แผนงานกับจังหวะเวลา

แผนงานกับจังหวะเวลา

ทุกเฟืองไม่ว่าใหญ่หรือเล็กล้วนมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน

การปรับตัวของธุรกิจในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมานั้นสร้างความกดดันให้กับเจ้าของธุรกิจรวมถึงผู้บริหารมากมายเพราะความสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

เช่นเรื่องดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน, การปรับระบบการขายจากช่องทางธรรมดาสู่อีคอมเมิร์ซและกลายเป็นออมนิแชนแนล รวมถึงการอาศัยพลังจากโซเชียลมีเดียผ่านอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ ติ๊กตอกเกอร์ ฯลฯ

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เราจะเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมานับสิบนับร้อยปี ต้องล้มละลายปิดกิจการลงมากมาย เช่นเดียวกับในบริบทของธุรกิจในระดับโลกที่เราแทบจะหาบริษัทที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปีได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะไม่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

เจ้าของธุรกิจรวมถึงผู้บริหารจึงมักเป็นจำเลยสำคัญ เมื่อไม่อาจนำพาบริษัทให้อยู่รอดผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาอาจมีส่วนรับผิดชอบในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะหากผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่ดีเพียงใด แต่หากคนของทั้งองค์กรไม่คล้อยตามและไม่เดินไปตามแผนที่วางไว้ทุกอย่างก็ไม่มีวันไปถึงฝั่งฝัน

หลายคนจึงอาศัยแผนธุรกิจเป็นทางออก โดยการเปลี่ยนวิสัยทัศน์จากผู้นำให้กลายเป็นแผนดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีแนวทางในการบริหารงานอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งแผนธุรกิจที่ดีก็ต้องอาศัยความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทุกแผนกให้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน

แต่หลายครั้งแนวคิดจากแต่ละฝ่ายก็อาจเป็นมุมมองเฉพาะตัวที่ไม่ได้ตอบโจทย์องค์กรอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่นฝ่ายการเงินที่เน้นการใช้ระบบบริหารทรัพยากรอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงาน แต่ยิ่งทำอาจจะพบว่าพนักงานยิ่งทำงานแบบต่างคนต่างทำเพราะกลัวทำงานผิดไปจากระบบที่วางไว้แล้วทำให้เสียคะแนน ความร่วมมือระหว่างแผนกจึงไม่เกิดและยิ่งกลายเป็นไซโลมากขึ้นเรื่อยๆ

หรือจะเป็นฝ่ายการตลาดที่อาศัยมุมมองภายในเป็นหลักที่พยายามรักษาฐานลูกค้าเก่าหรือขยายฐานลูกค้าใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใดแต่ในแผนงานที่ทำมาอาจขาดในเรื่องของกลยุทธ์ว่าเน้นลูกค้าในกลุ่มใด หรือจะขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่คือกลุ่มไหน ยิ่งเป็นฝ่ายขายที่เน้นการเพิ่มทีมงานฝ่ายขายก็ไม่แตกต่างกันเพราะมักจะเน้นการเพิ่มคนแต่ไม่เพิ่มกลยุทธ์ ผลก็คือทีมขายมีคนมากมายแต่ไม่มีทิศทาง

แผนงานที่ดีจึงต้องเน้นที่การมองทรัพยากรของบริษัทในภาพรวมและมองเห็นความเชื่อมโยงที่เกี่ยวเนื่องถึงกันทั้งหมด และเข้าใจในการประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงลึกเพราะบิ๊กดาต้าจะทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า ซัพพลายเออร์ และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย

เพราะรูปแบบในการทำธุรกิจยุคปัจจุบันจะหันมาเน้นที่การทำ Personalized หรือ Customization ตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคนซึ่งมีโอกาสในการทำกำไรสูงกว่าการผลิตแบบโรงงานที่เน้นประสิทธิภาพจากการผลิตจำนวนมากแต่สินค้าไม่มีความแตกต่างกันเลย

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อเจ้าของธุรกิจ แต่คนในองค์กรกลับทำงานกันแบบไซโลซึ่งสวนทางการความต้องการของลูกค้าที่เน้นความคล่องตัวและตอบสนองลูกค้าแต่ละคนได้อย่างอิสระ

ทำอย่างไรให้คนในองค์กรมองตัวเองเป็นฟันเฟืองที่ต้องเชื่อมประสานกันทุกจุด และทุกเฟืองไม่ว่าใหญ่หรือเล็กก็ล้วนมีความสำคัญไม่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับนาฬิกาจักรกลที่บอกเวลาได้อย่างแม่นยำเพราะเฟืองทุกเฟืองทำหน้าที่ของตัวเองอย่างราบรื่นไม่มีเฟืองไหนติดขัด

การทำงานทั้งหมดนั้นจะประสานกันได้เป็นอย่างดีก็จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและทุกคนต้องรู้จักที่จะทำงานได้ภายใต้ข้อจำกัดที่บริษัทมีอยู่ รวมถึงต้องรู้จังหวะเวลาเป็นอย่างดี ซึ่งจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง จะขอขยายความในสัปดาห์หน้านะครับ