สัมภาษณ์ ChatGPT “ผลกระทบของ AI ต่อแรงงานและธุรกิจ 2023”
ChatGPT จาก OpenAI ทำให้วงการ AI เป็นที่จับตาอีกครั้ง ด้วยความสามารถของ Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์งานต่าง ๆ ขึ้นมาได้จนเกิดกระแสเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก
ในขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่า ความก้าวหน้าในครั้งนี้อาจนำไปสู่การ Disrupt อุตสาหกรรมหรือแรงงานในกลุ่มสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานเขียน การผลิตสื่อ หรือไปถึงงานเขียนโปรแกรม (Coding) เลยทีเดียว จนมีข่าวว่า Microsoft กำลังเจรจาลงทุนในบริษัทนี้ถึงหมื่นล้านดอลลาร์
ผมก็เลยต้องลองถามกับเจ้าตัว “ChatGPT” เองเลย ว่าการมาของพวกคุณแบบนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรกับตลาดแรงงานและธุรกิจ? ก็ได้รับคำตอบภายในไม่กี่วินาทีว่า “แน่นอน มีผลกระทบอย่างแรง! เพราะเรามีความสามารถในการทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำงานอัตโนมัติ (Automation) การตอบสนองความต้องการแบบเฉพาะบุคคล (Personalization) การเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimization) การวิเคราะห์เชิงทำนายผล (Predictive Analytics) หรือการป้องกันการทุจริต (Fraud Detection) ซึ่งเป็นประโยชน์กับธุรกิจและทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การเงิน การผลิต การขนส่ง ค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซ ฯลฯ
แต่ไม่ต้องห่วงไป เราจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการต่าง ๆ จนอาจส่งผลไปถึงการเติบโตของเศรษฐกิจและการสร้างงานจำนวนมากที่จะชดเชยผลกระทบนี้ได้ งานพัฒนาและดูแลพวกเรา! (AI development, implementation, and maintenance) และจะสร้างงานวิเคราะห์หรือตัดสินใจด้วยข้อมูลจำนวนมากที่กำลังเกิดขึ้น”
“รัฐบาลควรมีแผนและนโยบายในเชิงรุกที่จะรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในตลาดแรงงาน ให้แรงงานได้พัฒนาและฝึกอบรมทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในอนาคต และโฟกัสที่การสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ๆ” ChatGPT กล่าวเสริม!
อ่านคำตอบนี้แล้วรู้สึกยังไงกันบ้างครับ?
วันนี้องค์กรในหลายประเทศหันมาลงทุนด้าน AI มากขึ้น โดย Tech, Media and Telecom (TMT) Prediction 2023 จาก GlobalData รายงานว่า อุตสาหกรรม AI จะมีมูลค่า 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 12% จากปี 2565 ซึ่ง AI เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับการคาดหวังมากที่สุด เนื่องจากมีความสามารถในช่วยต่อยอดให้กับเทคโนโลยีอื่น ๆ และร่นระยะเวลาในการทำงานได้มาก แม้แต่ในวงการยุติธรรม AI ก็ยังสามารถเข้ามาช่วยได้ เช่น Epiq จาก Amazon ที่ให้บริการด้านกฎหมายแก่สำนักงานกฎหมาย สถาบันการเงิน และหน่วยงานรัฐบาลทั่วโลก โดยบริการที่น่าสนใจ เช่น AI สำหรับห้องพิจารณาคดี ที่สามารถถอดความจากเสียงคำให้การและคำตัดสินมาเป็นเอกสารที่พร้อมใช้ให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งพบว่ามีความแม่นยำสูงถึง 85% โดยแม่นยำกว่าเครื่องมือที่เคยมีอยู่เดิมถึง 5%
