เวลาและอนาคต
เกริ่นไว้ใน “Think out of The Box ” สัปดาห์ที่แล้วถึงเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ที่มักจะวิ่งวุ่นวายกับงานที่ทำเพราะช่วงแรกของการบุกเบิกธุรกิจนั้นมักจะมีงานล้นตัวจนทำให้ดูเหมือนมีงานยุ่งตลอดเวลา ซึ่งในแง่หนึ่งก็น่าดีใจเพราะสะท้อนว่ามีงานและลูกค้าเข้ามามากมาย
แต่หากสะสมชั่วโมงบินได้มากพอก็จะมองเห็นว่าการลุยงานจนวุ่นวายแบบนั้นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะนั่นอาจหมายถึงการใช้พลังงานในการทำงานแบบเกินพิกัด ซึ่งเราสามารถจัดลำดับความสำคัญแล้วเลือกเอางานเพียง 20% ที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลถึง 80% ของงานที่ทำทั้งหมดได้ตามหลัก 80:20
หากทำได้ก็เท่ากับเราถึงจุดที่ใช้สติปัญญาและความเชี่ยวชาญเพื่อจัดการกับงานทั้งหมด ไม่ได้อาศัยเพียงพลังในการทำงานแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งจะทำได้เพียงช่วงอายุหนึ่งเท่านั้นเพราะเมื่อสูงวัยมากขึ้นพละกำลังก็ย่อมลดลงตามธรรมชาติ
การจัดลำดับความสำคัญทำให้เรามองเห็นภาพรวมของโอกาสและอุปสรรคทั้งหมด ซึ่งทำให้เรารับรู้สถานะของตัวเราเอง และมองทะลุไปยังก้าวต่อไปได้ว่าควรกำหนดทิศทางไปทางไหน ซึ่งจะทำให้เราวางแผนรวมถึงสร้างกลยุทธ์ในการทำงานได้
การยุ่งวุ่นวายกับงานจนเกินพิกัดจึงไม่ได้สะท้อนถึงความเก่งกาจในการบริหารงานเสมอไป หากวิ่งวุ่นทำงานโดยไม่รู้ว่าวุ่นวายไปเพื่ออะไรก็อาจเป็นการสูญเสียพลังงานโดยใช่เหตุ ซึ่งในยุคบุกเบิกบริษัทหรือเริ่มทำงานใหม่ๆ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเรายังมีพลังงานเหลือเฟืออยู่
แต่หากมีประสบการณ์ได้สักระยะหนึ่งแล้วยังทำแบบเดิมอยู่แสดงว่ามีข้อผิดพลาดบางประการเกิดขึ้นเป็นแน่ เพราะงานที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ได้ส่งผลต่อความสำเร็จของเรา แต่อาจเป็นงานฝากหรืองานที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็น แต่เราไปรับปากผู้อื่นมาโดยไม่ทันคิด
ซึ่งงานเหล่านี้เราจำเป็นต้องรู้จักวิธีปฏิเสธ เพราะหลังจากมองเห็นแล้วว่างานใดสำคัญงานใดไม่สำคัญ ก็ต้องรู้จักที่จะลดละและเลิกทำงานที่ไม่ส่งผลต่อเป้าหมายที่เราได้กำหนดเอาไว้ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดขาด
โดยเฉพาะงานอื่นๆ ที่เรามักเกรงใจคนรอบข้าง เช่นงานเลี้ยงสังสรรค์หากจัดตรงกับช่วงที่เรามีงานรัดตัวพอดีก็ต้องมีวิธีในการปฏิเสธที่ชัดเจนไม่อ้อมค้อม โดยไม่ต้องรู้สึกอายหรือรู้สึกผิด เพราะหากเรารับปากเพื่อนฝูงไปแล้วแต่ไม่สามารถไปร่วมงานได้อาจทำให้เสียความรู้สึกได้มากกว่า
การรู้จักปฏิเสธผู้อื่นนั้นไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้ใหญ่ หรือผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทที่สามารถปฏิเสธผู้อื่นได้ง่ายๆ เพราะแม้ว่าเราจะเป็นเพียงพนักงานธรรมดาที่ไม่กล้าปฏิเสธงานที่หัวหน้าสั่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วงานที่หัวหน้าสั่ง 10 เรื่อง เราสามารถจัดลำดับความสำคัญและเลือกงานที่ต้องทำก่อน-หลัง โดยงานหลัง ๆ นั้นอาจไม่มีความจำเป็นต้องทำก็ได้ เพราะหัวหน้าไม่ได้บอกว่าต้องทำให้สำเร็จทุกเรื่องในวันเดียว
การจัดลำดับความสำคัญของงาน และเลือกปฏิเสธงานที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็นนั้น จะทำให้เรามีเวลาที่เรียกคืนมาได้พอสมควร ซึ่งเราสามารถใช้เวลาที่ได้มานั้นคิดเรื่องใหม่ๆ หรือเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเองได้
การทำงานจนยุ่งวุ่นวายไปเสียหมด อาจทำให้สูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็นและเมื่อมีเวลาว่างก็ไม่อยากทำอะไรอื่นใดเพราะเหน็ดเหนื่อยจากงานจึงมักฆ่าเวลาไปด้วยกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อตัวเอง
จุดที่แบ่งแยกคนที่ประสบความสำเร็จออกจากคนทั่วไปได้จึงเป็นเองของการจัดสรรเวลา และเลือกทำสิ่งที่ทำให้บรรลุเป้าหมายได้มากที่สุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุดนั่นเอง