อ้ายจงวิเคราะห์ โนโรไวรัส มีมานานแล้ว ไม่ใช่โรคระบาดใหม่ทั้งไทยและจีน
ช่วงนี้ข่าวเกี่ยวกับโรคระบาด โนโรไวรัส - Norovirus สร้างความกังวลแก่ผู้คนมากขึ้นต่อเนื่อง เพราะหลายสื่อนำเสนอว่าเป็น "โรคระบาดใหม่" ที่เกิดขึ้นในจีนและพบในไทยแล้ว โดยโยงกับจีนที่เคยมีการระบาดหนักอย่างโควิด-19 อ้ายจงจึงขอย้ำชัดว่า "โนโรไวรัส ไม่ใช่โรคระบาดใหม่"
อ้ายจง ซึ่งอาศัยอยู่ในจีน ณ ปัจจุบัน และในฐานะที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับจีนมาโดยตลอด จึงขอชี้แจงให้กระจ่างชัดว่า ความจริงแล้ว โนโรไวรัส คือโรคระบาดใหม่หรือไม่?
ข้อแรก ต้องชี้ให้ชัดเลยว่า "โนโรไวรัส ไม่ใช่โรคระบาดใหม่แต่อย่างใด" แต่ถือเป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นทุกปีในจีนมานับสิบปีแล้ว โดยจะพบระบาดอย่างมากในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว ในเดือนพฤศจิกายน ถึงมีนาคม ในแต่ละปี โดยมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลการระบาดของ Norovirus ในจีน ช่วงปี 2016-2018 (ก่อนโควิด-19 ระบาด) ระบุว่า พบการระบาดในสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และสถานศึกษาเป็นหลัก เกือบ 80% และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดต่อระหว่างบุคคลสู่บุคคล
จากการตรวจสอบข่าวที่เผยแพร่ในจีน ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ และขอเน้นไปที่สื่อทางการของจีน ทั้ง GlobalTimes, Xinhua, People’s Daily, CGTN และ 央视新闻 (CCTV) ต่างพบการรายงานข่าวปิดห้องเรียน ปิดโรงเรียน ปิดสถานศึกษาเป็นการชั่วคราว เพราะมีการระบาดของโรคนี้ ซึ่งพบเป็นข่าวในจีนทุกปีที่มีการระบาด "ไม่ใช่เพิ่งมีในปีนี้ 2024"
ตัวอย่างเช่น ขออ้างอิงจากข่าวของโกลบอลไทม์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อกระบอกเสียงของทางการจีน ก็มีรายงานเรื่อยๆ หากเราย้อนไปดูในช่วง 2020 ปีที่ระบาดโควิดช่วงปลายปีนั้น มีข่าวโรงเรียนในหลายพื้นที่ของจีน เช่น ฝูเจี้ยน โดยเฉพาะโรงเรียนอนุบาล หยุดเรียนชั่วคราว เพราะมีเด็กติดเชื้อหลายสิบคน บางโรงเรียนเป็น 50 คนเลย ซึ่งหลักฐานนี้ก็สามารถชี้ให้เห็นว่า โนโรไวรัส ไม่ใช่การระบาดใหม่ และไม่ได้เพิ่งมามีหลังการระบาดโควิด-19 แต่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว
จีนเองให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมการระบาดของ โนโรไวรัส อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในช่วง 2019 ก่อนที่จะมีการระบาดโควิด ทางจีนประกาศว่า ได้อนุมัติการทดลองทางคลินิกสำหรับวัคซีนป้องกันโนโรไวรัส โดยวัคซีนดังกล่าวจะพัฒนาโดย Institut Pasteur of Shanghai ซึ่งอยู่ภายใต้สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน โดยได้รับใบอนุญาตการวิจัยทางคลินิกจากสำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติจีนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2019 ซึ่งตามข่าวที่ออกมาในตอนนั้นคาดว่า การทดลองทางคลินิกจะทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิผลเป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่จะสามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนยาได้
ในเนื้อความข่าวการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว ยังอ้างถึง "โนโรไวรัส ในฐานะสาเหตุอันดับ 1 ของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเฉียบพลัน" โดยเน้นว่า โนโรไวรัสซึ่งติดต่อได้ง่ายและบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงทำให้ผู้คนทั่วโลกติดเชื้อประมาณ 685 ล้านคนทุกปี และกลายมาเป็นปัญหาสาธารณสุขในจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากเนื้อหาข้างต้น ก็แน่นอนว่า ไม่ได้เพิ่งจะมีในจีน และในโลก แต่มีมานานแล้ว
