ยกใหม่ของศึกมหาอำนาจ

ยกใหม่ของศึกมหาอำนาจ

ทิ้งท้ายไว้ในสัปดาห์ที่แล้วถึงการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้วคือจีนและสหรัฐอเมริกาที่ขยายวง

จากการแข่งขันด้านการค้า การเงิน เทคโนโลยี มาจนถึงการทหารที่เราจะเห็นบทบาทของจีนทั้ง 4 ด้านในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการลดบทบาทของสหรัฐฯ ลงด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าสหรัฐฯ ไม่อาจอยู่เฉยได้ การตอบโต้ของทรัมป์ในครั้งนี้จึงเด็ดขาดและรุนแรงยิ่งกว่าครั้งไหน และความสุดโต่งของทรัมป์จึงเปิดมาตรการโต้ตอบกับหลายประเทศทั่วโลกไปพร้อมๆ กัน ทั้งที่ระบบนิเวศทางธุรกิจและอุตสาหกรรมของโลกในทุกวันนี้ไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ มีความได้เปรียบเหมือนในอดีต

ประการแรกคือความเข้มแข็งของสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมบริการเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริการด้านการเงิน ด้านบริการดิจิทัล ฯลฯ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกกำลังเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมเช่นรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ฯลฯ

ตรงกันข้ามกับจีนที่ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในประเทศทั้งหมดเป็นจำนวนมหาศาลซึ่งนั่นเป็นการสร้างคนและสร้างธุรกิจของจีนให้ขยายโครงการไปยังประเทศพันธมิตรทั่วโลก เราจึงเห็นโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ ของจีนในประเทศต่างๆ มากมาย เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนไปทั่วโลก

ไม่เพียงแค่นั้น แต่จีนยังขยายอิทธิพลไปยังอุตสาหกรรมชั้นสูง เช่นระบบเทคโนโลยีกลาโหมทั้ง ขีปนาวุธข้ามทวีป ฯลฯ รวมไปถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศทั้งสถานีอวกาศและโครงการสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆ เช่นดวงจันทร์ที่ยังเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นอย่างไทยได้มีส่วนร่วมด้วย

เช่นเดียวกันความก้าวหน้าของจีนในอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจีนไม่ได้เชี่ยวชาญแค่การผลิตของจำนวนมากๆ ในราคาถูก แต่หลายสิบปีที่ผ่านมาจีนได้เร่งสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาจนยกระดับอุตสาหกรรมของตัวเองให้ขึ้นสู่อันดับหนึ่งของโลกในหลายๆ ด้าน

ไม่น่าแปลกใจที่อุตสาหกรรมไฮเทคของทั้งโลกจะมารวมตัวกันอยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลหนัก ฯลฯ เพราะจีนมีความพร้อมทั้งในแง่โรงงานอุตสาหกรรมและบุคลากรที่มีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญไปจนถึงแรงงานทักษะสูงเป็นจำนวนมหาศาล

ประการที่สองคือ ความสำเร็จของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งก็คือทางสายไหมยุคใหม่ที่เชื่อมการค้าระหว่างจีนกับโลกภายนอก จนจีนสามารถเชื่อมธุรกิจและอุตสาหกรรมของตัวเองไปยังยุโรปและแอฟริกาได้อย่างไร้รอยต่อ

โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนไม่ได้มุ่งเน้นที่การนำเอาสินค้าจีนไปทำตลาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้กับประเทศพันธมิตรที่กำลังพัฒนาและช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศเหล่านั้นเป็นการเติบโตไปด้วยกัน

เพราะประเทศปลายทางก็มีโอกาสได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการสร้างโรงงานเพื่อรองรับโครงการต่างๆ มากขึ้น เช่นเดียวกับจีนที่ได้ขยายธุรกิจไปสู่ประเทศต่างๆ มากขึ้น

โครงการนี้จึงไม่ได้สร้างเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่เป็นการแผ่ขยายอิทธิพลทางการทูตของจีนไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ฯลฯ เป็นการหาแนวร่วมและพันธมิตรในเวทีโลกไปพร้อมๆ กัน

ประการที่สาม อิทธิพลทางการเงินระหว่างประเทศของเงินหยวน โดยบทบาทของเงินสกุลหลักของจีนได้กลายเป็นสากลมาตั้งแต่ปี 2016 หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ บรรจุเงินหยวนเข้าใน "ตะกร้าเงิน SDR" (Special Drawing Rights) ร่วมกับดอลลาร์ ยูโร เยน และปอนด์

หลังจากนั้นเราก็เห็นความแพร่หลายของเงินหยวนที่หลายประเทศใช้เพื่อทำการค้ากับจีนโดยตรงโดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา เอเชีย แอฟริกา เพื่อหวังลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ​ และยังถูกใช้เป็นสกุลเงินกลางในข้อตกลงการค้าเสรีหลายแห่งโดยเฉพาะในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

แน่นอนว่ายิ่งการแพร่หลายของเงินหยวนมากแค่ไหน อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยิ่งลดลงตามไปด้วยซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมไม่ได้เป็นอันขาด

...ยังคงมีข้อมูลการวิเคราะห์เพิ่มเติม โปรดติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