ต้นตอความเหลื่อมล้ำ
ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาหลายประการ
มนุษย์ผ่านการปฏิวัติสังคมมาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่สังคมแกษตรกรรมสู่ยุคอุตสาหกรรมเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและกลายเป็นยุคแห่งดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกวันนี้ ซึ่งการปฏิวัติทุกครั้งล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่วิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
แน่นอนว่าผลลัพท์ของการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคล้วนทำให้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในแต่ละยุคพัฒนาให้ช่วยงานมนุษย์ในมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดที่แทบจะกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของมนุษย์ในยุคปัจจุบันไปแล้ว
เมื่อพัฒนาการของสังคมช่วยสร้างความเจริญทางวัตถุให้กับเรา เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจึงถูกกระตุ้นให้มีความต้องการสินค้าและบริการใหม่ๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เพราะกลไกของระบบทุนนิยมจะกระตุ้นให้ตลาดมีอุปสงค์ใหม่ๆ ตลอดเวลาเพื่อเร่งให้ภาคอุตสาหกรรมผลิตสินค้าใหม่ ๆ สร้างการเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ความอยากมีอยากได้ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันจึงมีมากกว่าคนในยุคก่อนมากมายหลายเท่า ซึ่งความเจริญทางวัตถุก็น่าจะตอบสนองให้คนรุ่นใหม่มีความสุขมากขึ้น แต่หากเรามองสถานการณ์ในทุกวันนี้เราอาจพบว่ามันไม่ใช่ความจริงเสมอไป
เพราะยิ่งมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้นแต่เรากลับพบว่าผู้คนกลับรู้สึกอ้างว้างและโดดเดี่ยวมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในแง่เศรษฐกิจถึงแม้จะทำให้ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้นแต่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกลับยิ่งห่างกันมากขึ้นตามไปด้วย
แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก จนประมาณได้ว่าประชากรกลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่ % อาจถือครองสินทรัพย์มากถึง 60%-70% ของทั้งประเทศ
นั่นหมายความว่าคนร่ำรวยก็จะยิ่งมีโอกาสสร้างความมั่งคั่งได้อย่างไร้ขีดจำกัด ในขณะที่คนยากจนกลับพบกับทางตันเพราะไม่อาจเข้าถึงการศึกษาที่ดีหรือการงานที่มีรายได้สูง โอกาสในการสร้างความมั่นคงในอนาคตจึงแทบจะไม่มี
ความหมายของคนยากจนในวันนี้จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนที่เกียจคร้านไม่แสวงหาโอกาส แต่ยังรวมถึงคนที่พยายามขวนขวายหาทางหลุดพ้นจากความยากจนแต่ไม่อาจเข้าถึงโอกาสใดๆ ที่จะทำให้ลืมตาอ้าปากได้ ด้วยโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผิดเพี้ยนได้ก่อให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาทีละน้อยๆ
ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ประสบกับชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกันนัก และความเหลื่อมล้ำส่งผลให้เห็นเป็นความเครียดสะสมในหมู่ประชากร ก่อให้เกิดเหตุจลาจล รวมถึงเหตุกราดยิง ฯลฯ ในหลายประเทศ
ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจจึงเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาหลายๆ ประการ ซึ่งการแก้ไขไม่ใช่เพียงการหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้จีดีพีเติบโตเหมือนที่พยายามทำมานับสิบปี ซึ่งเราเห็นแล้วว่าการแจกเงินโดยไม่มียุทธศาสตร์ใด ๆ มารองรับไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศในระยะยาวเลย
แต่การเสริมสร้าง “สมอง” ให้ประชาชนแต่ละคนเติบโตได้ตามศักยภาพที่มีด้วยการให้การศึกษาที่ทั่วถึงต่างหากที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ และการศึกษาที่ดีนี่เองจะเป็นตัวการที่ทำลายห่วงโซ่ของความยากจนให้ยุติลงได้