‘เงิน’ อาวุธหรือโอกาส
ความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวนั้นดูเหมือนจะถูกจำกัดไว้แค่เพียง 3 ชั่วอายุคน เพราะเท่าที่เคยรับรู้กันมาเราจะเห็นคนรุ่นพ่อบุกเบิกจนสำเร็จ ก่อนจะส่งต่อความรุ่งเรืองให้คนรุ่นลูก และเมื่อมาถึงคนรุ่นหลานก็มักจะล้มเหลวจนไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้
แม้จะมีตัวอย่างบางตระกูลที่ฝ่าฟันมาได้หลายเจนเนอเรชั่นจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ไม่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวได้สำเร็จ จะมีก็เพียงบางตระกูลทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยที่อาศัยการบ่มเพาะในครอบครัวและสืบทอดอุดมการณ์กันแบบรุ่นต่อรุ่นเท่านั้น
ถึงจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวแต่ผมเชื่อว่าหนึ่งในประเด็นที่แต่ละครอบครัวสืบสานกันนั้นต้องมีหลักคิดในเรื่องการเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างแน่นอน
เพราะการบริหารการเงินนั้นสามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับธุรกิจได้ และความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงินอย่างถ่องแท้นั้นจะช่วยให้คนรุ่นต่อไปมีมุมมองที่เขานำไปปรับใช้กับการบริหารด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการปลูกฝังความเข้าใจในเรื่องการเงินของชาวยิวที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนทำให้ชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลกนั้นมีบทบาทโดดเด่นในด้านการเงินโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาฯ ที่เชื่อว่าชาวยิวมีอิทธิพลสูงที่สุด
ชาวยิวเชื่อว่าเงินทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ ทั้งยังทำให้เห็นว่าตัวเงินนั้นแม้จะไม่มีแขนขา ไม่มีสมอง ไม่มีความรู้ใดๆ แต่เงินกลับนำมาใช้สร้างประโยชน์ หรือจะทำไปใช้เพื่อการทำลายล้างก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้เงินว่าจะใช้ในทางที่ดีหรือในทางที่ร้าย
เช่นเดียวกับในบ้านเราที่ไม่มีใครปฏิเสธคุณค่าของเงิน แต่เงินก็ถูกใช้ทั้งในทางที่ดีและทางที่ไม่ดีมากมาย ที่เป็นข่าวคราวครึกโครมในช่วงนี้ถึงหลายธุรกิจที่ได้เงินมาอย่างไม่ถูกต้อง ไปจนถึงข่าวของคนโลภที่มุ่งหมายเงินและทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง
สิ่งเหล่านี้ตรงกันข้ามกับคำสอนของชาวยิวที่เน้นการให้รู้คุณค่าของเงินจึงสอนให้รู้จักใช้และแบ่งปัน เพราะเงินนั้นหากถูกความโลภเข้าครอบงำก็อาจเปลี่ยนใจตัวเองได้ เพราะความอยากได้อยากมีจะกลายเป็นความโลภและทำให้เรากลายเป็นคนกร่างเพราะคิดว่าเงินทำให้มีอำนาจ เป็นคนเลวเพราะรู้ว่าใช้เงินในทางชั่วร้ายได้
จากข่าวอื้อฉาวที่ผ่านมา เราจึงเห็นความอยากรวยโดยไม่สนใจที่มาของความร่ำรวย ไม่สนใจความถูกผิดขอเพียงให้ได้เงินมากๆ แม้ว่าต้องไปเบียดเบียนหรือแย่งชิงคนอื่นมาก็ตาม หลายคนที่เคยทำอาชีพสุจริตมาตลอดชีวิตเมื่อถูกเปลี่ยนให้เป็นทาสเงินก็ลืมคำว่าจรรยาบรรณและหาทางโกงกินทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมากที่สุด
การมีเงินโดยไม่ถูกหล่อหลอมให้เข้าใจคุณค่าของมันอย่างถ่องแท้จึงก่อให้เกิดการหลงทางสู่ความโลภ และสูญเสียคุณค่าที่แท้จริงในตัวเองไปจนหมดสิ้น ซึ่งสิ่งที่ต้องตระหนักใน 3 เรื่องดังต่อไปนี้
เรื่องแรกคือความเชื่อมั่นใจจิตวิญญาณของตัวเอง เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครเติบโตมาด้วยจิตวิญญาณที่เลวร้าย แต่คุณงามความดีทั้งหลายในตัวเราอาจหายไปเมื่อถูกความโลภเข้าครอบงำ
เราจึงต้องซื่อตรงต่อตัวเอง คือเชื่อในจรรยาบรรณและความถูกต้อง ซึ่งถ้าเรามีความมั่นใจเพียงพอเราก็จะไม่สนใจงานที่มีรายได้ดีแต่ผิดกฎหมาย หรือธุรกิจที่ผลกำไรสูงแต่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้าน
ข้อสองเมื่อรู้จักทำดีแล้วเราก็ย่อมรู้จักการให้ซึ่งนั่นเป็นหนทางที่จะทำให้เงินมีคุณค่าอย่างแท้จริง เพราะหากเราทำบุญด้วยการบริจาคเพื่อการศึกษาสัก 100 บาท ผลที่ได้รับมันอาจไม่ใช่เพียงตัวเงินที่มีมูลค่า 100 เท่านั้น แต่อาจเป็นการเปลี่ยนชีวิตของคนที่มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้นทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคตซึ่งประเมินค่าไม่ได้เลย
ข้อที่สามต้องใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะการที่เราบ่มเพาะลูกหลานให้มีความคิดที่ดีได้นั้นลำพังการสั่งสอนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่การที่ตัวเราทำให้ดู ทำให้เห็นเป็นแบบอย่างย่อมทำให้ลูกหลานได้ซึมซับและทำตามอย่างจนกลายเป็นนิสัยซึ่งเอื้อให้เขาคิดดีทำดี มีอนาคตที่ดีได้ต่อไป
เงินจึงไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข หรือไม่ใช่เพียงการทำบัญชีเพื่อให้รู้จักรายรับรายจ่าย แต่มันมีคุณค่ามากกว่านั้น และถ้าสอนให้เขาเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมันก็ไม่ต่างอะไรกับการติดอาวุธให้ลูกหลานได้รู้จักการใช้เงินเพื่อต่อยอดสิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่าได้ต่อไปในอนาคต