ในขณะที่แรงงานในประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มตื่นตัวและปรับตัวเพื่อรับมือกับการ Disrupt นี้เช่นกัน โดยผู้คนเริ่มศึกษาและมองหาโอกาสในการร่วมพัฒนาหรือทำงานร่วมกับ AI อย่างจริงจัง วันนี้ตลาดแรงงานของสหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วยผู้มีทักษะด้านนี้ครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยผลสำรวจจาก Medium พบว่าอัตราของแรงงานที่มีทักษะในด้าน AI 5 อันดับแรกของโลกได้แก่ USA มีอัตราสูงถึง 100% รองลงมาคือ จีน (92%) อินเดีย (84%) อิสราเอล (54%) และ เยอรมัน (45%) ตามลำดับ
สำหรับประเทศไทย ในขณะที่หลายองค์กรตื่นตัวกับการมาของ AI แล้ว แต่ในทางกลับกันแรงงานที่มีทักษะในด้านดิจิทัลยังขาดแคลนอยู่ถึง 45% หรือราว 17 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงการกระจายโอกาสในการเข้าถึงการฝึกอบรมทักษะในด้านนี้ยังมีปัญหา ทั้งที่หากแรงงานมีทักษะด้านดิจิทัลอาจช่วยยกระดับรายได้ให้สูงขึ้น 30% หรือสูงขึ้นถึง 2-3 เท่าจากรายได้เดิมสำหรับพื้นที่ห่างไกล
ทักษะดิจิทัลตั้งแต่ระดับรากฐานคือการใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จนไปถึงระดับสูงอย่างการใช้งาน AI เพื่อประหยัดเวลาในการทำงานและโฟกัสที่การต่อยอดด้วยประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัว หรือไปถึงระดับวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) หรือการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น ไม่เพียงแต่เพิ่มโอกาสในตลาด
สำหรับแรงงานเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เกิดเถ้าแก่ หรือเจ้าของกิจการใหม่ ๆ ได้ เพราะทักษะการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับทักษะการบริหารจัดการอื่น ๆ ช่วยให้สามารถสร้างธุรกิจได้ด้วยการลงทุนที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสในการเติบโตสูงขึ้นทั้งกับตลาดในและต่างประเทศ โดยไม่จำกัดว่าตัวเถ้าแก่จะทำงานที่ไหน ออฟฟิศ-โรงงานจะอยู่ที่ไหน หรือแรงงานจะมาจากที่ใด ซึ่งกุญแจสำคัญคือ
Digital Literacy (ทักษะ-ความเข้าใจด้านดิจิทัล) จึงควรบรรจุเป็นทักษะขั้นพื้นฐานของพนักงานทุกระดับ ในทุกองค์กร โดยภาครัฐต้องเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทักษะดังกล่าวให้ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีงานทำ แต่รวมถึงผู้กำลังว่างงานและเยาวชน
Data Literacy (ทักษะ-ความเข้าใจด้านข้อมูล) เพราะหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของเครื่องมือต่าง ๆ คือการได้มาซึ่งข้อมูลที่นำไปสู่การคิดตัดสินใจและการปฏิบัติ ดังนั้นทักษะการอ่าน-การวิเคราะห์-การตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ได้มา จึงเปรียบเสมือนสปริงบอร์ดให้กับทุกสาขาอาชีพ ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนี้ (Data-Driven)
และที่ห้ามขาดเลยคือ Cybersecurity Literacy (ทักษะด้านความปลอดภัยไซเบอร์) ที่ทำให้กระบวนการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ ของเรามีความปลอดภัย ข้อมูลไม่รั่วไหล ป้องกันความเสียหายที่หากเกิดขึ้นแล้วอาจสูงจนประเมินค่ามิได้กับตนและองค์กรนะครับ
ท่านผู้อ่านมองว่าทักษะอื่นใดที่ต้องเร่งพัฒนาในปีนี้บ้างครับ? มาดูว่าคนอื่น ๆ คิดเห็นกันอย่างไรได้ที่ www.d-vote.com/dvote/190 ครับ