เรียนรู้จากมังกร

เรียนรู้จากมังกร

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจากมังกรใหญ่ “หัวเว่ย” ที่เกริ่นไว้ในสัปดาห์ที่แล้วทำให้เราเห็นบทบาทของประเทศจีนที่รุดหน้าไปมากในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลระดับโลก

ด้วยความเอาจริงเอาจังและทุ่มงบด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 20% ของรายได้ทุกปีทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาของ หัวเว่ย ออกดอกออกผลเป็นสินค้าและบริการใหม่ ๆ สู่ตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

แต่เบื้องหลังความสำเร็จของ หัวเว่ย ไม่ได้มีเพียงแค่นั้น หากเรามีโอกาสได้มาเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของเขาในเมืองเซินเจิ้น สิ่งที่จะได้พบไม่ได้มีเพียงแค่ความทันสมัยและความกระตือรือร้นของพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือบรรยากาศในอาคารสำนักงานของเขาทุกแห่งที่ตกแต่งอย่างประณีตและใส่ใจในเรื่องธรรมชาติอย่างพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดภูมิทัศน์ต่างๆ ที่สร้างสมดุลระหว่างต้นไม้ ดอกไม้ สระน้ำรวมถึงบรรดาสัตว์เลี้ยง เช่น หงส์สีดำ เพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับคนทำงานทุกคนของเขา

แต่สาระสำคัญที่สุดคือ เป็นสิ่งเตือนใจให้กับพนักงานว่า วิกฤติสามารถเกิดขึ้นเสมอ (คำนิยาม “Black Swan” ของตะวันตก หมายถึง อุบัติเหตุหรือวิกฤติทางเศรษฐกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่สามารถคาดเดาได้)

ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งมั่นและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาและวิกฤติที่จะเข้ามาได้ตลอดเวลา เพราะความเครียด ความกดดัน และแรงบีบเค้นจากนโยบายภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันทำให้ หัวเว่ย ต้องเผชิญกับการกีดกันทุกรูปแบบ แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่สามารถต้านทานการเติบโตของเขาได้

แม้จะบุกตลาดสหรัฐไม่ได้และยุโรปที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ตลาดในเอเชียกลาง ทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ก็ยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก

การถูกแบนจากระบบนิเวศทางธุรกิจของสหรัฐฯ จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อีกต่อไปเพราะ หัวเว่ย เร่งรีบพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองโดยแทบไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐฯ อีกต่อไปทั้งในแง่ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของ หัวเว่ย จึงเป็นเรื่องของ “คน” เป็นหลัก ทั้งในแง่ปริมาณที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมงาน และในแง่คุณภาพที่สามารถสร้างนักวิจัยและพัฒนาระดับปริญญาเอกจากสถาบันชั้นนำทั่วโลกได้นับแสนคน

ที่สำคัญคือแม้ หัวเว่ย จะเป็นบริษัทที่พัฒนาและเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ไม่ได้นำตัวเองเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด กลับกระจายหุ้นให้กับพนักงานเพื่อให้มีความเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน เมื่อทุ่มเทให้กับบริษัทเท่าใดผลประโยขน์ตอบแทนก็ได้กลับเท่านั้น

มากกว่านั้นยังเปิดกว้างให้คนเหล่านั้นมีโอกาสเติบโตในองค์กรได้อย่างเต็มที่ สร้างเวทีให้ผู้บริหารและพนักงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความสามารถทั้งใน จีน เอเชีย ประเทศแถบแอฟริกา อเมริกาใต้และกระจายไปทั่วโลก ทำให้ข้อมูลขององค์กรเกิดการถ่ายทอดและต่อยอด

เมื่อหลอมรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน อุปสรรคที่มี ไม่ว่าจะเป็นการถูกกีดกันทางการค้าอย่างรุนแรง การถูกห้ามไม่ให้ใช้แพลตฟอร์มของเจ้าตลาดเดิมคือของสหรัฐ ฯลฯ​ ไม่สามารถสั่นคลอนให้ หัวเว่ย สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองจนต้องยอมแพ้เหมือนกับหลายๆ บริษัทที่ผ่านมา เพราะเทคโนโลยีที่ หัวเว่ย มีในมือที่ดีทั้งคุณภาพและราคาที่เหมาะสม จนทำให้ลูกค้าไม่สามารถปฏิเสธได้

ปรัชญาความสำเร็จของ หัวเว่ย นั้น ยังสะท้อนผ่านภาพติดผนังภาพใหญ่ภายในห้องโถงของสำนักงานใหญ่ของเขา ซึ่งเป็นรูปเครื่องบินในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกยิงจนเสียหายขนาดหนัก ทั้งปีกและลำตัวที่แทบจะไม่มีส่วนไหนไม่ถูกยิง

แต่ไม่ว่าจะร่อแร่แค่ไหน นักบินก็สามารถประคองเครื่องบินให้บินอยู่บนฟ้าได้

แม้จะมีสภาพที่สะบักสะบอมเพียงใด ก็ยังพาเครื่องบินและนักบินทุกคนให้กลับสู่ฐานทัพได้สำเร็จ ซึ่งนั้นสะท้อนให้เห็นว่าในภาวะวิกฤติที่สุดนั้นก็ยังมีโอกาสให้เราฝ่าฟันไปสู่เป้าหมายได้เสมอ

เช่นเดียวกับอีกภาพหนึ่ง คือนักปีนเขาบนยอดเขาหิมาลัยที่เผชิญกับหิมะหนาเตอะและความหนาวเหน็บที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต แต่ท่ามกลางความตึงเครียดเช่นนี้นักปีนเขาก็ไม่ย่อท้อและพิชิตยอดเขาได้ในที่สุด

ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปได้ และไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคเพียงใด คนของ หัวเว่ย ก็พร้อมจะฝ่าฟันแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วงไปให้ได้เสมอ และไม่มีคำว่า “ยอมแพ้”

นอกจากที่เราจะได้ชื่นชมในความสำเร็จ การทำงานของคนเก่งๆ มากฝีมือ ระดมสมองในการพัฒนาให้องค์กรประสบความสำเร็จแล้วนั้น ยังเป็นข้อคิดให้กับเราได้ว่า ความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีจุดหมายร่วมกัน ในการทำให้ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นมาให้ได้