แก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น

แก้ปัญหาด้วยความยืดหยุ่น

บางคนที่ขาด Resilience จึงไม่มีความยืดหยุ่นในชีวิตเพียงพอเมื่อต้องพบกับความล้มเหลว

เกริ่นถึงความสำคัญของพลังแห่งความยืดหยุ่นหรือ RQ: Resilience Quotient ใน Think out of The Box ฉบับที่แล้ว ซึ่งเจ้าพ่อแห่งวงการเอไอคือ Jensen Huangเคยบรรยายให้กับบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถึงความสำคัญของ Resilience ที่ทำให้เขาล้มแล้วลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว

แม้ว่าทุกองค์กรล้วนต้องการคนเก่งเข้ามาร่วมทีม แต่คนเก่งก็มักมีปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะ เรื่องของ Resilience ที่ทำให้ไม่ยืดหยุ่นเท่าที่ควรเพราะคุ้นเคยกับความสำเร็จมาทั้งชีวิต

ไม่ว่าจะเป็น ผลการเรียนที่ยอดเยี่ยม หรือการสอบเข้าสถาบันการศึกษาชั้นนำได้สำเร็จ

คนเก่งบางคนที่ขาด Resilience จึงไม่มีความยืดหยุ่นในชีวิตเพียงพอเมื่อต้องพบกับความล้มเหลว เพราะมักเข็ดและไม่กล้าลุกขึ้นยืนใหม่เพื่อเดินหน้าต่อ ตรงกันข้ามกับคนที่มี Resilience ซึ่งเมื่อพบกับความล้มเหลวแบบเดียวกันจะสามารถก้าวเดินต่อไปเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ได้เร็วกว่า

เพราะความล้มเหลวเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนมีโอกาสได้พบพานเป็นปกติในชีวิต โดยเฉพาะในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานล้วนมีโอกาสผิดพลาดจนไม่เป็นดังหวังได้เสมอ

การมี Resilience จึงเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่ท้อแท้และแสวงหาหนทางกลับมาสู่ความสำเร็จได้ทุกครั้ง ซึ่งนอกจากความยืดหยุ่นแล้วยังจำเป็นต้องมี Adversity Quotient อันหมายถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาควบคู่กันไปด้วย

Adversity Quotient หรือ AQ เป็นอีกหนึ่งในสมการสร้างความสำเร็จที่ต้องรู้จักกับความผันผวนปรวนแปรไม่แน่นอนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกวันนี้ การมีความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรคจึงทำให้เรามองปัญหาและแนวทางการแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ

คนที่มีทั้ง RQ และ AQ จึงสามารถมองปัญหาได้ในหลายมิติ และมองเห็นแง่มุมทั้งหมดแม้จะเป็นเพียงประเด็นเล็กน้อยที่คนอื่นมองข้ามแต่สามารถใช้แก้ปัญหานั้น ๆ ได้ เพราะเขามองการแก้ปัญหาในหลาย ๆ มุมมอง และเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาว่าไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบ 1-2-3-4 เสมอไปแต่อาจเป็น 1-4-3-2 หรือ 2-4-3-1 ได้หมดแล้วแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

การสร้างนิสัยให้มีทั้ง RQ และ AQ จึงต้องมีความอยากรู้อยากเห็น และเรียนรู้จากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวโดยเฉพาะผู้คนรอบข้าง เพราะทุกความเห็นแม้จะฟังดูไม่เข้าท่าแค่ไหนแต่มันอาจมีบางแง่มุมที่เป็นประโยชน์กับเราได้

คนที่มี AQ สูงหากพบเจอคนที่แสดงความเห็นแย่ ๆ ในที่ประชุมก็มักจะเก็บมาขบคิด ทั้ง ๆ ที่คนอื่นมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระโดยเฉพาะความเห็นที่ดูไม่ละเอียดรอบคอบก็มักถูกปรามาสว่าโง่แล้วก็พากันมองข้ามความเห็นนั้นไปทั้งหมด

แต่กับคนที่มี AQ ดีเขามักจะขบคิดว่าทำไมจึงมีคนคิดแบบนี้ เพื่อศึกษากลไกทางความคิดของแต่ละคนซึ่งจะทำให้เขามีมุมมองทางความคิดที่หลากหลายกว่าคนอื่น และอาจนำเอาแง่มุมในความคิดนั้นมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ในอนาคต

แต่แก้ไขปัญหาได้เก่งแค่ไหนก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีวันล้มเหลว เพราะความสลับซับซ้อนของโลกทุกวันนี้มีความละเอียดอ่อนสูงมาก แม้จะรับมือได้ดีแต่มีบางประเด็นที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายก็อาจทำให้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เมื่อนั้นบทบาทของ RQ จะช่วยให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาดในประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้น เป็นต้นทุนให้เขาแกร่งขึ้นและลุกขึ้นเพื่อรับความท้าทายครั้งต่อๆ ไปได้อีก