AI Governance ก้าวแรกที่อย่ามองข้ามสำหรับทุกองค์กร

AI Governance ก้าวแรกที่อย่ามองข้ามสำหรับทุกองค์กร

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของ AI ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์หรือแผนงาน แต่อาจส่งผลถึงการปรับโครงสร้างทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศเพื่อให้สามารถรับมือได้ทัน การทดสอบและออกแบบกรอบการ Governance ที่ดี ต้องสามารถ “จำกัดความเสียหาย แต่ไม่จำกัดโอกาส” ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

ในขณะที่แต่ละองค์กรกำลังตื่นตัวกับการวางแผนหรือเริ่มประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับกระบวนการและฐานข้อมูลต่าง ๆ ขององค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างหรือไม่ให้สูญเสียความได้เปรียบในสนามการแข่งขันวันนี้ แต่ยังมีหลายองค์กรหลงลืมหรือยังไม่ให้ความสำคัญกับการวางแนวทางในการพัฒนาและใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน AI

AI Governance คือกรอบการทำงานที่ครอบคลุมถึงหลักการ นโยบาย และแนวทางปฏิบัติในการพัฒนา การนำไปใช้ และการจัดการ AI ภายในองค์กร โดยมีเป้าหมายในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ AI อย่างเต็มที่ ในขณะที่สามารถรักษามาตรฐานทางจริยธรรม กฎหมาย และความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งองค์กร ผู้ใช้งาน และสังคมส่วนรวม โดยต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัยของข้อมูล ความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน การป้องกันอคติในกระบวนการตัดสินใจ จนไปถึงการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ต้องมีการกำหนดขอบเขตและความรับผิดชอบในการใช้งาน AI เพื่อให้มั่นใจว่าระบบ AI ทำงานในลักษณะที่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กร

หลักการที่สำคัญ

1. ความโปร่งใส: ผู้ใช้หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของ AI ต้องมีสิทธิที่จะทราบว่ากระบวนการทำงานของระบบเป็นอย่างไร ตัดสินใจบนพื้นฐานใด ด้วยข้อมูลใด โดยกระบวนการต่าง ๆ สามารถอธิบายและตรวจสอบได้

2. ความรับผิดชอบ: ทุกกระบวนการของ AI ต้องมีบุคคลผู้รับผิดชอบในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ AI คอยประเมินผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบในแต่ละฉากทัศน์ หากมีผลในเชิงลบหรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบจะต้องเร่งแก้ไขหรือเยียวยาให้ทันการณ์

3. ความปลอดภัย: AI ต้องได้รับการทดสอบและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเชิงเทคนิค ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การถูกแฮกข้อมูล การตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางขององค์กรหรือทำนอกเหนือจากกรอบที่วางไว้

4. ความเป็นส่วนตัว: ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกละเมิด มีการกำหนดสิทธิ์ว่าใครสามารถเข้าถึงข้อมูลชุดใดได้บ้างตามหน้าที่และความจำเป็น การป้องกันการดึงฐานข้อมูลส่วนบุคคลออกไปทีละจำนวนมาก รวมถึงการวางระบบให้สามารถมีการตรวจสอบย้อนหลังได้ในกรณีที่เกิดปัญหา

5. ความมีจริยธรรม: AI ต้องมีการใช้งานที่สอดคล้องกับหลักจริยธรรมขององค์กรและสังคม รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานของคนในสังคม เช่น ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ไม่ลำเอียง-ไม่มีอคติ ความหลากหลาย ความยั่งยืน ฯลฯ

ความท้าทายที่รออยู่

1. ความซับซ้อนและความรวดเร็วของเทคโนโลยี: AI เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจถึงกระบวนการในการทำงานและประมวลผล ที่สำคัญมีแนวโน้มการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ความรู้และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอาจล้าสมัยภายในไม่กี่วัน การกำหนดกรอบที่มีความรวดเร็วและยืดหยุ่นในการปฏิบัติจึงเป็นกุญแจสำคัญ

2. การแปลหลักจริยธรรมไปสู่การปฏิบัติ: เนื่องจากจริยธรรมเป็นเรื่องของแนวคิดที่ค่อนข้างกว้าง การตีความทางจริยธรรมสามารถทำได้หลากหลาย และมีความเชื่อมโยงกับบริบทและวัฒนธรรมขององค์กร รวมถึงในบางกรณีจริยธรรมอาจอยู่ตรงกันข้ามกับเป้าหมายธุรกิจที่ต้องเน้นการทำกำไรให้ได้สูงสุด

3. ความพร้อมของบุคลากร: ก้าวแรกของ AI Governance คือการสร้างโครงสร้างการกำกับดูแลภายใน ต้องจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านเทคนิคและการประยุกต์ใช้ และเปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการใช้ AI ในองค์กร เมื่อเป็นเรื่องใหม่ การหาผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องไม่ง่าย และต้องอาศัยกรอบในการลองผิดลองถูก ในส่วนของระดับปฏิบัติงาน ลำพังแค่การอบรมและพัฒนาทักษะบุคลากรในองค์กร รวมถึงให้เปิดใจต่อการใช้เทคโนโลยีนี้ที่ได้ชื่อว่า “มาแทนมนุษย์” ในการทำงานก็เป็นงานที่ท้าทายแล้ว การเพิ่มความรู้ความเข้าใจด้าน AI Governance ถือเป็นอีกขั้นที่ต้องเร่งทำควบคู่ไปด้วย

4. การปรับกฎระเบียบและมาตรฐาน: การพัฒนากฎระเบียบและมาตรฐานสำหรับ AI นั้นเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ บริษัทที่ดำเนินงานในระดับสากลอาจต้องพบกับความแตกต่างในกฎระเบียบด้าน AI และ Data ทั้งฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน โดยการออกแบบกฎเกณฑ์ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และแรงงาน-ประชาชน เพื่อให้ได้กรอบการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ มีความยืนหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของ AI ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการปรับกลยุทธ์หรือแผนงาน แต่อาจส่งผลถึงการปรับโครงสร้างทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศเพื่อให้สามารถรับมือได้ทัน การทดสอบและออกแบบกรอบการ Governance ที่ดี ต้องสามารถ “จำกัดความเสียหาย แต่ไม่จำกัดโอกาส” ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย