ข้อมูลเท็จที่สร้างโดย AI กลายเป็นปัญหาระดับโลก

ข้อมูลเท็จที่สร้างโดย AI กลายเป็นปัญหาระดับโลก

“การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และเฟคนิวส์ โดย AI กำลังกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของ “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้ง “ไมโครซอฟท์” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกที่ให้ไว้กับรายการ CNBC Make

ซึ่ง เกตส์ ถือเป็นบุคคลที่ยอมทุ่มเงินมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพอากาศ ความยากจน โดยเขาบอกว่า ปัญหา AI ให้ข้อมูลเท็จ กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่แม้แต่ตัวเขาเองยังต้องคิดหนัก เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น AI หรือ แชทบอท ทำให้สร้างข้อมูลเสมือนจริง และบางครั้งก็นำไปใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่รวดเร็วง่ายดาย

บิล เกตส์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ในโลกออนไลน์พวกเราอาจคุ้นเคยกับทฤษฎีสมคบคิดที่มีให้เห็นมากมาย ซึ่งแฝงด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ และเขาได้มองเห็นความร้ายแรงของปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเมื่อเขาได้พูดคุยกับ “ฟีบี้ เกตส์” ลูกสาวของเขา ซึ่งเธอเล่าให้ เกตส์ ฟังถึงภัยคุกคามทางออนไลน์จาก Deepfake และข้อมูลผิดๆ ที่ตัวเธอและเพื่อนของเธอต้องเผชิญ

ปัญหาข้อมูลเท็จโดยเฉพาะ Deepfake ถูกยกให้เป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในปีนี้ ซึ่งในงานประชุม World Economic Forum หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเมื่อตอนต้นปี และ Deepfake ยังถูกจัดให้เป็นหนึ่งในการใช้ AI ที่น่ากังวลที่สุด โดยเฉพาะผลต่อความแตกแยกทางสังคม 

การตรวจจับ Deepfake ยังเป็นเรื่องค่อนข้างยาก มีข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิธีการตรวจจับวิ่งตามไม่ทัน อีกทั้งโมเดล AI ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น สามารถสร้าง Deepfake ที่ดูน่าเชื่อถือ ยากต่อการตรวจจับด้วยวิธีปกติ ที่สำคัญเทคนิคการหลบเลี่ยงการถูกตรวจจับยังพัฒนาไปพร้อมๆ กับวิธีการตรวจจับด้วย โดยผู้สร้าง Deepfake มักปรับเปลี่ยนเทคนิคให้หลบเลี่ยงวิธีตรวจจับได้ ทำให้ปัจจุบันเป็นเหมือนการแข่งขันระหว่างการสร้างและตรวจจับ Deepfake  

ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้แต่ตัว บิล เกตส์ เองยังไม่มั่นใจว่าจะหยุดยั้งการแพร่ข้อมูลเท็จเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่เซนซิทีฟที่อาจถูกแย้งว่า เป็นการจำกัดข้อมูลทางออนไลน์ หรือสิทธิในการพูดหรือการแสดงความเห็นอย่างเสรี แต่เขายอมรับว่า จำเป็นต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่ง เกตส์ ยังเชื่อว่า ปัญหาข้อมูลเท็จจะไม่หมดไปและไม่ใช่เรื่องง่ายต่อการจัดการปัญหาเหล่านี้

...กลับมาที่ประเทศไทย เราเองก็ควรเริ่มคิดเตรียมแผนการรับมือกับปัญหา Deepfake ที่วันนึงอาจถูกนำมาใช้ปลุกปั่นสร้างความแตกแยกในสังคมขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะปัญหาการเมืองที่แผลเก่ายังไม่ทันแห้ง ใครสะกิดขึ้นมาแค่นิดเดียวพร้อมจะลุกลามออกไปได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวัง!