โอกาสดีที่ต้องส่งต่อ

โอกาสดีที่ต้องส่งต่อ

ความก้าวหน้าของประเทศต้องอาศัยการเติบโตในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งการผลักดันให้สังคมเราดีนั้นไม่ได้เป็นหน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว เพราะภาคเอกชนรวมถึงปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปก็สามารถเข้ามาร่วมกันพัฒนาสังคมของเราให้ดีขึ้นได้

มูลนิธิสร้างเสริมไทยหรือ The Better Thailand Foundation จึงถือกำเนิดขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะทำให้สังคมไทยนั้นดีขึ้น โดยเน้นที่การเสริมสร้างให้สังคมไทยเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้สมัยใหม่นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2540

อาคารศูนย์การเรียนรู้ที่เป็นทั้งห้องสมุดและห้องคอมพิวเตอร์เป็นโครงการหลักของมูลนิธิฯที่จัดสร้างและส่งมอบให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ในประเทศไทยไปแล้วถึง 14 แห่ง ซึ่งนอกจากการมอบโอกาสในแง่การเรียนรู้แล้ว

อีกหนึ่งในกิจกรรมที่จัดทุกปีต่อเนื่องยาวนานมาถึง 19 ครั้ง (งดดำเนินกิจกรรมเนื่องจากสถานการณ์โควิด 3 ปี) คืองานการ์ดนี้เพื่อน้องที่เปิดให้เยาวชนในกลุ่มด้อยโอกาสหรือมีความบกพร่องทางร่างกาย ได้เข้ามาแสดงฝีมือในด้านศิลปะกันอย่างเต็มที่

กิจกรรมนี้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยพัฒนาจิตใจของเด็กๆ ที่ผมพบว่าตลอดระยะเวลาที่ทำงานเพื่อสังคมนั้นการเป็น “ผู้ให้” แม้จะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปให้กับผู้ด้อยโอกาสได้แต่ก็อาจไม่ได้ทดแทนบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิตเขาได้

เพราะการให้สิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นวัตถุช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาด เช่นเดียวกับกิจกรรมต่างๆ กับเด็กกำพร้าก็อาจช่วยเติมเต็มด้านจิตใจ แต่การเติมเต็มเรื่องจิตวิญญาณนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะความเป็นมนุษย์นั้นอย่างไรก็ต้องการความเป็นที่ยอมรับของสังคม ต้องการคนยกย่องและให้ความสำคัญ รวมถึงให้ความรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ เป็นคนมีค่าต่อสังคม

เช่นเดียวกับกิจกรรมการ์ดนี้เพื่อน้อง ที่เปิดโอกาสให้เด็ก 2 กลุ่มคือกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และเด็กด้อยโอกาส ได้มาแสดงฝีมือทางศิลปะด้วยการวาดภาพตามโจทย์ที่วางไว้ในแต่ละปี

ซึ่งผลงานทั้งหมดจะถูกพิจารณาโดยศิลปินและอาจารย์จากสถาบันการศึกษาชั้นนำ เพื่อเฟ้นหาผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศพร้อมเงินทุนการศึกษาต่อไป

ผมเชื่อว่างานศิลปะนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการแสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจ เช่นเดียวกับภาษา และศิลปะนั้นยังเป็นการแสดงออกที่สำคัญของเด็กๆ ที่ต้องการสื่อถึงจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา

โจทย์ของปีนี้ก็คือ “ไทยร่วมสมัย” ที่สอดคล้องกับทิศทางของประเทศในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ที่เชื่อว่าเราเติบโตได้ด้วยความเป็นไทยที่มีเอกลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งในการจัดงานแข่งขันวาดภาพครั้งนี้ มูลนิธิฯ ก็ได้รับแรงสนับสนุนมากมายจากบริษัทเอกชนเหมือนทุกๆปี

นอกจากประกวดวาดภาพแล้วกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ได้เหล่าอาสาสมัครมาช่วยกันสร้างสีสันให้กับงานก็สร้างรอยยิ้มให้กับน้อง ๆ ที่มาร่วมงานได้มากมาย แต่สิ่งที่สร้างความประทับใจจริง ๆ สำหรับผม

คือการประกาศรางวัลที่มอบให้กับผู้ที่ชนะเลิศการประกวดและรางวัลรองชนะเลิศทุกลำดับ

เพราะน้ำตาและรอยยิ้มของผู้ที่ได้รางวัลนั้นทำให้ทุกคนรู้สึกตื้นตันใจที่ได้มีส่วนผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลนั้นบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งแม้จะไม่ได้ยินเสียงปรบมือกึกก้องบนเวทีแต่เขาก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่ทุกคนร่วมชื่นชมกับผลงานของเขา จนร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจพร้อมส่งเสียงที่บรรยายไม่ได้ออกมา

รางวัลที่เขาได้รับอาจไม่ได้มีมูลค่ามหาศาล แต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นจิตวิญญาณในส่วนที่ลึกที่สุดในใจของเขานั่นคือการได้รับการยอมรับและการเป็นที่ชื่นชมของผู้คนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งทำให้เขารู้คุณค่าของชีวิตตัวเองและเขาจะจดจำไปอีกนานเท่านานว่าครั้งหนึ่งเขาเคยประสบความสำเร็จในชีวิต

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องปกติในชีวิตของคนทั่วไป เช่นเราอาจเคยเรียนดีหรือมีกิจกรรมโดดเด่นจนถูกติดชื่อในบอร์ดกิจกรรมหน้าห้องเรียน หรือถูกประกาศชื่อในโรงเรียนหากเป็นรางวัลใหญ่ๆ ซึ่งเราอาจไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายเพราะได้รับรางวัลแบบนี้อยู่บ่อยๆ

แต่กับเด็กที่ต้องอยู่ในสถานสงเคราะห์แห่งต่างๆ ที่ภาครัฐดูแล สิ่งเหล่านี้อาจมีค่ามากสำหรับเขา และนี่จะเป็นแรงจูงใจให้เขาคิดดี ทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม จนกลายเป็นคนเก่งและดีในเนื้อแท้ เมื่อได้พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เขาก็อยากตอบแทนให้กับสังคมในอนาคต เพราะเขาเองได้รับการยอมรับ ชื่นชม เหมือนคนทั่วๆ ไป

สักวันหนึ่งเขาอาจมองย้อนกลับมาแล้วจำได้ถึงประสบการณ์ดีๆ ที่เคยได้รับ และจำได้ว่าตัวเองเคยเป็นคนสำคัญที่ผู้คนรอบข้างให้ความชื่นชม ถึงแม้เมื่อเนิ่นนานไปอาจจะจำชื่อมูลนิธิที่จัดงานไม่ได้ แต่เขารู้ว่ามีคนที่พร้อมจะให้การสนับสนุน และเมื่อเขามีความพร้อม เขาก็ย่อมสนับสนุนคนรุ่นต่อไปอย่างดีที่สุดเช่นกัน

และท้ายสุดใจความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้คือ เด็กๆ ที่ด้อยโอกาสและเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ย่อมมีความสามารถในตัวเองทุกคน ขาดเพียงเวทีให้เขาได้แสดงออกเท่านั้น เราจึงควรสนับสนุนและผลักดันให้เขาได้เปล่งประกายความสามารถที่มี ให้ได้รับการยอมรับ การชื่นชม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมของเราต่อไป