ทำลายการผูกขาด

เมื่อการผูกขาดกำลังถูกทำลายลง การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น
ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยดูจะผ่อนคลายลงหลังจากทรัมป์ประกาศเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาออกไป 90 วัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยังวางใจไม่ได้เลย
เพราะภาคการส่งออกของไทยที่มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาทในปีที่แล้วนั้น ยังคิดเป็นอัตราส่วนถึง 65% ของจีดีพี
เช่นเดียวกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังสูงถึง 20%-25% ของ จีดีพี แปลว่ารายได้หลักทั้ง 2 ส่วนนี้เปราะบางมากเมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก การจับตาดูความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและเตรียมรับมือให้ดีที่สุดจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ
การย้ายฐานการผลิตของประเทศต่างๆ เพื่อหลบเลี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จะเพิ่มขึ้นอีกมาก การโยกย้ายการโรงงานเหล่านี้ จะมีทั้งที่ย้ายมาสู่ประเทศไทย และย้ายออกไปจากประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจับตาดูอย่างใกล้ชิด
ภาวะผันผวนเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นระหว่างรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านยุคเศรษฐกิจที่เราเคยเห็นการถ่ายโอนศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกจากยุโรปมาสู่สหรัฐอเมริกาซึ่งก็มีภาวะวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นเช่นกัน ในช่วงหลังสงครามโลก
ในครั้งนี้ผมเชื่อว่า ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านจากสหรัฐอเมริกามาสู่ประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่าสหรัฐฯ ย่อมต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจึงเกิดเป็นมาตรการต่างๆ มากมาย
เพื่อกีดกันไม่ให้จีนขึ้นมามีอิทธิพลในตลาดโลกได้
เพราะบทบาทของสหรัฐฯ ในโลกใบนี้ได้แผ่อิทธิพลไปอย่างมหาศาล เงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นสื่อกลางการค้าให้กับคนทั้งโลก โดยเฉพาะการค้าน้ำมันที่ถูกผูกอยู่กับเงินดอลลาร์ มาหลายสิบปี เช่นเดียวระบบมาตรฐานการโอนเงินระหว่างประเทศที่ต้องใช้ระบบ SWIFT ที่อ้างอิงเงินดอลลาร์เป็นหลักเช่นกัน
ดังนั้นจะกล่าวว่าสหรัฐฯ ได้ผูกขาดระบบการเงินของโลกก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงมากนัก ซึ่งการผูกขาดครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่สามารถพิมพ์ธนบัตรขึ้นเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีทองคำหรือสินทรัพย์อื่นๆ ค้ำประกัน
การผูกขาดสำคัญประการต่อมาก็คือด้านเทคโนโลยี ด้วยความเป็นผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์มายาวนานหลายทศวรรษทำให้สหรัฐฯ มีองค์ความรู้ด้านนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ และยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อโรงงานอื่นๆ ที่อยู่ห่วงโซ่การผลิต
เมื่อจีนเติบโตมากขึ้นและมีบทบาทในสินค้าด้านเทคโนโลยีมากขึ้น จนอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสหรัฐฯ ได้มีมาตรการตอบโต้ทั้งหลาย โดยเริ่มตั้งแต่ห้ามขายเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับจีน รวมถึงการห้าม ASML บริษัทผู้ผลิตเครื่องผลิตชิปในยุโรป ไม่ให้ส่งเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปให้กับจีนเพื่อลดทอนความสามารถในการผลิตชิปของจีน
รวมไปถึงแบรนด์ชั้นนำของจีนอย่างหัวเว่ย ก็ถูกห้ามขายในสหรัฐฯ เพื่อตัดโอกาสในการเติบโต แต่หัวเว่ยก็ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกเปิดโอกาสให้อยู่ ดังนั้นเชื่อได้ว่าสหรัฐฯ อาจหันมาที่การแบนนักเรียนนักศึกษาชาวจีนในสหรัฐฯ ซึ่งมีมากถึงปีละเกือบ 3 แสนคน
เพราะการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะเอไอนั้นระบบการศึกษาของสหรัฐฯ สามารถบ่มเพาะนักเรียนนักศึกษาได้เป็นจำนวนมาก และนักเรียนในสาย STEM ที่เน้นความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี
ประการสุดท้ายคือการผูกขาดด้านการทหาร ด้วยจำนวนฐานทัพมากมายนับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังคงมีปฏิบัติการถึงปัจจุบัน ทำให้สหรัฐฯ เป็นเหมือนตำรวจโลกด้วยแสนยานุภาพทางการทหารที่ไม่มีประเทศใดเปรียบเทียบได้
แต่วันนี้จีนเริ่มพัฒนากองกำลังของตัวเองขึ้นมาอย่างเงียบๆ เครื่องจักรในการทำสงครามชิ้นสำคัญอย่างเรือบรรทุกเครื่องบินก็ถูกผลิตขึ้นมาได้สำเร็จ และกำลังสร้างลำต่อๆ มาป้อนให้กับกองทัพจีนอย่างต่อเนื่องซึ่งนี่เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อการผูกขาดทั้งหมดกำลังถูกทำลายลง การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้น และผลที่เกิดขึ้นจะเป็นวิกฤติหรือโอกาสก็ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเราในวันนี้นั่นเอง
...ยังมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม โปรดติดตามต่อในวันอังคารหน้าครับ