ปัญญาประดิษฐ์กับสมองมนุษย์

ปัญญาประดิษฐ์กับสมองมนุษย์

การมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทำให้เราต้องกลับมาถกเกียงกันอีกครั้งว่า ในอนาคตเราจะพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้และใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และประมวลผลในเรื่องต่างๆ ลดลงหรือไม่เพราะดูเหมือนการโยนภาระงานต่างๆ ให้ระบบเอไอจะบริหารจัดการได้ดีกว่ามนุษย์หลายเท่า

เพราะวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ดูจะพึ่งพาการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การเติบโตของยุคอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้เครื่องคิดเลขราคาถูกลงจนมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย มนุษย์ก็เริ่มลดการคิดคำนวณด้วยตัวเองแต่หันมาใช้เครื่องคิดเลขแทนแม้ว่าจะเป็นโจทย์บวกลบง่ายๆ ก็ตาม

มาจนถึงยุคที่เราใช้สมาร์ตโฟนจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เราก็จะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะ “จดจำ” หลายสิ่งหลายอย่างเพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ ตารางนัดหมาย เส้นทางการไปยังที่นัดหมาย ฯลฯ

อาจเป็นเพราะแนวคิดของมนุษย์ที่แสวงหาเครื่องทุ่นแรงมาโดยตลอด นับจากในอดีตที่เราใช้เครื่องจักรกลทดแทนการใช้แรงงาน มาจนถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลดภาระการทำงานของสมอง ซึ่งแน่นอนว่าเห็นประสิทธิผลได้อย่างชัดเจนแน่นอนเพราะเครื่องจักรนั้นทำงานได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เลย

การใช้เครื่องจักรกลลดการใช้แรงงานคนจึงไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานแต่ยังเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้มีเวลาไปทำงานในด้านอื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้การวิเคราะห์ที่เครื่องจักรทำไม่ได้

เช่นเดียวกับยุคของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาทำหน้าที่ประมวลผลแทนสมองของมนุษย์ที่ช่วยย่นระยะเวลาในการทำงานลงได้มหาศาล เปิดโอกาสให้มนุษย์มีเวลาไปทำงานอื่นที่มีมูลค่ามากกว่าได้ แต่ที่น่ากลัวก็คือการใช้ทักษะทางการคิดของมนุษย์ที่ลดลงเพราะคิดว่าให้ระบบเอไอทำหน้าที่แทนอาจไม่ใช่แนวทางที่ดีนัก

เพราะการทำงานของสมองไม่เหมือนกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายของเรา เพราะการใช้สมองเพื่อจดจำอะไรสักอย่าง แม้จะเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่กลไกของสมองจะสร้างกระแสประสาทเพื่อเชื่อมโยงเซลสมองแต่ละเซลเข้าด้วยกัน

นั่นหมายความว่าความทรงจำง่ายๆ เรื่องหนึ่งอาจเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ทำให้เซลสมองมีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ นั่นจึงทำให้ความจำของเรากลายเป็นความรู้ และกลายเป็นภูมิปัญญาที่เราสามารถร้อยเรียงประสบการณ์ทั้งหมดให้กลายเป็นสิ่งที่สัมผัสจับต้องได้

หากไม่มีการใช้ความคิด ไม่จดจำเรื่องต่างๆ เพราะคิดว่าให้โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่แทนได้ นั่นเท่ากับเราปิดโอกาสที่จะเชื่อมต่อเซลสมองจำนวนมากเข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือการปิดโอกาสที่จะได้สังเคราะห์ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ

ต่างจากคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนที่การบันทึกข้อมูลลงไปมันก็เป็นเพียงข้อมูลที่ถูกระบบดิจิทัลเข้ารหัสเอาไว้ในชิปหน่วยความจำ ซึ่งเราจะลบมันออกเมื่อไรก็ได้เพราะมันก็เป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่เหมือนการทำงานของสมองที่การบันทึกข้อมูลใหม่แต่ละครั้งจะเชื่อมโยงเซลประสาทเข้าด้วยกันทุกครั้ง

มิติการทำงานของเซลประสาทในสมองจึงมีความซับซ้อนกว่าการทำงานของคอมพิวเตอร์หลายเท่า ยิ่งคิดซ้ำๆ ยิ่งจดจำ ยิ่งก่อให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาจากความทรงจำระยะสั้นกลายเป็นความทรงจำระยะยาวที่เป็นความรู้ติดตัวเราไปชั่วชีวิต

การผลักภาระทางการคิดและการจดบันทึกไปให้เป็นหน้าที่ของสมาร์ตโฟนหรือระบบปัญญาประดิษฐ์แต่เพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก แต่การสร้างสมดุลและใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมโดยยังคงใช้สติปัญญาของเราอยู่เสมอน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า