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ในกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อง่าย แต่กลุ่มผู้ใหญ่ คนที่โตแล้วก็สามารถติดเชื้อ โนโรไวรัส ได้ ส่งผลให้มีอาการ อาเจียน ท้องเสีย ไข้ ปวดท้อง อ่อนเพลีย เช่นกัน อย่างข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2024 ระบุว่า ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยชิงฮว๋า (Tshinghua University) มหาวิทยาลัยดังของจีน หลายคนมีอาการดังกล่าว หลังเข้าร่วมงานเลี้ยงครบรอบมหาวิทยาลัยในช่วงปลายเดือนเมษายน และทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกรุงปักกิ่ง ตรวจสอบแล้วพบว่า มีเชื้อ โนโรไวรัส ปนเปื้อนในอาหารและสภาพแวดล้อมของร้านอาหาร
การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ด้วยเครื่องมือ Baidu Index เพื่อกวาดข้อมูลการค้นหาของคนจีนบนโลกออนไลน์ ยังชี้ชัดว่า โนโรไวรัส มีในจีนมาเกิน 10 ปี จริงๆ ตั้งแต่ปี 2011 ที่ปริมาณการค้นหาคำว่า 诺如病毒 หรือโนโรไวรัส ในภาษาจีนอยู่ที่ราววันละหลักสิบครั้ง เพิ่มต่อเนื่องจนเป็นหลักหมื่นต่อวันในทุกหน้าหนาวของจีนตั้งแต่ 2018 เป็นต้นมา และขอย้ำว่า 2018 คือช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด
เมื่อดูความสัมพันธ์ของ "คำที่ปรากฏในโลกออนไลน์จีน" สำหรับประเด็นโนโรไวรัส ยังได้รับทราบว่า 儿童 หรือเด็ก เป็น 1 ในคำที่ปรากฏจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองต่างกังวลในการเจ็บป่วยจากโนโรไวรัสของลูกหลาน
ขณะที่ข้ามฟากมาที่ไทยเราบ้าง ขอยืนยันว่า "มีการระบาดทุกปีเช่นกัน" โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน กลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งในฐานะของชายวัยใกล้เลข 4 ที่ยังไม่มีลูก แต่เลี้ยงหลานหลายคน ผมคุ้นเคยกับชื่อโนโรไวรัสมาพอสมควร เพราะตั้งแต่หลานเข้าอนุบาล ก็ได้รับข่าวสารจากทางโรงเรียนถึงการเจ็บป่วยของเพื่อนๆ นักเรียนที่เกิดจากโนโรไวรัสมาโดยตลอด
ไม่ใช่แค่ยืนยันจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่ขอใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลแบบง่ายๆ Google Trends ด้วยการค้นหาคำว่า Norovirus เลือกพื้นที่เป็นแบบ Worldwide (ทั่วโลก) โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายปี 2019 ถึงปลายปีนี้ 2024 พบว่า ปริมาณความสนใจการค้นหามีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อดูคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ยิ่งสะท้อนถึง "การรับรู้" ต่อโนโรไวรัส ถึงกับค้นหา Norovirus ในแต่ละปี เช่น Norovirus 2024, Norovirus 2023 และ Norovirus2022 แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า พอมีการระบาดโควิด-19 ทำให้คนกังวลว่า ตกลงเป็นอาการของโควิด-19 หรือ Norovirus ดังเห็น 1 ในคำที่ค้นหาเกี่ยวข้องมาก ได้แก่ covid symptoms อาการโควิด
สำหรับพื้นที่ที่ระบุว่า ค้นหา Norovirus แบบทั่วโลกสูงสุด 5 พื้นที่แรก ได้แก่ ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
คราวนี้มาระบุพื้นที่เป็นไทยกันบ้าง โดยผู้เขียนใช้คำค้นหา โนโรไวรัส ในภาษาไทย เพิ่มเข้ามา เทียบกับ Norovirus ภาษาอังกฤษ และย้อนหลัง 5 ปีเช่นกัน ปรากฏว่ามีปริมาณการค้นหาตั้งแต่ปลายปี2019 ไม่ได้เพิ่งมามีในปี 2024 แต่จากกราฟได้สะท้อนการรับรู้ของคนไทยว่า ค่อนข้างสนใจ "ค้นหาน้อย" ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก หากทุกคนจะเชื่อไปว่าเป็นโรคระบาดใหม่จริงๆ โดยกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง ณ ขณะนี้ เดือนธันวาคม 2024 ตามกระแสข่าวที่ทุกคนได้รับทราบ
ผู้เขียน ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่