ตั้งการ์ดสูง รับมืออหิวาตกโรคข้ามพรมแดน
ไม่นานมานี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศเมียนมาประกาศว่ามีการระบาดของอหิวาตกโรค (Cholera) ในเมืองย่างกุ้ง โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก การระบาดแพร่กระจายเป็นวงกว้างกระทบถึงบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ประเทศไทยจำเป็นต้องปิดด่านผ่านแดนด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคจากฝั่งประเทศเมียนมา
อหิวาตกโรคเกิดจากแบคทีเรีย Vibrio cholerae ปนเปื้อนในน้ำ และอาหารที่ไม่สะอาด จัดอยู่ในกลุ่ม “โรคห่า” ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก โดยอาจหมายถึง ไข้ทรพิษ กาฬโรค รวมถึงอหิวาตกโรคก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่สุขอนามัยไม่ดี โรคนี้สามารถแพร่ระบาดเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
Vibrio cholerae เป็นแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างโค้งงอ เคลื่อนที่ได้ สามารถเจริญได้ในอาหารที่มีความเข้มข้นของเกลือตั้งแต่ร้อยละ 0.0 ถึงร้อยละ 6.0 เจริญได้ดีที่อุณหภูมิ 35-42 องศาเซลเซียส และสามารถทนต่อสภาวะที่มีด่างสูง (pH 9.0) เข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อน
สามารถจำแนก Vibrio cholerae ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สร้างสารพิษ (Toxigenic) และกลุ่มที่ไม่สร้างสารพิษ (Nontoxigenic) โดยพิจารณาจากการปรากฏขึ้นของ ctxAB operon ซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรมสำหรับ Cholera toxin (Ctx) ซึ่งจัดเป็น Virulence Factor ที่สำคัญของ Vibrio cholerae โดยคาดการณ์ว่าปริมาณแบคทีเรียที่สามารถก่อให้เกิดโรคอยู่ที่ประมาณ 1,000,000 เซลล์
เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ลำไส้เล็กจะปล่อยสารพิษ Ctx ซึ่งกระตุ้นให้เซลล์ในลำไส้หลั่งน้ำ และอิเล็กโทรไลต์ออกมาในปริมาณมาก ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างเฉียบพลัน โดยมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ลักษณะอุจจาระเป็นน้ำสีขุ่นเล็กน้อย หรือเรียกว่า “น้ำซาวข้าว”
ผู้ป่วยอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ในกรณีที่รุนแรงการสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสียอาจมีมากถึง 16 ลิตรต่อวัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำทดแทนจนกว่าการติดเชื้อจะหาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอหิวาตกโรคมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ถึง ร้อยละ 5.0 ของผู้ป่วย
การระบาดใหญ่อหิวาตกโรคครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1800 (พ.ศ.2343) โดยเริ่มขึ้นในประเทศอินเดีย ต่อมาแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย อ่าวเปอร์เซีย แอฟริกา การระบาดใหญ่นี้ส่งผลให้อหิวาตกโรคกลายเป็นโรคประจำถิ่นในหลายส่วนของเอเชียมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากการระบาดใหญ่ครั้งแรก ได้เกิดการระบาดใหญ่เพิ่มเติมอีกหกครั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกือบทุกทวีปทั่วโลก
การระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งที่เจ็ด และเป็นครั้งล่าสุด เริ่มต้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 (พ.ศ.2503) ในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากการระบาดใหญ่ทั้ง 7 ครั้งแล้ว ยังพบการระบาดปลีกย่อยของอหิวาตกโรคได้อีกหลายครั้ง โดยการระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ.2566 ในซีเรีย สำหรับในประเทศไทยมีบันทึกการระบาดใหญ่ของอหิวาตกโรคในสมัยรัชกาลที่ 2, 3 และ 5 ทำให้มีคนเสียชีวิตไปครั้งละ 2-3 หมื่นคน ปัจจุบันการระบาดของอหิวาตกโรคทำให้มีผู้ป่วยราว 1.5-4.5 ล้านคนทั่วโลก
การระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2501-2502 ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ โดยทางภาคใต้ระบาดไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี ทางภาคเหนือระบาดไปถึง จ.ตาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,372 คน และในปี 2553 พบการระบาดในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามองมากว่า การระบาดในประเทศเมียนมาครั้งนี้จะกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลกครั้งที่แปด หรือจะเป็นแค่เพียงการระบาดย่อยเหมือนเมื่อปี 2553 บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา หรือเหมือนกับการระบาดในปี 2566 ในซีเรีย
การระบาดของอหิวาตกโรคสามารถเกิดได้โดยผ่านทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือการปนเปื้อนด้วยอุจจาระของมนุษย์ พบการปนเปื้อนใน หอย ปลา กุ้ง และสัตว์น้ำทั่วไป นอกจากนี้ยังพบ Vibrio cholerae ในแหล่งน้ำ น้ำดื่ม และน้ำในระบบชลประทาน หรือระบบประปา การใช้น้ำปนเปื้อน Vibrio cholerae สำหรับการปรุงอาหาร อาบน้ำ หรือซักล้าง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสาเหตุการเกิดโรคมาจากการอุปโภคบริโภคน้ำและอาหารที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่ใช้น้ำแข็งผลิตจากน้ำที่ปนเปื้อน เป็นพาหะของการแพร่เชื้ออหิวาตกโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีการระบาด
ดังนั้น การใช้ระบบสุขาภิบาลที่เหมาะสม รวมถึงการจัดหาน้ำสะอาดมาใช้ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการระบาดของโรค รวมถึงต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยท้องร่วง และการปฏิบัติตนตามหลักการความปลอดภัยด้านอาหารที่ดี “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เป็นกฎเหล็กที่สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของโรคและป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเฝ้าระวังระดับคลอรีนในน้ำประปาให้อยู่ในเกณฑ์ 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร รวมทั้งการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงไม่ให้เกิดการข้ามแดนระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศไทย ล้วนเป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคอหิวาตกโรคซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลในขณะนี้