวโน้มที่จะเฉลี่ยการลงทุนในรูปแบบอื่น เช่นการย้ายฐานการผลิตสู่เอเชีย
ซึ่งรวมถึงอินเดีย (ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก) หรือภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นภาพรวมทั้งภูมิภาคเพื่อเกลี่ยการลงทุน ซึ่งแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาคก็จะทำทุกขั้นตอนตั้งแต่ การออกแบบ วิจัย และผลิตสินค้า รวมถึงสินค้าบางชนิดที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงภายในประเทศหรือภูมิภาคของตัวเอง
แนวโน้มการใช้ภูมิรัฐศาสตร์เพื่อการจัดการความขัดแย้งน่าจะยังอยู่คู่กับสังคมโลกอีกนาน มันจึงเป็นนิวนอร์มอลในอีกรูปแบบหนึ่งที่เราต้องหมั่นศึกษาและติดตามข่าวการเมืองระหว่างประเทศ แต่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้สำเร็จ