ปรับตัวรับสังคมสูงวัย (2)

ปรับตัวรับสังคมสูงวัย (2)

การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ “ผู้สูงอายุ” อาจถือเป็น “นิวนอร์มอล” ของสังคมไทยประการหนึ่งหลังจากเราผ่านเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ละครอบครัวจึงจำเป็นต้องรู้ความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัยที่อยู่ร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน

นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้ว วิถีชีวิตของผู้สูงอายุก็อาจเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ โดยสมาชิกในบ้านไม่รู้ตัว กว่าจะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ก็กลายเป็นว่ามีความตึงเครียดเกิดขึ้นในบ้านไปแล้วเพราะความไม่เข้าใจกันของคนต่างวัยที่อยู่ร่วมกัน

ตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมประสบด้วยตัวเองก็คือการแวะไปเยี่ยมเยียนญาติสนิทมิตรสหายที่สร้างบ้านตากอากาศในต่างจังหวัด ซึ่งบ้านสร้างใหม่พร้อมตกแต่งอย่างดีก็ย่อมสวยงาม เป็นหน้าเป็นตาให้เจ้าของบ้านเพราะบรรยากาศก็ดีอย่างที่ควรจะเป็น และบ้านนี้ก็เปิดกว้างให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนรวมถึงรับแขกผู้มาเยือนอย่างผม

ทุกอย่างฟังดูสมบูรณ์แบบ ยกเว้นเพียงลูก ๆ ของเขาแอบบ่นให้ฟังว่าบ้านใหม่ ๆ แบบนี้น่าเสียดาย ที่มีข้าวของต่าง ๆ ของพ่อกับแม่วางไว้อย่างรกรุงรังทั่วทั้งบ้าน จนแทนที่จะเป็นห้องหับต่าง ๆ สวยงาม แต่ทุกห้องกลับกลายเป็นเหมือนตลาดนัดที่มีของวางขายระเกะระกะ

 

เมื่อมีโอกาสได้โอภาปราศัยกับเจ้าของบ้านซึ่งก็คือเพื่อนสนิทผมเอง จึงได้ถามอ้อม ๆ ว่าสมัยยังเป็นเด็กเมื่ออยู่กับพ่อแม่นั้นบ้านรกและมีของวางเกะกะเยอะแยะแบบนี้ไหม ซึ่งคำตอบที่ได้ก็เป็นไปอย่างที่คิดว่าไม่มีเลย เพราะพ่อแม่ของเขาเก็บของเป็นระบบระเบียบมาก

ผมจึงถามต่อว่าหากเป็นอย่างนั้นจริงทำไมจึงให้บ้านมีของใช้วางไม่เป็นที่แบบนี้จึงดูรกตาไปหมด คำตอบที่ได้ก็คือของเหล่านี้เป็นของที่ใช้ประจำ ทั้งแว่นตา พวงกุญแจ ฯลฯ ซึ่งมักจะจำไม่ได้ว่าวางไว้ตรงไหน เมื่อพยายามเก็บใส่ลิ้นชักต่าง ๆ ก็จำจะไม่ได้ว่าใส่ไว้ในลิ้นชักไหน

สุดท้ายจึงวางของที่ต้องใช้บ่อย ๆ นั้นในที่ ๆ มองเห็นง่ายและหยิบได้ง่ายไม่จำเป็นต้องเปิดตู้หรือ เปิดลิ้นชักเพื่อรื้อหาของที่ต้องการ ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นมาก แต่ก็มีข้อเสียคือต้องมีข้าวของ วางไว้เกะกะเป็นจำนวนมาก

นอกเหนือจากนั้นยังมีเรื่องของการซื้อของซ้ำ ซึ่งก็คือการซื้อของใช้บางอย่างกลับมาที่บ้านแล้ว จึงพบว่าเคยซื้อไปแล้ว จึงมีของดังกล่าวที่บ้านซ้ำกัน 2 ชิ้น และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือซื้อซ้ำกลับมาอีกเป็นครั้งที่ 3 หรือ 4 เพราะจำไม่ได้สักที

ปัญหาดังกล่าวฟังดูน่าปวดเศียรเวียนเกล้า แต่ลูกหลานก็อาจต้องทำความเข้าใจว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ซึ่งเขาก็ไม่อยากทำแบบนั้น แต่เป็นเพราะกระบวนการจัดการชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนไปจากเดิมเพราะพลังสมองของเขาไม่ได้มีมากเท่าคนรุ่นหนุ่มสาว

การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่จึงมีข้อดีตรงที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานสามารถช่วยคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้สูงวัยได้อย่างราบรื่น แต่ต้องอาศัยความรู้และความเข้าใจเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด