มหาจักรพรรดิทรัมป์ครองโลก

มหาจักรพรรดิทรัมป์ครองโลก

ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 และ 47 ประกาศมาตรการนโยบาย “ยุคทองของอเมริกา”  โดยเน้นนโยบายชาตินิยมและเนรเทศผู้อพยพ เก็บภาษีศุลกากร และสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตและเงินเฟ้อลดลง ขณะที่ไม่ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรรุนแรงตามที่หาเสียงไว้ในพิธีสาบานตน เพียงแต่ประกาศว่าจะจัดตั้ง External Revenue Service เพื่อจัดเก็บภาษีศุลกากร

แต่หนึ่งวันหลังเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ประกาศเตรียมจะเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา 25% พร้อมกับจีน 10% ในวันที่ 1 ก.พ. และเตรียมขึ้นภาษีสหภาพยุโรปในอนาคตอันใกล้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องคุมการลักลอบขนยาเสพติดและผู้อพยพผิดกฎหมาย รวมถึงจีนที่ผลิตสารตั้งต้นเฟนทานิล ขณะที่กล่าวหายุโรปว่าทำการค้าไม่เป็นธรรม นอกจากนั้น ยังประกาศจะคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่และเก็บภาษีนำเข้าน้ำมันในระดับสูง หากรัสเซียไม่ยอมบรรลุข้อตกลงยุติสงครามกับยูเครน

สามวันหลังจากรับตำแหน่ง ทรัมป์ ปราศรัยผ่านวิดีโอในเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่งสัญญาณกดดันหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ให้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดราคาน้ำมัน โดยอ้างว่าจะช่วยยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เงินเฟ้อลดลง และทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางอื่น ๆ สามารถลดดอกเบี้ยได้

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ที่ต้องจับตาพัฒนาการของนโยบายเศรษฐกิจทรัมป์แบบไม่ต้องหลับต้องนอนนั้น ผู้เขียนมองว่าการประกาศนโยบายพลังงานของทรัมป์ในเวทีดาวอส สะท้อนวิสัยทัศน์ที่จะใช้อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐต่อเนื่องจากยุคไบเดน

โดยเฉพาะการส่งออก LNG ไปยุโรปที่ทำให้การส่งออกสุทธิของสหรัฐเป็นบวกและผลักดัน GDP โตถึง 3% โดยเฉพาะในช่วงปี 2565 ที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มรุนแรง และรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream ทำให้พลังงานยุโรปขาดแคลน ทำให้สหรัฐส่งออก LNG ไปยุโรปเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกพลังงานสหรัฐในเดือน มิ.ย.2565 พุ่งขึ้นถึงกว่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และทำให้การส่งออกรวมสหรัฐสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.85 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนดังกล่าว

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การกดดันซาอุดีอาระเบียและ OPEC ให้เพิ่มกำลังการผลิต 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลตลาดน้ำมันโลก โดยตัวเลขล่าสุดในไตรมาสที่ 3 พบว่าความต้องการน้ำมันโลกอยู่ที่ประมาณ 104 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณการผลิตที่ 102 ล้านบาร์เรลเล็กน้อย ซึ่งหาก OPEC รวมถึงสหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างน้อย 2 ล้านบาร์เรล ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ โดยหากราคาน้ำมันลดลง 5-10 ดอลลาร์จากปัจจุบัน จะทำให้ราคาในอีก 3 เดือน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ 70-75 ดอลลาร์ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 85-90 ดอลลาร์ถึง 15-20%

ราคาที่ลดลงดังกล่าวจะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐที่จะลดลง 0.2-0.5% จาก 2.9% เหลือ 2.4-2.7% เนื่องจากปัจจุบันแรงกดดันเงินเฟ้อมาจากต้นทุน (Cost-push) โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ขณะที่เงินเฟ้อจากอุปสงค์ (Demand-pull) ทั้งค่าเช่าและค่าจ้างชะลอลงต่อเนื่อง

หากแผนนี้สำเร็จ จะเปิดทางให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของทรัมป์ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นวาระ แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการตอบสนองของซาอุดีอาระเบียและ OPEC ที่ต้องยอมทำให้ราคาน้ำมันลดลงเพื่อแลกกับความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสหรัฐหรือไม่ ซึ่งหากซาอุฯ ยอม ก็จะบ่งชี้ถึงอำนาจของทรัมป์ในเวทีโลกที่มากขึ้น

ในพิธีสาบานตน ทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐจะ “ต้องเป็นชาติที่เติบโต เพิ่มความมั่งคั่ง และขยายดินแดน” รวมถึงยกให้ วิลเลียม แมคคินลีย์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 25 นักล่าอาณานิคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้ผนวกฮาวาย กวม ฟิลิปปินส์ และเปอร์โตริโกเข้าเป็นดินแดนของสหรัฐ เป็น Role model แต่ทรัมป์ยุคใหม่มีอำนาจมากกว่าแมคคินลีย์หลายเท่า ในยุคของแมคคินลีย์ รัฐบาลกลางมีพนักงานเพียง 150,000 คน แต่วันนี้ทรัมป์บริหารคนกว่า 4.3 ล้านคน รวมทหาร 1.3 ล้านนาย พร้อมกองทัพที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากนั้น คู่แข่งในรัฐสภาอย่างพรรคเดโมแครตที่อ่อนแอลง การถอดถอนไม่อาจสกัดทรัมป์ได้อีกต่อไป เหลือเพียงศาลที่จะถ่วงดุลอำนาจ แต่ปัจจุบันศาลสูงสหรัฐมีลักษณะเป็นอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน โดยมีผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยม 6 คน ต่อฝ่ายเสรีนิยม 3 คน ส่งผลให้มีคำตัดสินสำคัญที่สะท้อนแนวคิดอนุรักษนิยม เช่น การยกเลิกสิทธิทำแท้งในระดับรัฐธรรมนูญ การจำกัดมาตรการคำนึงถึงเชื้อชาติในการรับนักศึกษา และการสนับสนุนสิทธิทางศาสนา 

โดยศาลเน้นการตีความรัฐธรรมนูญตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ดั้งเดิม ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และธรรมเนียมปฏิบัติ ขณะที่ทรัมป์ก็เตรียมท้าทายรัฐธรรมนูญด้วยคำสั่งยกเลิกสิทธิพลเมืองโดยกำเนิด และส่งทหารปราบปรามผู้อพยพ

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ทรัมป์ คือประธานาธิบดีที่ทรงอำนาจเด็ดขาดคนแรกในรอบศตวรรษ และเขาต้องการใช้อำนาจนั้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ผ่านแนวนโยบายแบบทรัมป์ (Pax Trumpiana) ที่ไม่ยึดถือในหลักการใด คาดเดาไม่ได้ และใช้การกดดันและเจรจาต่อรองแบบนักธุรกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามต้องการ เช่น การหยุดยิงและปล่อยตัวประกันในกาซา ข้อตกลงยูเครน การยึดครองกรีนแลนด์ คลองปานามา แคนาดา (จับตาคว่ำบาตรอิหร่าน)

คำถามคือ เขาจะสร้างอะไรขึ้นมาแทนระเบียบเก่า หรือ Pax Americana ที่สหรัฐแสดงบทบาทมหาอำนาจในการรักษาระเบียบโลก ผ่านการส่งเสริมการค้าเสรี ประชาธิปไตย การสร้างพันธมิตร ใช้องค์กรระหว่างประเทศ และการแทรกแซงทางทหารเมื่อจำเป็น

เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่แห่งทำเนียบขาวกำลังจะยึดครองโลก ใครจะขวางเขาได้ และเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยีในยุคต่อไปจะเป็นเช่นไร

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่