ไทย ‘ไม่รอด’ ถูกมิจฉาชีพใช้ 'แอป' หลอกเหยื่อเพิ่มขึ้น

ไทย ‘ไม่รอด’ ถูกมิจฉาชีพใช้ 'แอป' หลอกเหยื่อเพิ่มขึ้น

คนไทยถูกหลอกให้ทำธุรกรรมการเงินออนไลน์เฉลี่ย 500 ครั้งต่อวัน

ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการคุกคามของเหล่าบรรดามิจฉาชีพและแก๊งแฮกเกอร์ที่ต่างพยายามหาวิธีและรูปแบบการโจมตีที่แปลกใหม่เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับ

ขณะเดียวกัน ยังคงเป็นเทคนิคที่ซับซ้อนและใช้ต้นทุนค่อนข้างต่ำซึ่งสวนทางกับผลตอบแทนที่จะได้รับจำนวนมากหากพวกเขาปฏิบัติการสำเร็จ และแน่นอนว่าการหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบนี้ คนที่รู้ไม่เท่าทันอาจตกเป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย

อย่างเทรนการหลอกลวงด้วยการใช้เทคนิค APP (Authorized Push Payment) เป็นการหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้โดยที่เหยื่อคิดว่าได้โอนจ่ายเงินให้กับองค์กรที่แท้จริง มีกรณีการหลอกลวงเกิดขึ้นทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งสถาบันทางการเงินต่างๆ พบการใช้กลยุทธ์ดิจิทัลเชิงนวัตกรรมในการฉ้อโกงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง AI ทำให้เหยื่อแยกได้ยากขึ้น

ตัวอย่างเช่น รูปภาพที่สร้างโดย AI และเทคโนโลยีวิดีโอปลอม (Deep Fake) กำลังถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของการหลอกลวงให้ลงทุนแบบ “รวยเร็ว” เพื่อจูงใจเหยื่อให้ตัดสินใจลงทุนเป็นเงินก้อน

จากรายงานการฉ้อโกงประจำปี 2567 ของสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า มีการฉ้อโกง APP เพิ่มขึ้นถึง 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดย 3 ใน 4 (76%) ของเคสที่เกิดขึ้นมาจากทางออนไลน์และ 16% มาจากโทรหลอกลวงเหยื่อโดยการปลอมตัวเป็นหน่วยงานที่เชื่อถือ

สำหรับสาเหตุหลักๆ คือการหลอกลวงการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงโดยจำนวนเคสเหล่านี้เพิ่มขึ้น 34% หรือมากกว่า 156,000 ราย ซึ่งสร้างความเสียหายถึง 28% หรือ 86 ล้านปอนด์

นอกจากนี้ยังมีการฉ้อโกงแบบ romance fraud ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่าโดยมีการสูญเสียเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็น 37 ล้านปอนด์ และจำนวนคดีเพิ่มขึ้น 14% ส่วนกรณีฉ้อโกงการเพิ่มขึ้น 1% คิดเป็น 10,226 คดี ในกรณีที่ผู้ฉ้อโกงไม่สามารถหลอกเหยื่อผ่านการฉ้อโกง APP ได้ ก็มักจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลบัตรที่ถูกขโมยไปเพื่อจัดการกับบัญชีหรือสมัครวงเงินเครดิตใหม่ จากรายงานพบว่า มีการโจรกรรมรหัสบัตรเพิ่มขึ้น 53% คิดเป็น 79 ล้านปอนด์

หน่วยงานกำกับดูแลระบบการชำระเงินของสหราชอาณาจักรมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านบริการการชำระเงินซึ่งจะบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ โดยธนาคารจะต้องรับผิดชอบในการชดใช้ให้เหยื่อที่ถูกฉ้อโกงผ่าน APP หากการชำระเงินนั้นทำผ่าน Faster Payments เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เหยื่อรายงานเหตุการณ์การฉ้อโกงที่เกิดขึ้น เพราะตามรายงานของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติพบว่า 86% ของการฉ้อโกง เกิดขึ้นโดยไม่มีเอกสารใดๆ

สำหรับประเทศไทยติดอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 6 ของโลกที่ถูกหลอกลวงทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ สูญเงินรวมไปกว่า 50,000 ล้านบาท

จากรายงานยังแสดงให้เห็นว่า คนไทยถูกหลอกให้ทำธุรกรรมทางเงินการผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ย 500 ครั้งต่อวัน และยังถูกมิจฉาชีพ โทรและส่งข้อความหลอกลวงมากที่สุด ติดอันดับ 1 ของเอเชีย และการหลอกลงทุนเป็นวิธีที่ทำให้คนไทยสูญเงินมากที่สุดเป็นจำนวน 17,100 ล้านบาทโดยประมาณ

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า เม็ดเงินที่เหยื่อต้องสูญเสียไปโดยรวมนั้นนั้นมีมูลค่าสูงมากและหากยังไม่มีวิธีการจัดการที่ดี แน่นอนว่าแนวโน้มการถูกหลอกลวงจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนรวมถึงภาครัฐต้องตระหนักถึงความสำคัญและหามาตรการเพื่อป้องกันภัยร้ายนี้ให้ได้มากที่สุดเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาครับ